“อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน เปิดการประชุมสัมมนาทางวิชาการพัฒนาระบบผ่าตัดวันเดียวกลับ และ ผ่าตัดแผลเล็ก พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ
วันที่ 18 สิงหาคม ที่โรมแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมการสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านการพัฒนาระบบการให้บริการการผ่าตัดวันเดียวกลับ (ODS) และการผ่าตัดแผลเล็ก (MIS) ปี 2565 พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ 16 รางวัล ให้แก่บุคคล กองทุน และโรงพยาบาลในการขับเคลื่อนและให้บริการ ODS&MIS
นายอนุทิน กล่าวว่า ระบบบริการผ่าตัดวันเดียวกลับ (One Day Surgery :ODS) และ การผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีทันสมัยแผลเล็ก (Minimal Invasive Surgery :MIS) แสดงถึงระบบสาธารณสุขไทยที่พัฒนาขึ้นมาก และตอบรับกับนโยบาย 3 หมอของตน คือ มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในการดูแลวินิจฉัยโรคต่างๆ หากต้องผ่าตัดด้วย ODS หรือ MIS ก็จะได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาล (รพ.) เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วก็กลับมาพักฟื้นที่บ้าน มีการดูแลติดตามโดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งมีการพัฒนาศักยภาพ อสม.เป็นผู้ช่วยพยาบาลปีละ 3,000 คน
การผ่าตัดวันเดียวกลับและผ่าตัดแผลเล็ก ช่วยลดการนอน รพ. ทำให้ลดความแออัด ลดค่าใช้จ่ายลงอย่างมหาศาล เพราะปกติผู้ป่วย 1 คน มีญาติมาดูแลหลายคน ก็ต้องขาดงาน หากออกจาก รพ.ได้เร็วกลับไปทำงานได้เร็วก็ลดการสูญเสียค่าใช้จ่ายตรงนี้ ขณะนี้บริการ ODS&MIS ครอบคลุมประมาณ 65 อาการ/โรค ซึ่งบรรจุอยู่ในสิทธิประโยชน์ของทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ คือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เริ่มดำเนินการ ODS ประมาณปี 2561 และ MIS เริ่มขึ้นในปี 2562 เช่น การใช้ท่อกล้องส่องเข้าไปผ่าตัด ไม่ต้องเปิดแผลใหญ่ ขณะนี้มีประมาณ 65 โรค ทำได้ทุกจังหวัดแล้ว โดยการดำเนินงาน ODS&MIS จะเริ่มในระดับ รพ.ชุมชน ขนาด M1 และ M2 ไปจนถึง รพ.ศูนย์ ส่วนการพิจารณาว่ากลุ่มโรคหรืออาการใดที่จะใช้การผ่าตัดวันเดียวกลับหรือผ่าตัดแผลเล็ก ขึ้นกับการพิจารณาของราชวิทยาลัยแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ มาหารือกันว่ามีอะไรที่สามารถทำได้ สำหรับบริการ ODS&MIS ช่วยลดการใช้เตียง ลดภาระบุคลากร และช่วยลดค่าใช้จ่าย ซึ่งมีการประมาณว่าอยู่ที่ 2 หมื่นกว่าบาทต่อคน โดยปี 2565 มีการผ่าตัด ODS&MIS ไปแล้ว 1.6 หมื่นราย ก็ถือว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มหาศาล
พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษสายงานบริหารกองทุน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้มี 65 โรค ที่อยู่ในสิทธิประโยชน์ ODS&MIS ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเหมาะกับการรักษาแบบนี้หรือไม่ ส่วนใหญ่จะไม่มีโรคแทรกซ้อนหรือไม่มีโรคประจำตัวมาก หรือควบคุมโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน ความดันได้ ส่วนการพิจารณาเพิ่มบริการใดเข้ามาอีกนั้น ทางคณะทำงาน ODS&MIS จะกำหนดโรคเข้ามาในระบบ โดยราชวิทยาลัยแพทย์ทั้งหมด ทั้งศัลยแพทย์ ออร์โธปิดิกส์ โสต ศอ นาสิก เป็นต้น จะดูว่าบริการต่างๆ ที่มีเทคโนโลยีใหม่ มีความปลอดภัยเข้ามาร่วมโครงการ ก็จะเสนอคณะทำงาน ODS&MIS สปสช.จะพิจารณา ซึ่งมีงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล 20 ล้านบาทต่อปี หากเพียงพอก็จะเสนอบอร์ด สปสช.อนุมัติเพิ่มรายการ
พญ.กฤติยา กล่าวอีกว่า วันนี้มีการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารกองทุน เกี่ยวกับ ODS&MIS ปี 2566 เช่น การรักษาด้วยหุ่นยนต์ การผ่าตัดส่องกล้องรักษาโรคข้อไหล่ ซึ่งเดิมผู้หญิงมักมีปัญหาปวดไหล่ เอ็นไหล่ฉีก เดิมต้องผ่าตัดแบบเปิดใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ ตอนนี้ราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์เสนอเรื่องนี้เข้ามาผ่าตัดผ่านกล้อง ก็จะลดเวลานอนรักษาเหลือ 2-3 วัน เดิมค่าใช้จ่าย 4-5 หมื่นบาท หากเห็นสมควรอยู่ในสิทธิประโยชน์ ซึ่งคิดว่าไม่น่ามีปัญหากับงบประมาณที่มีอยู่
นอกจากนี้ ราชวิทยาลัยสูตินรีเวชฯ เสนอเรื่องการผ่าตัดมะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก ซึ่งเดิมต้องผ่าตัดแบบเปิด ก็จะใช้กล้องเข้าไปส่องผ่าตัดยกทั้งหมด ปกติต้องนอน รพ. 1-2 สัปดาห์ หากใช้ผ่าตัด MIS ก็คาดว่าพักฟื้น 3 วัน หากไม่มีอาการแทรกซ้อน ค่าใช้จ่ายเดิมสูงมาก ขณะนี้อยู่ที่ 4 หมื่นกว่าบาท ซึ่งหากผ่านการพิจารณาวันนี้ก็บรรจุได้เลย ไม่ต้องผ่านบอร์ด สปสช.แล้ว จะทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายในการรักษา