รมช.มหาดไทย สั่งการ ปภ.-ผู้ว่าฯ-องค์กรปกครองท้องถิ่น รับมือพายุ’มู่หลาน’ กำชับเตรียมพร้อมคน-เครื่องมืออุปกรณ์เข้าช่วยเหลือประชาชนทันที ย้ำอพยพปชช.ได้ทันทีหากรุนแรง
วันที่ 11 ส.ค.2565 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและ พิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับ กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 6 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2565 แจ้งว่า พายุโซนร้อน “มู่หลาน” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 500 กิโลเมตร ทางตะวันออกของเมืองฮานอย ประเทศเวียดนามตอนบน มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ และเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในวันที่ 11 ส.ค. 2565
ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบน ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
นายนิพนธ์ กล่าวว่า การเตรียมการรับมือสถานการณ์พายุ “มู่หลาน” นั้น ได้สั่งการไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยของกรม ปภ. ที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง ในการช่วยเหลือประชาชนหากได้รับผลกระทบจากพายุ พร้อมทั้งกำชับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร ประสานการปฏิบัติงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ในทุกพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายจากพายุ ให้อยู่ในพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนได้ทันเหตุการณ์หากเกิดความรุนแรงจากผลกระทบ
อย่างไรก็ตามการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ก็ได้มีการแจ้งเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้การสื่อสารทุกรูปแบบ ทั้งหอกระจายข่าวหมู่บ้าน การแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชัน ดังนั้น ยืนยันว่าทุกฝ่ายได้เตรียมความพร้อมเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนในส่วนนี้ทันทีเมื่อเกิดเหตุ ส่วนประชาชนขอให้ติดตามข่าวสารสถานการณ์พายุอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประชาชนที่ปลูกบ้านเรือนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ราบเชิงเขา อาจได้รับผลกระทบจากสภาวะดินสไลด์ กระแสน้ำป่าไหลหลาก ส่วนที่ลุ่มต่ำ ก็ต้องเฝ้าระวังเตรียมการอพยพให้พร้อม ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ต้องเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้หากสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรง ให้สั่งอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยหรือศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้โดยทันที