เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกรณีที่รัฐบาล กำลังดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงที่อนุญาตให้คนต่างด้าวซื้อที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ได้ ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดมากมาย แต่มีคนบางกลุ่มออกมาต่อว่า วิจารณ์รัฐบาลว่าเป็นการขายชาติ
เรื่องนี้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยบัญญัติไว้ในมาตรา ๘๖ ว่า คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินก็โดยอาศัยบทสนธิสัญญาซึ่งบัญญัติให้มีกรรมสิทธิ์ใน อสังหาริมทรัพย์ได้และอยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ด้วย
ตามบทบัญญัติดังกล่าวการให้คนต่างด้าวมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้เป็นตามสนธิสัญญา คือ พลเมืองของประเทศที่มีสนธิสัญญาต่อกันให้พลเมืองถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินในประเทศที่มีสนธิสัญญาต่อกันได้
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดินเรื่องให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยมีการบัญญัติเพิ่มไว้ในมาตรา ๙๖ ทวิ โดยมาตรา ๙๖ ทวิ บัญญัติว่า บทบัญญัติว่าด้วยคนต่างด้าว จะได้มาซึ่งที่ดินโดยอาศัยบทสนธิสัญญาตามมาตรา ๘๖ วรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับกับคนต่างด้าวซึ่งได้นําเงินมาลงทุนตามจํานวนที่กําหนดในกฎกระทรวง ซึ่งต้องไม่ตํ่ากว่าสี่สิบล้านบาท โดยให้ได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ไม่เกินหนึ่งไร่และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี
การได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าวตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง โดยในกฎกระทรวงอย่างน้อย ต้องมีสาระสําคัญ ดังต่อไปนี้
(๑) ประเภทของธุรกิจที่คนต่างด้าวลงทุน ซึ่งต้องเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ หรือ เป็นกิจการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ประกาศให้เป็นกิจการที่สามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนได้
(๒) ระยะเวลาการดํารงการลงทุนต้องไม่น้อยกว่าสามปี
(๓) บริเวณที่ดินที่อนุญาตให้คนต่างด้าวได้มา ต้องอยู่ภายในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาล หรือ อยู่ภายในบริเวณที่กําหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ รัฐบาล ที่มีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ออกกฎกระทรวง เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การได้มาของคนต่างด้าวตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๖ ทวิ และ ยังคงใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันซึ่งคนต่างด้าวก็สามารถถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้อยู่แล้ว
โดยตามกฎหมายมาตรา ๙๖ ทวิ และ กฎกระทรวงที่ออกในปี ๒๕๔๕ มีหลักเกณฑ์สำคัญ คือคนต่างด้าวต้องนำเงินมาลงทุนไม่น้อยกว่า ๔๐ ล้านบาท ก็อนุญาตให้ซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยได้ไม่เกิน ๑ ไร่ และมีเงื่อนไขอื่นๆ อีก
สรุปว่าการให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้มีมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๗ ต่อมามีการแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดินในปี ๒๕๔๒ และได้ออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่างๆ ในปี ๒๕๔๕ ปัจจุบันคนต่างด้าวจึงถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยไม่เกิน ๑ ไร่ ได้อยู่แล้วโดยรัฐบาลปัจจุบันไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเลย
รัฐบาลปัจจุบันเพียงต้องการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงปี ๒๕๔๕ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการที่จะให้คนต่างด้าวมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันเพื่อประเทศชาติจะได้ประโยชน์ให้มากที่สุดเท่านั้น แต่ก็ต้องให้เป็นไปตามที่มาตรา ๙๖ ทวิ กำหนดไว้จะผิดไปจากนี้ไม่ได้ และยังอยู่ในระหว่างดำเนินการแก้ไข โดยร่างกฎกระทรวงได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ส่งให้คณะกรรมการกฤษฏีกาพิจารณา ยังมีการปรับปรุงแก้ไขได้ ยังไม่ได้ประกาศใช้เลย
ถ้ารัฐบาลปัจจุบันเพียงแต่ต้องการจะแก้ไขกฎกระทรวงที่มีอยู่แล้วและต้องเป็นไปตามที่มาตรา ๙๖ ทวิ กำหนดไว้ ถูกประนามว่าเป็นการขายชาติ
รัฐบาลที่ประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินในปี ๒๔๙๗ รัฐบาลที่แก้ไขประมวลกฎหมายที่ดินโดยการเพิ่มมาตรา ๙๖ ทวิ ในปี ๒๕๔๒ และรัฐบาลที่ออกกฎกระทรวงในปี ๒๕๔๕ ไม่ต้องถูกประนามว่าเป็นการขายชาติยิ่งกว่ารัฐบาลปัจจุบันหรือ ?
กลุ่มคนที่ออกมาด่ารัฐบาลว่า การให้คนต่างด้าวซื้อที่ดินเป็นการขายชาติ ควรต้องศึกษาหาความรู้บ้างว่า เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร จะได้ไม่สื่อสารออกไปในทางที่ผิด บิดเบือน ใส่ร้ายคนอื่นให้ได้รับความเสียหาย
สรุปย่อๆเงื่อนไขให้ต่างด้าวซื้อที่ดิน
-เปิดให้ซื้อที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยแต่ห้ามขาย ซื้อได้แค่คนละไม่เกิน 1 ไร่ (ภายใน 5 ปีที่เปิดโครงการ) ถ้ามีการแบ่งขายหรือขายก็จะถูกระงับทันที (ตามสัญญา)
-สามารถโอนให้ลูกหลานได้ แต่ลูกหลานก็ยังห้ามขายอยู่ดี
-เงื่อนไขคือ ต้องมีเงินมาลงทุนในไทยไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท / คน และต้องลงทุนติดต่อกัน 3 ปี (ลงทุนค้างเอาไว้ไม่ต่ำกว่า 3 ปี)
กลุ่มคนที่จะซื้อได้มี 4 กลุ่มคือ
-กลุ่มที่ 1 กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งร่ำรวยสูง
-กลุ่มที่ 2 กลุ่มผู้เกษียณอายุมาจากต่างประเทศ (รวย)
-กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มผู้ที่ต้องการทำงานในประเทศไทย (รวย)
-และกลุ่มที่ 4 คือกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (ทั้ง 4 กลุ่มนี้ ต้องเอาเงินมาลงทุนในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท / คน ….
และต้องคงลงทุนค้างไว้อย่างน้อย 3 ปี จะลงทุนแค่ปีเดียวแล้วถอนก็ไม่ได้
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอีกเยอะแยะที่เป็นสัญญาก่อนจะซื้อ ไม่ใช่นายหมูนายแมวจะซื้อได้ง่ายๆนะ
“นับแต่ปี 2545 ถึงปัจจุบันมีคนต่างด้าวใช้สิทธิตามกฎกระทรวงฉบับปี 2545 ไป 11 ราย ปัจจุบันขายต่อ 1 ราย และ 1 ราย แปลงสัญชาติเป็นไทยไปแล้ว คงเหลือ 8 ราย” เป็นคำกล่าวของ นิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะเคยกำกับดูแลกรมที่ดิน
ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า รัฐบาลจะเดินหน้าต่อ หรือ กลับมาทบทวนกับกระแสต้านเปิดทางให้ต่างด้าวถือครองที่ดิน !
#นายหัวไทร #ต่างด้าวซื้อที่ดิน #นิพนธ์