“อลงกรณ์ พลบุตร” ส่งข้อความ ถึง “อนุทิน ชาญวีรกูล” ประเด็น พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ หัวข้อ “จากใจถึงใจ จาก”พี่จ้อน” ถึง “พี่หนู” ตอนจบ “ผิดที่2-มองผิด”
จากใจถึงใจ จากพี่จ้อนถึงพี่หนู …ตอนจบ
“ผิดที่2 –มองผิด ”
หลังจากพี่หนู อนุทิน ชาญวีรกุล ไปปราศรัยที่ขอนแก่นว่า .. ….ถูกขัดขา เพราะเขากลัวพรรคดังเกินไป เขาจึงดึงเอาไว้…” กรณีสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ.นำร่างพรบ.กัญชากลับไปทบทวนก่อนนำกลับมาเสนอวาระที่2และ3อีกครั้ง
ผมจึงเขียนเรื่อง”ไม่กลัวดังแต่กลัวดับ”เพื่อทำความเข้าใจว่า ไม่ใช่เรื่องขัดขาแต่เป็นเพราะสภาผู้แทนราษฎรจากหลายพรรคการเมืองยังกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเสพสูบกัญชาของนักเรียนนักศึกษาเยาวชนที่อนาคตจะดับหากกฎหมายไม่รัดกุมพอ
พูดง่ายๆคือ ไม่กลัวดังแต่กลัวดับ (อนาคตของชาติ)
และยืนยันว่าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคมีจุดยืนตรงกันคือ สนับสนุนกัญชาเสรีทางการแพทย์เพื่อสุขภาพเพราะเป็นสมุนไพรยาไทย จึงไม่ควรเข้าใจผิดเพื่อนๆที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ว่าไปขัดแข้งขัดขา
นี่คือข้อเขียนที่เรียกว่าเป็น “ผิดแรก”คือ”เข้าใจเพื่อนผิด”
ส่วน “ผิดที่2” คือ เรื่อง “มองผิดว่าเป็นเรื่องการเมือง”
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจว่า การที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเมื่อ 14 ก.ย.ให้ถอนร่างพรบ.กัญชาฯ.ส่งกลับไปให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ.นำไปปรับปรุงก่อนเสนอกลับมาให้สภาฯพิจารณาในวาระ 2 และ 3 อีกครั้ง
ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญญาสูญญากาศทางกฎหมายแต่อย่างใด เพราะพี่หนูพูดเองยืนยันเองในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและเป็นผู้เสนอกฎหมายฉบับนี้ด้วยคนหนึ่ง
พี่หนูยืนยันด้วยตัวเองภายหลังสภาฯ.มีมติให้ถอนร่างกฎหมายกัญชาเมื่อ 20 ก.ย.ว่า”…ทุกวันนี้ยังไม่มีอะไรที่นอกเหนือการควบคุมหรือมีปัญหาใดๆ ที่ก่อความเสียหายต่อภาพรวม
…ประกาศ สธ.ทุกฉบับที่ออกมาก็ครอบคลุมและเข้มกว่าร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ อยู่แล้ว ..”
นอกจากนี้ คุณไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังแถลงย้ำว่า”…“แม้ร่าง พ.ร.บ.กัญชา-กัญชง ยังคงต้องอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา กฎหมายที่มีอยู่ในขณะนี้ก็จะควบคุมการใช้กัญชา-กัญชง ไปจนกว่า พ.ร.บ. ฉบับสมบูรณ์จะออกมาบังคับใช้ หรือหากมีกรณีใดที่มีความจำเป็นต้องออกกฎหมายมารองรับ ก็มีคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง ที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน สามารถพิจารณาออกประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ มาดูแลเพื่อให้เกิดความเหมาะสมเพิ่มเติมได้
สาธารณชน และคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ.คงจะสบายใจได้แล้วนะครับ ไม่เชื่อพี่หนูแล้วจะเชื่อใคร
การที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้นำร่างกฎหมายกัญชากลับไปทบทวนเป็นปัญหาการบริหารจัดการ ไม่ใช่เรื่องการเมือง
บางครั้งความรีบร้อนเร่งรัดกลับเป็นสาเหตุของความล่าช้าเพราะขาดความรอบคอบเหมือนขับรถเร็วแหกโค้งทั้งที่รู้ว่าเป็นโค้งอันตราย
ขนาดสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบร่างกฎหมายนี้ในวาระที่ 1 ด้วยเสียงข้างมากเด็ดขาด ซึ่งปกติการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2 และ 3 เกือบร้อยทั้งร้อยฉบับจะให้ความเห็นชอบแต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น แล้วจะโทษใครกัน
ขอเพิ่มเติมข้อสังเกตส่วนตัวในฐานะเคยเป็นอดีต ส.ส. เคยเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายหลายฉบับและเคยอยู่ในคณะรัฐมนตรีที่เป็นผู้เสนอกฎหมายว่า การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ.ไปเขียนเพิ่มเติมบทบัญญัติของร่างกฎหมายกัญชาที่รับหลักการวาระที่ 1 จาก 45 มาตราแล้วไปแปรญัตติเพิ่มเป็น 96 มาตรานั้น ในทางกระบวนการนิติบัญญัติย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะถูกทักท้วงอย่างรุนแรงหรือไม่ยอมรับจากสภาผู้แทนราษฎร
ดังนั้น อย่าชี้นิ้วไปโทษคนอื่น มิฉะนั้นจะมองไม่เห็นปัญหาในสาระสำคัญที่ทำให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ถอนร่างกลับไปทบทวนใหม่
ควรนำเหตุผล ข้อเท็จจริงและข้อสังเกตในสภาผู้แทนราษฎร สื่อมวลชนและฝ่ายต่างๆไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไข เช่นทำอย่างไรจะแก้โจทย์ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมองว่า ร่างพรบ.ที่คณะกรรมาธิการฯ.เสนอมานั้นไปส่งเสริมการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการเพราะไม่มีบทบัญญัติใดที่จะควบคุมให้มั่นใจว่าเด็กเยาวชนลูกหลานของเราจะไม่นำมาใช้เสพสูบกัญชาจนเสียอนาคตและส่งผลเสียต่อครอบครัว ชุมชน และสังคมในวงกว้าง เพราะบทบัญญัติห้ามบริโภคและห้ามขายคนอายุต่ำกว่า20ปียังไม่ตอบโจทย์เพียงพอ
ยกตัวอย่างชัดๆกรณีหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแถลงคัดค้านชี้ประเด็นปัญหาว่า”…. ปรากฏว่าในชั้น กมธ.มีการปรับแก้อย่างมาก ซึ่งไม่ตอบโจทย์ว่าจะควบคุมเรื่องที่หลายฝ่ายเป็นห่วงได้อย่างไร โดยเฉพาะการนำกัญชามาใช้ทางสันทนาการ พรรค พท.จึงมีมติว่าจะไม่ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ในวาระ 2-3 ..”
รวมทั้งข้อมูลรายงานและความเห็นจากฝ่ายต่างๆ เช่น นพ.ล่ำซำ ลักขณาภิชนชัช รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและการแพทย์ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจล่าสุดพบว่า ผู้ป่วยที่เข้ามารับการบำบัดมากที่สุดคือ ผู้ป่วยที่ใช้กัญชาและมีอาการทางจิตรุนแรง เพราะผู้ที่สูบกัญชา กว่าจะแสดงอาการรุนแรงใช้ระยะเวลานานกว่ายาบ้าหรือไอซ์ จึงเข้าสู่กระบวนการบำบัดช้ากว่าที่ควรจะเป็น จะเป็นอาการหลอน หูแว่ว หลงผิด หวาดระแวง และทำร้ายผู้อื่น ข้อมูลปี 2563 มีผู้ป่วยจิตเวชจากกัญชาเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 และข้อมูลปี 2564 จนถึงปัจจุบันเพิ่มเป็นร้อยละ 28 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กัญชาเป็นสารเสพติดที่ต้องเฝ้าระวัง อนาคตจะก่อความรุนแรงในสังคม ปัจจุบันพบว่ากัญชาหาซื้อได้ตามแหล่งโซเชียล
รายงานจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ เรื่องผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กจากการใช้กัญชา แบ่งเป็นผลกระทบระยะสั้น สำหรับผลในระยะยาวหากมีการใช้ต่อเนื่องยาวนานหรือใช้ในปริมาณมาก การศึกษาต่างประเทศพบว่าส่งผลต่อไอคิวเด็กลดลงถึง 6 จุด หรือเรียกง่าย ๆ ว่า สมองพัง โง่ลง และยังมีผลกระทบระยะยาวว่า เด็กไม่ไปเรียน ออกจากโรงเรียน เรียนไม่จบ ไม่มีงานทำ มีปัญหาทางพฤติกรรม
World Drug Report 2022 ของ UNODC ปี 2565(ค.ศ.2022)พบว่า ประเทศที่มีนโยบายหรือกฎหมายอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ จะส่งผลเสียต่อระบบบริการสาธารณสุข ความปลอดภัยของประชาชน หลักนิติธรรม คดีอาชญากรรม อุบัติเหตุ การค้ากัญชาผิดกฎหมาย โดยเฉพาะผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน
ศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยแสดงความวิตกกังวลต่อเรื่องร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวว่าจะเกิดผลกระทบต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน อีกทั้ง ในช่วงที่ผ่านมาภายหลังมีการประกาศปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดแล้ว มีสถานการณ์ที่มีผลกระทบจากผู้เสพยาเสพติด จนกระทั่งป่วยถึงจิตเวชได้ทำร้ายพี่น้องประชาชนในหลายพื้นที่ ทำให้พ่อแม่ ครู อาจารย์หรือองค์การศึกษาต่าง ๆ มีความวิตกกังวล
สรุปสั้นๆคือเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.มีความหละหลวม อาจเกิดการเสพกัญชา เพื่อนันทนาการมากกว่าทางการแพทย์เป็ยภัยต่อเยาวชน ครอบครัวและสังคม
อย่าเข้าใจผิดเพื่อนและมองผิดคิดว่าเป็นเรื่องการเมืองจนหลงประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของปัญหาในตัวร่างกฎหมายกัญชา เร่งปรับปรุงใหม่แล้วรีบเสนอกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎร
ก็หวังว่า พี่หนูจะเข้าใจเจตนาที่เขียนมาถึงด้วยความห่วงใยนะครับ !
พี่จ้อน อลงกรณ์ พลบุตร