“ปูติน-สีจิ้นผง” ตอบรับร่วมประชุมเอเปก ขณะ สหรัฐฯ ส่ง” กมลา แฮร์ริส”มาแทน

วลาดิมีร์ ปูติน และ สี จิ้นผิง ตอบรับคำเชิญไทยร่วมงานประชุมเอเปกซัมมิตที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. ขณะ โจ ไบเดน ที่จะเดินทางร่วมประชุม G-20 ที่อินโดนีเซีย คาดจะขอไม่ร่วมประชุมเอเปกในไทย แต่ส่งรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส มาทำหน้าที่แทน

วันที่ 12 ต.ค.2565 Wionews สื่ออินเดียรายงานว่า ผู้นำรัสเซียตอบรับคำเชิญร่วมประชุมซัมมิตเอเปก (APEC) ที่ไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. โดยแหล่งข่าวด้านความมั่นคงของไทยได้เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ไทยภาคภาษาอังกฤษ ว่า กระทรวงต่างประเทศได้แจ้งไปยังหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ให้เริ่มเตรียมพร้อมสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก (APEC) ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นวันที่ 18-19 พ.ย.

สำนักข่าวทาซ (Tass) ของรัสเซียรายงานว่า ในเรื่องนี้ประธานสภาสูงรัสเซีย วาเลนตินา มัตวิเยนโก (Valentina Matviyenko) แถลงวันพุธ 5 ต.ค.ว่า ในเรื่องรูปแบบการเข้าร่วมประชุมซัมมิตเอเปกของ ปูติน ที่อาจเข้าร่วมด้วยตนเองหรือเป็นการเข้าร่วมแบบทางวิดีโอลิงก์จะทำการตัดสินใจเมื่อเวลาใกล้เข้ามาแล้วเท่านั้น

“ทางเรามีความยินดีเป็นอย่างมากที่ได้รับการเชื้อเชิญมายังประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ในการเยือนไทยสำหรับการประชุมเอเปกครั้งถัดไปที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน การตัดสินใจถึงรูปแบบของการเข้าร่วมของประธานาธิบดีรัสเซียนั้นจะเกิดขึ้นในช่วงใกล้เวลางาน”

มัตวิเยนโก กล่าวระหว่างร่วมกับประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ชวน หลีกภัย ในการประชุมนอกรอบการประชุมซัมมิต G-20 ระดับประธานสภาที่กำลังดำเนินอยู่ในอินโดนีเซีย ทาซ กล่าวว่า ก่อนหน้ารัฐมนตรีต่างประเทศไทย ดอน ปรมัตถ์วินัย กล่าวว่าเขาคาดหวังอย่างมากว่าผู้นำรัสเซียจะยอมร่วมซัมมิตเอเปกที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้

และจากรายงานที่เปิดเผยออกมาจากสื่อสหรัฐฯ ที่ชี้ไปว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน น่าจะไม่มาร่วมการซัมมิตที่กรุงเทพฯ และมีข่าวว่ารองประธานาธิบดีสหรัฐฯ “กมลา แฮร์ริส” จะเป็นตัวแทนร่วมงานแทน

เดอะดิพโพลแมต รายงานวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมาว่า สาเหตุที่ประธานาธิบดีไบเดนไม่เดินทางเข้าร่วมการประชุมที่กรุงเทพฯ เพราะเขาติดการร่วมพิธีแต่งงานของหลานสาว โดยดิพโพลแมตชี้ว่า เป็นเหตุผลที่ประหลาดและเหมือนเป็นการตบหน้ารัฐบาลไทยที่ผู้นำสหรัฐฯ เดินทางร่วมการประชุม G-20 ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย.ที่กรุงจาร์กาตา ซึ่งไม่ห่างจากกรุงเทพฯ แต่กลับส่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ร่วมซัมมิตเอเปก ที่ให้ความสำคัญในระดับภูมิภาคที่แคบกว่าของ G-20 ที่เป็นการประชุมทั่วโลก

ดิพโพลแมตชี้ว่า แฮร์ริสไม่ใช่ตัวเลือกที่เลวร้าย เพราะแฮร์ริสซึ่งเป็นอเมริกันผิวสีที่มีเชื้อสายอินเดีย ทำหน้าที่ด้านการทูตให้ผู้นำสหรัฐฯ มาแล้วหลายครั้งทั้งที่ละตินอเมริกาและยุโรป ไบเดน นั้นขึ้นชื่อว่าเป็นคนที่ให้ความสำคัญและรักครอบครัวเป็นอย่างมาก เขาเลือกที่จะไม่ลงรับสมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แข่งกับฮิลลารี คลินตัน ปี 2016 เนื่องจากการเสียชีวิตของบุตรชาย โบ ไบเดน ด้วยโรคมะเร็งสมองและล่าสุด ไบเดนยังคงผจญปัญหากับลูกชายที่เหลือ ฮันเตอร์ ไบเดน (Hunter Biden) โดย ยาฮู นิวส์รายงานวันนี้ (12 ต.ค.) ว่า ผู้นำสหรัฐฯ ได้กล่าวปกป้องลูกชายสุดหวง ในการให้สัมภาษณ์ CNN ถึงรายงานความเป็นไปได้ที่ ฮันเตอร์ ไบเดน อาจเผชิญหน้าต่อคดีอาวุธปืนจากการให้การเท็จ

โดยหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานเมื่อวันที่ 6 ต.ค.นี้ว่า เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เชื่อว่าพวกเขาสามารถรวบรวมหลักฐานได้เพียงพอในการตั้งข้อหาฮันเตอร์ ไบเดน เกี่ยวกับคดีภาษี และการให้การเท็จเกี่ยวกับการซื้ออาวุธปืน

นอกจากนี้ สื่อดิพโพลแมตยังรายงานว่า ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ได้รับปากทางวาจากับไทยว่าจะเข้าร่วมเอเปกซัมมิตเช่นกัน และ อ้างอิงจากรัฐมนตรีต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย พบว่า มีหลายประเทศได้ตอบรับคำเชิญของไทย แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าผู้นำชาติเหล่านี้จะเดินทางเข้าร่วมหรือส่งตัวแทนมาแทน สื่ออินเดียชี้

“หน่วยงานความมั่นคงได้เฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิดต่อกลุ่มต่างๆ ที่อาจก่อความไม่สงบ แต่ยังไม่มีรายงานพบความเคลื่อนไหวน่าสงสัยปรากฏออกมาให้เห็น” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ แถลง และย้ำต่อว่าจะมีการเข้มงวดด้านความมั่นคงมากขึ้นในขณะที่เครื่องบินนำแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมการประชุม และผู้นำชาติต่างๆ เข้าสู่น่านฟ้าไทย แหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อเผยกับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เพิ่มเติมโดยอ้างว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงไทยจับตากลุ่มแบ่งแยกดินแดนภาคใต้เพื่อป้องกันไม่ให้มาป่วนการประชุมระดับนานาชาตินี้