ศาลภาษีอากรกลางพิพากษา ให้กรมสรรพากร เพิกถอนการประเมินภาษี “โอ๊ค-เอม” ตาม ภ.ง.ด.12 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยที่ 2-4 กรณี “ทักษิณ” โอนหุ้นชินคอร์ป 1.7 หมื่นล้าน ชี้ ออกหมายเรียกไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง (อม.) เคยพิพากษาคดีซุกหุ้นชินคอร์ป ว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นเจ้าของหุ้นและโอนหุ้นโดยไม่เสียภาษี ต่อมาช่วงปี 2549 ถึง 2552 สรรพากรได้ประเมินภาษีโอนหุ้นชินคอร์ป กับ โอ๊ค พานทองแท้ กับ เอม พินทองทา ชินวัตร บุตรชาย และบุตรสาว ทำนองว่า เป็นตัวแทนของทักษิณ จึงต้องเก็บภาษีจากคนทั้งสองแต่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่า การประเมินเก็บภาษีไม่ชอบ เพราะศาลฎีกานักการเมือง ชี้ขาดไปแล้วว่า หุ้นเป็นของทักษิณ ต้องประเมินให้ถูกตัว ไม่ใช่ประเมินเอากับตัวแทน หรือคนที่ไม่ใช่เจ้าของหุ้น และการประเมินภาษีต้องกระทำกับตัวผู้มีภาระโดยตรงคือต้องถูกคน ถูกเวลาตามกรอบของกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลภาษีอากรกลาง ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลได้อ่านคำพิพากษาคดี หมายเลขดำ ภ.220/2563 ที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทน เป็นโจทก์ ฟ้องกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง , นายพงษ์ศักดิ์ เมธาพิพัฒน์ , นายประภาส สนั่นศิลป์ และนายพิสิทธิ์ ศรีวรานันท์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมิน กรมสรรพกร ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 เรื่องขอศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประเมินภาษีของนายทักษิณ โจทก์ และเพิกถอนคำสั่งอุทธรณ์ที่ให้นายทักษิณจ่ายค่าภาษีการโอนหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้นชินคอร์ปฯ รวม 1.7 หมื่นล้านบาท เพื่อไม่ต้องมีภาระภาษี
ในชั้นสืบพยาน ฝ่ายโจทก์- จำเลย อ้างข้อเท็จจริงนำสืบหักล้างกันทำนองว่า หลังจากศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาว่านายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรของนายทักษิณ ไม่มีภาระภาษีต้องเสียภาษี เพราะไม่ใช่เจ้าของหุ้น และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (อม.) มีคำพิพากษาว่า หุ้นชินคอร์ปฯ เป็นของนายทักษิณ จึงพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินหุ้น โดยที่สำนักงานอัยการสูงสุดไม่อุทธรณ์คดี ต่อมารัฐบาลได้ให้กรมสรรพกร ประเมินภาษีใหม่ช่วงปี 2551- 53 ซึ่งโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะการประเมินภาษีให้โจทก์ต้องจ่ายเงินจำนวน 1.7 หมื่นล้านบาทนั้น ไม่ถูกต้อง และหากจะให้โจทก์ชำระก็ต้องกระทำภายในระยะเวลา 5 ปี
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ถือเอาการออกหมายเรียกนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ในฐานะตัวแทนเชิด ของนายทักษิณเป็นการออกหมายเรียกโจทก์ตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากรในฐานะตัวการ ไปแล้ว จึงเห็นว่าการออกหมายเรียกเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการประเมินภาษีต้องออกหมายเรียกไปยังตัวโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถูกประเมินโดยตรง แต่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมิน จำเลยมิได้ออกหมายเรียกตรวจสอบโจทก์ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับนิติกรรมที่ทำขึ้นภายหลังจากนั้นก็ไม่ก่อให้เกิดการโอนกรรมสิทธ์ในหุ้นของบริษัทชินคอร์ป ฯแต่อย่างใด เพราะนายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ไม่ใช่เจ้าของหุ้นที่แท้จริง
โดยตามข้อกฎหมายมาตรา19 จึงยังต้องถือว่านายทักษิณโจทก์ เป็นเจ้าของหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯดังกล่าวอยู่ ที่พวกจำเลยให้โจทก์เสียภาษี อย่างผู้มีรายได้พึงประเมินนั้น โจทก์จึงมิใช่ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 และมิใช่ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร อีกด้วย ดังนั้นจึงมีผลทำให้การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2-4 ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่วินิจฉัยยืนตามการประเมิน จึง “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เช่นเดียวกัน กับที่ออกหมายเรียกผิดคนตามมาตรา19
ส่วนปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานประเมิน ทำการประเมินและยกอุทธรณ์ในชั้นสรรพกรนั้นเห็นว่า เจ้าพนักงานประเมินและจำเลยที่ 2-4 กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ศาลภาษีอากรกลาง จึงพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.12) และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2-4 ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับคดีนี้เกี่ยวเนื่องจากกรณี ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง(อม.)มีคำพิพากษาคดีซุกหุ้นชินคอร์ป ฯ ว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าของหุ้นและโอนหุ้นชินคอร์ป ฯ โดยไม่เสียภาษี ต่อมาช่วงปี 2549 – 2552 กรมสรรพกรได้ประเมินภาษีโอนหุ้นชินคอร์ปฯกับนาย พานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ทำนองว่า เป็นตัวแทนของนายทักษิณ จึงต้องเรียกเก็บภาษีจากบุตรทั้งสอง
อย่างไรก็ตามศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่า การประเมินเพื่อเรียกเก็บภาษีไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะศาลฎีกานักการเมือง (อม.) ชี้ขาดไปแล้วว่า หุ้นชินคอร์ป เป็นของนายทักษิณ จึงต้องประเมินภาษีกับบุคคลผู้ถือหุ้นจริงไม่ใช่ประเมินเอากับตัวแทน หรือคนที่ไม่ใช่เจ้าของหุ้น และการประเมินภาษีต้องกระทำกับผู้มีภาระโดยตรง.