ย้อนอดีตกับดร.สุรินทร์ พิสุวรรณ บนแผ่นดินอลอสตาร์ ‘ต้นแบบปอเนาะ’แบบไหนดี

“ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กลายเป็นโมเดล ที่มาเลเซีย นำไปสร้างกระแสเพื่อให้คนมาเลย์ในรัฐทางตอนเหนือ ได้เห็นว่า เด็กปอเนาะ สามารถเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ตามแผนการพัฒนาเยาวชนปอเนาะของรัฐบาล

ช่วงเวลาระหว่างวันที่ 23-24 เมษายนที่ผ่านมา(2557 ก่อนการรัฐประหารโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  1 เดือน) ผู้เขียนได้รับเชิญไปกับคณะของดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน เดินทางไปอลอสตาร์ รัฐเคดาห์ ของมาเลเซีย ในงานสัมมนา “PUNDOK MALAYSIA 2014” เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลมาเลเซียหันมาให้ความสนใจการพัฒนาบุคลากรในปอเนาะซึ่ง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็น 1 ในองค์ปาฐก ในงานด้วยคนหนึ่งดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เติบโตในปอเนาะบ้านตาล จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียนจบระดับปริญญาเอก เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและเป็นเลขาธิการอาเซียน จึงกลายเป็นตัวเลือกสำคัญที่ทางมาเลย์ต้องการนำมาเป็นตัวอย่างของการพัฒนาปอเนาะ ดร.สุรินทร์เล่าให้คณะฟังว่า นายกฯ นายิ๊บ ราซัก ต้องการให้ ดร.สุรินทร์ มางานนี้ให้ได้ มอบหมายให้ ดาโต๊ะ มาชีเตาะอิบรอฮีม ประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาปอเนาะแห่งมาเลเซีย เป็นคนเชิญ ดร.สุรินทร์ ไม่เชิญในนามรัฐบาลเพราะ ดร.สุรินทร์เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งดาโต๊ะมาชิเตาะ ได้เดินทางมาที่ปอเนาะบ้านตาลเมื่อ 2 เดือนก่อน เพื่อมาศึกษาการเรียนการสอนด้วยตนเอง

ดร.มาชิเตาะนั้น อดีตเคยเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จบการศึกษาจากอียิปต์ เป็นคนเก่งทีเดียว มีภูมิความรู้และทำงาน คล่องแคล่วทีเดียว การพูดจาบนเวทีของเธอฉะฉาน แทบไร้ข้อผิดพลาด มีเนื้อหาตรงประเด็นและถ้อยคำกินทีเดียว คณะที่ติดตาม ดร.สุรินทร์ ไปอลอสตาร์ (อ่านว่า อะ-ลอ-สะ-ตา) คราวนี้ มีผู้เขียน คุณโยธิน ย๊ะโก๊บ ผู้จัดรายการวิทยุมุสลิมชื่อดัง คุณปรัชญา ฉิมวิเศษ ผู้จัดการสถาบันมาตรฐานฮาลาล ทีมงานของยาตีมทีวี น้องๆจากนิตยสาร Halallife และ Familylife รวม 9 ชีวิต

คณะออกจากสนามบินดอนเมืองด้วยสายการบินนกแอร์ ตั้งแต่ไก่โห่ 6 โมงเช้า ถึงสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ 7 โมงกว่า จากนั้นจึงเดินทางไปยังด่านจังโหลน หรือด่านนอกเพื่อข้ามแดนไปยังอลอสตาร์ที่อยู่ห่างจากชายแดนไทยประมาณ 60-70 กิโลเมตรในการเดินทางข้ามแดนไปมาเลเซียได้รับความอนุเคราะห์จาก คุณอนุมัติ อาหมัด ส.ว.
สงขลา หมาดๆ ที่ส่งรถมาบริการ 2 คัน พร้อมคนขับรถ และอำนวยความสะดวกในหลายเรื่อง รวมทั้งจ่ายค่าอาหารของคณะในบางมื้อ ทริปนี้จึงมีเรื่องแปลกๆ คือ มีคนขับรถ (คนของคุณอนุมัติ) จ่ายค่าอาหาร

คุณอนุมัติ อาหมัด เป็นคนสะเดาโดยกำเนิด เป็นคนสะเดาคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งในระดับชาติ และเป็นมุสลิมปาทานคนแรกที่ได้เป็น ส.ว. โดยได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนมากที่สุดของภาคใต้ทีเดียว เป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการกลางแห่งประเทศไทย (กอท.) นับเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการประสานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียมากทีเดียว นับเป็นบุคคลคุณภาพของสังคมมุสลิมอีกคนหนึ่ง ซึ่งจะมีบทบาทโดดเด่นจากนี้ไปก่อนข้ามด่านจังโหลนคณะได้รับความเอื้อเฟื้อจากนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสำนักขาม เลี้ยงน้ำชาตอนเช้า และอำนวยความสะดวกในการข้ามแดน มาเลเซียทางตอนเหนือ เคดาห์ กลันตัน ตรังกานู มีความเป็นมาเลย์สูง มีฐานะยากจนกว่าคนในรัฐทางตอนใต้ และอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคฝ่ายค้านมายาวนานทีเดียว

คณะต้องเดินทางไปยังสถานที่สัมมนาในเวลา 11.00 น. หรือ 10.00 น. ของประเทศไทย เพื่อให้ทันการปาฐกถาของบุตรชาย ของ ดร.มหาเดย์ มูฮัมหมัด ซึ่งเป็นมุขมนตรีของรัฐเคดาห์ การปกครองของมาเลเซียมีการกระจายอำนาจมากกว่าประเทศไทย ให้การยอมรับอำนาจของท้องถิ่นมาก ในระดับท้องถิ่นมีมุขมนตรี ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เป็นผู้บริหารสูงสุด ถ้าเปรียบเทียบกับเมืองไทย ก็เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดควบกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทีเดียว

ขณะเดียวกัน ประมุขของรัฐ หรือราชาธิบดี ที่สืบทอดมายาวนานก็ยังดำรงตำแหน่งอยู่และหมุนเวียนกันเป็นประมุขของประเทศ แตกต่างจากประเทศไทยที่ได้ยกเลิกตำแหน่งประมุขที่เคยมีในภาคเหนือและภาคใต้ จนนำไปสู่ปัญหาหลายประการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

คณะของเราไปถึงทันเวลาพอดี เป็นช่วงเวลาที่ ดาโต๊ะมาชิเตาะกำลังกล่าวรายงานจากนั้น เป็นการปาฐกถาของมุขมนตรีของเคดาห์ คำพูดของลูกชายดร.มหาเธร์ จับใจทีเดียว ฉายให้เห็นความสำคัญของชาติพันธุ์มลายู ความสำคัญของสถาบันปอเนาะที่ดำรงอยู่มายาวนานนับพันปี โต๊ะครูในอดีตมีความรู้ความสามารถ สามารถเขียนตำราอิสลามเป็นภาษาอาหรับ ภาษามลายู เป็นสถาบันที่ได้สร้างบรรดาอูลามะห์มายาวนานจวบจนปัจจุบัน และยังได้แสดงความเป็นห่างว่า การพัฒนาปอเนาะหากมุ่งเน้นสายสามัญมากจนเกินไป อาจจะเป็นการทำลายอัตลักษณ์เดิม และเป็นการทำลายกระบวนการสร้างอูลามะห์ ได้เสนอให้มีการพัฒนาอย่างผสมผสานระหว่างของเดิมกับการเสริมความรู้ด้านอื่นเข้าไป

จบแล้วจึงพักรับประทานอาหาร ซึ่ง ดร. สุรินทร์ถูกกำหนดให้นั่งโต๊ะเดียวกับมุขมนตรีแห่งเคดาห์ การเจอกับบุคคลสำคัญ เวลาบนโต๊ะอาหาร หรือเวลาเพียง 2-3 นาทีนับว่าสำคัญมากในทางการทูต ดร.สุรินทร์จะหาจังหวะเวลาเหล่านี้ ในการพูดคุยนำเสนอข้อมูลต่อสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะการพบกับนายกฯ นายิ๊บ

ในวันถัดมา ดร.สุรินทร์มีคิวขึ้นพูดในวันต่อมาเวลาในช่วงบ่ายของพวกเราจึงถูกใช้ไปกับการเยี่ยมชมเมืองอลอสตาร์ ที่กำลังมีตึกใหญ่ๆ เกิดขึ้นพอสมควร ทุ่งนาหลายแห่งกลายเป็นตึก ในขณะที่บ้านเรือนเก่าๆ ยังคงสภาพเดิมรวมทั้งการคงตึกและสถานที่สำคัญของเมืองไว้เป็นแลนด์มาร์ก ซึ่งเป็นจุดเด่นของเมืองในมาเลเซีย ที่มีการรักษาอาคารรวมถึงวังเก่าๆ เอาไว้ ส่วนตึกใหม่ๆ ก็จะถูกกำหนดให้สร้างอีกพื้นที่หนึ่ง ที่สำคัญต้นไม้ขนาดใหญ่ได้รับการรักษาดูแลเป็นอย่างดี หลายต้นมีขนาดใหญ่หลายคนโอบทีเดียวในตอนกลางคืน ดร.สุรินทร์ต้องให้สัมภาษณ์ทีวีของอินโดนีเชีย และหนังสือพิมพ์นิวสเตรทไทม์ของมาเลเซีย ใช้เวลานาน 2 ชั่วโมง การเป็นคนสำคัญหาความเป็นตัวของตัวเองได้ยากอย่างนี้หละ ผู้สื่อข่าวอย่างผมก็ต้องเกาะติดสถานการณ์เพื่อเก็บข้อมูลอยู่ไม่ห่างเช่นกัน

คณะมีแผนการที่จะไปหาน้ำชาดื่มและชมเมืองในยามค่ำคืน แต่คนที่มีประสบการณ์บอกว่า ในเมืองตอนกลางไม่มีอะไรน่าสนใจ แผนก็เลยถูกล้มเลิกไป

เช้าอีกวันลงมาจากห้องพัก ตะลึงกับลุกใหม่ดร.สุรินทร์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จากอดีตเลขาธิการอาเซียนกลายเป็นโต๊ะครูเต็มตัวเลยทีเดียวดูภาพเอาก็แล้วกัน ดร.สุรินทร์เล่าว่า ดาโต๊ะมาชิโต๊ะได้ล้อบบี้ให้ใส่ชุดปอเนาะต้องฝึกพันซอรบั่นอยู่นานทีเดียว ดร.สุรินทร์ ขึ้นเวทีพร้อมกับเจ้าของปอเนาะจากอินโดนีเชีย ที่มีนักเรียนปอเนาะ มากกว่า 2,000 คน ส่วนอีกคนอยู่อ๊อกฟอร์ด เป็นคนหนุ่มที่มีลีลาการพูดที่ดุดันสนุกสนาน ลีลาไม่ต้องพูดถึง เขาได่้
ซึ่งได้นำเสนอแนวทาวการพัฒนาปอเนาะให้เป็นโมเดิร์นปอเนาะ ทั้งรูปลักษณ์และวิชาการ

ขณะที่ ดร.สุรินทร์นำเสนอโมเดลของอ๊อกฟอร์ดที่ได้เปรียบเหมือนปอเนาะ ที่มีการเรียนการสอนของศาสนาคริสต์นิกายต่างๆ และพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา ซึ่งปอเนาะจะต้องพัฒนาคุณภาพของบุคลากรให้รองรับการแข่งขันให้ได้ มุ่งเน้นการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีให้มากขึ้น และนำเสนอแนวทาง 2 สายธารคือ การเรียนรู้ด้านศาสนาและด้านสามัญให้โดดเด่นไม่แพ้กัน จะทำให้ปอเนาะสามารถพัฒนาบุคคลากรเข้าสู่การแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพ แนวทางการพัฒนาปอเนาะที่ถูกเสนอจากดร.สุรินทร์ และอีก 2 ท่านได้รับการขานรับ จากดาโต๊ะ มาชิเตาะ และนายกฯ นายิ๊บ ราซักของมาเลเซีย ที่เดินทางมาปิดการสัมมนา ปอเนาะมาเลเซีย 2014 โดยจะเพิ่มการเรียนการสอนด้านคณิตสาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนยี นายกฯ นายิ๊บ ได้แจกทุนการศึกษานักเรียนปอเนาะให้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยจำนวน 100 ทุนและให้การสนับสนุนด้านการเงินและความสะดวกต่างๆ ในการพัฒนาปอเนาะ โดยให้มูลนิลนิธิเพื่อการพัฒนาปอเนาะแห่งมาเลเซีย เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินการ

สิ่งที่ ดาโต๊ะ มาชิเตาะ และนายกฯ นายิ๊บ ยกตัวอย่างหลายครั้งบนเวที คือ ความสำเร็จของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่เป็นเด้กปอเนาะ ลูกหลานปอเนาะที่ประสบความสำเร็จในการเรียน และในการทำงาน จบปริญญาเอกจากฮาร์วาร์ด และเป็นเลขาธิการอาเซียน เป็นปลุกกระแสให้เยาวชนให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อเติบโตไปอย่างมีคุณภาพ แม้จะไม่สำเร็จทั้งหมด แต่สำเร็จซักส่วนหนึ่ง ก็ถือว่า ประสบความสำเร็จแล้ว

ดร.สุรินทร์มาเล่าให้ฟังภายหลังว่า 3 รัฐทางตอนเหนือของมาเลย์ที่อยู่ติดกับประเทศไทยเคดาห์ กลันตัน ตรังกานู เป็นรัฐที่คนมุสลิมมีแบบแผนตามจารีตเดิมหรืออนุรักษ์นิยมสูงแตกต่างจากคนทางตอนใต้ที่ได้ปรับตัวไปสู่ความทันสมัย จนคนทางเหนือบอกว่า ก้าวเร็วจนเกินไป ปัญหาของคนใน 3 รัฐคือ คนนิยมเรียนปอเนาะและจบออกไปไม่มีงานทำ การเร่งพัฒนาปอเนาะ จึงเป็นการแก้ปัญหาสังคมและปัญหาการเมืองของมาเลย์ด้วย เพราะรัฐทางตอนเหนือคนยังมีฐานะไม่ดีเมื่อเทียบกับคนทางตอนใต้ และอยู่ในอิทธิพลของพรรคฝ่ายค้าน การเดินทางไปเคดาห์ ดร.สุรินทร์ในคราวนี้ จึงได้เรียนรู้เพื่อนบ้านได้อย่างลึกซึ้งทีเดียว

ข้อมูล จากนิตยสาร Mtoday
ประจำเดือนพฤษภาคม 2557
โดย อัลดลฆอนี (สมพร หลงจิ)