“วิษณุ”เอาใจช่วย! 2วัน ชี้ขะตา สภาฯผ่านกม.ลูกให้ได้ เผยหากไม่ทัน ต้องใช้ร่างรบ.

“วิษณุ เครืองาม” เอาใจช่วย! 2 วัน ชี้ขะตา สภาฯ ผ่านกม.ลูก เผยหากพิจารณาไม่ทัน ต้องหวนกลับใช้ร่างรัฐบาล ไม่ใช่ของ ก.กต. ลั่นใครเห็นแย้ง สามารถยื่นศาล รธน.วินิจฉัยได้

วันที่ 4 ส.ค.2565 เวลา 09.10 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่ประชุมสภาร่วมล่ม จนถูกตั้งข้อสังเกตว่าจะทำให้การพิจารณากฎหมายลูก ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ออกมาไม่ทันภายในวันที่ 15 ส.ค. ที่จะครบกำหนดเวลา 180 วัน หรือไม่ ว่า ไม่ทราบ แต่โดยหลักต้องให้ทัน โดยรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี มีการกำหนดไว้ว่า ส.ส. จะต้องพิจารณาให้เสร็จภายในกรอบเวลาเท่าไหร่ ถ้าไม่เสร็จ ต้องใช้ตามร่างต้นฉบับที่รัฐบาลเสนอ เช่นเดียวกับ พ.ร.ป. ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหลาย ไม่ใช่เฉพาะ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ขึ้นชื่อว่าเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 180 วัน ถ้าไม่เสร็จให้กลับไปใช้ตามร่างต้นฉบับที่เสนอเข้าสภา ตามวาระ 1 เรื่องนี้ผู้ร่างคงคาดการณ์ไว้แล้วว่าอาจมีกรณีที่ไม่เสร็จเกิดขึ้นได้ และการพิจารณากฎหมายปกติที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา สภาก็ชินกับการลากไป 2 ปี 3 ปี แต่เมื่อเป็นกฎหมายสำคัญก็จะต้องล็อกไว้ให้ทัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพิจารณาไม่ทัน แสดงว่าต้องกลับมาใช้ร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นหลัก นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าจะพูดให้ถูก คือ ร่างฉบับที่ส่งสภาโดยรัฐบาล ตอนที่กกต.ส่งร่างมาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ครม.ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไข ซึ่งแก้ไขในบางอย่าง จากนั้นรัฐบาลจึงเอาร่างดังกล่าวส่งสภา ดังนั้นจะไปหยิบยก ต้นฉบับของ กกต. ไม่ได้ ต้องหยิบฉบับที่ 2 ที่รัฐบาลเสนอสภา ดังนั้นฉบับที่ถูก คือ ฉบับที่รัฐบาลส่งสภา

เมื่อถามว่าหากฎหมายลูกพิจารณาไม่ทัน รัฐบาลจะปฏิเสธความรับผิดชอบได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลรับผิดชอบแน่ โดยรับผิดชอบกับประชาชน คือการถูกประชาชนตำหนิ ติเตียน แต่จะให้รับผิดชอบ เหมือนไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญคาดการณ์ไว้แล้วว่าอาจเกิดขึ้นได้

เมื่อถามย้ำว่ารัฐสภา ต้องรับผิดชอบอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นการรับผิดชอบทางการเมืองต่อประชาชน ส่วนค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเบี้ยประชุม รัฐสภาต้องรับผิดชอบหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากต้องกลับมาใช้ร่างหลักที่รัฐบาล เสนอเข้าสภา จะทำให้เกิดปัญหาในทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจากนักการเมืองไม่สามารถแก้ไขในรายละเอียดของร่างได้ เช่น กรณี ไพรมารี่โหวต นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นเรื่องของความไม่ชอบ หรือความชอบบางเรื่อง เช่นเดียวกับถ้าใช้ร่างของสภา ก็มีกรณีที่ชอบและไม่ชอบ และสภาโหวตด้วยเสียงส่วนใหญ่ไปแล้ว แต่ถ้าจะมาใช้ร่างต้นฉบับ สภาก็ไม่มีโอกาสได้ติชม หรือปรับปรุงอะไร

เมื่อถามย้ำว่า หากมีการโต้แย้งในร่างต้นฉบับ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ สามารถทำได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สามารถแย้งต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยต้องแย้งว่าขัดรัฐธรรมนูญ จะแย้งว่าไม่ชอบใจไม่ได้ โดยหลักพิจารณา มีอยู่แล้วว่าถ้าขัดในเรื่องเล็กน้อย ศาลอาจจะสั่งให้เอาส่วนนั้นออกหรือให้ไปแก้ไข แต่ถ้าแย้งว่าขัดในเรื่องใหญ่ ที่เป็นสาระสำคัญ ก็ต้องตกไปทั้งฉบับ และกลับมาเริ่มต้นยกร่างกันใหม่ ทั้งนี้ตนไม่ทราบว่ามีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่คิดว่าถ้าเป็นร่างของ กกต.เชื่อว่าน่าจะมี และอาจไม่ได้แค่ร้องแค่ข้อความขัดรัฐธรรมนูญ แต่สามารถยกเหตุผล ว่ากระบวนการพิจารณาไม่ถูกต้อง ไปร้องได้ เพราะเห็นพูดมาตั้งแต่ต้นว่า ทั้งการจะใช้สูตรหาร 100 หรือ 500 ก็จะไปที่ศาลให้วินิจฉัย

เมื่อถามว่า กรณีนี้จะเป็นเงื่อนปมการเมือง ส่งผลกระทบต่อเรื่องอายุรัฐบาล และการเลือกตั้งหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คงไม่เกี่ยวกัน รัฐบาลก็เดินหน้าของรัฐบาลไป ผู้สื่อข่าวถามว่า มองเจตนาในการพิจารณาเรื่องนี้ ว่ามีความประสงค์จะให้กฎหมายลูก ไม่ผ่าน หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่อย่าลืมว่าการพิจารณายังเหลือเวลาอีก 2 วัน คือวันที่ 9-10 สิงหาคม นี้ ซึ่งอาจจะทันก็ได้ เพราะเหลือพิจารณาไม่กี่มาตรา และตนยังคาดหวังว่าน่าจะไปได้ และรัฐบาลก็อยากให้ไปได้ ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยพูดถึงประเด็นเรื่องนี้