“สมคิด” เตือน รัฐบาล รับมือพายุ3ลูกยักษ์ “เพอร์เฟ็กต์สตอร์ม” ห่วงเศรษฐกิจพัง

107

“สมคิด” เตือนรัฐบาลเตรียมรับมือพายุเศรษฐกิจ 3 ลูกรวมตัวกันเป็น “เพอร์เฟกต์ สตอร์ม” แนะต้องจัดงบประมาณแบบใหม่-กู้เงินเตรียมพร้อมรับวิกฤติ ห่วงส่งออก-ท่องเที่ยวถูกเศรษฐกิจโลกซบเซาฉุด อย่าประมาทว่าไทยมีทุนสำรอง 210,000 ล้านดอลลาร์ เพราะมีหนี้ต่างประเทศอยู่ถึง 190,000 ล้านดอลลาร์ ระวัง! ปัญหาการขาดดุลการคลังคู่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด หากระเบิดพร้อมๆกันเศรษฐกิจหักข้อศอก

วันที่ 26 ก.ค.2565 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดงาน “สร้างอนาคตภาคใต้” ซึ่งจัดโดยสมาคมสื่อมวลชนภาคใต้ 2538 ที่โรงแรมบุรีศรีภู คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ หาดใหญ่ ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ว่า องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่าเศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยง 3 ด้าน ที่รวมกันเป็น Perfect Strom ซึ่งพายุ 3 ลูกใหญ่มาพร้อมๆ กันสมบูรณ์แบบ

ประกอบด้วย 1.สงครามรัสเซียและยูเครน พร้อมกรณีที่ 2.ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญกับการต่อสู้กับเงินเฟ้อ ด้วยการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะนำไปสู่เศรษฐกิจสหรัฐ ถดถอย และกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก และลูกที่ 3 คือ ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ได้รับผลกระทบมาจากการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมโควิด-19

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟ บอกว่าปีนี้ dark : ดาร์ค (มืด) แล้ว ดีไม่ดีปีหน้าจะ dark กว่า ก็มีพี่ไทยเนี่ยแหละที่บอกว่าปีหน้าจะดีขึ้น ประเด็นอยู่ที่ว่าถ้าพายุ 3 ลูก ซึ่งมาพร้อมกันเป็น Perfect Strom จะทำให้การค้าเศรษฐกิจการเงินพังแบบแยกกันไม่ออก ไทยต้องพร้อมรับมือ เพราะส่งออก คือเส้นเลือดใหญ่ของไทยโดนแน่ ไม่มากก็น้อย เงินบาทอ่อนช่วยได้บางส่วน แต่หากค่าเงินบาท ผันผวนมากคนก็ไม่กล้าลงทุน อีกทั้งถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ดีความต้องการสินค้าของโลกก็ถดถอย และท่องเที่ยวถูกกระทบแน่

ปัญหาเศรษฐกิจโลกจะกระทบไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดูแล้วไม่ใช่ว่าจะจบใน 2 ปี การเตรียมตัวที่ดีที่สุดคือ ดูว่าหน้าตักขอเรามีอยู่แค่ไหน หากไม่มีเงินมาดูแลจะต้องชี้ช้ำกันเยอะ เคยเตือนว่าขณะนี้เป็นภาวะไม่ปกติ ไม่สามารถจัดงบประมาณแบบปกติได้ งบประมาณแต่ละปีหมดไปกับอะไรก็ไม่รู้ ต้องรู้ว่าอะไรควรหยุด อะไรควรเกลี่ย เดือดร้อนตรงไหนเตรียมเงินก้อนใหญ่ๆ ไว้ ไม่ใช่มีแค่งบกลางของนายกฯ 80,000-90,000 ล้านบาท จะเอาเยอะกว่านั้นต้องไปสะกิดผู้อำนวยการสำนักงบประมาณให้เตรียมตัวไว้ ไม่งั้นจะไม่มีเงินใช้ อย่าอีลุ่ยฉุยแฉก ส่วนที่สองคือเงินกู้ ซึ่งหน้าตักตอนนี้ อย่างเก่งก็สร้างหนี้สาธารณะได้แค่ 65% ของจีดีพี ตรงนั้นจะมีเงินไม่กี่แสนล้านที่อุดช่องว่างพอให้ยืดหยุ่นได้

นายสมคิด กล่าวต่อว่า คนบอกเมืองไทยยังห่างไกลศรีลังกาเพราะไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศกว่า 210,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีมากพอที่พ่อค้าจะสั่งสินค้าเข้ามาถึง 8 เดือน มีหนี้ระยะยาวมากกว่าหนี้ระยะสั้น 3 เท่าตัว ฉะนั้นห่างไกลจากวิกฤตการณ์ ตรงนี้ชัดเจนไม่มีใครเถียง แต่มีอีกปัญหาที่ต้องดูคือ ขณะนี้ไทยเกิดปัญหาขาดดุลคู่ คือ ขาดดุลการคลังมานานแล้ว ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มขาดดุล การส่งออกเริ่มเบาบางลง ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา มีที่เป็นบวก 3-4 เดือน แต่การนำเข้า มูลค่าแพงขึ้น ทำให้การขาดดุลเริ่มเกิด ถ้าเมื่อใดที่ประเทศใดขาดดุลสองดุลนี้คู่กันนานๆ มันเป็นสัญญาณที่ไม่ดีสิ่งเหล่านี้ระเบิดพร้อมๆ กันเศรษฐกิจหักข้อศอก

“ผมถึงบอกว่าเราอย่าประมาท เวลาต่างประเทศจะไปลงทุนที่ไหนเขาดูสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ผมเคยเตือนแล้วว่าการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เมื่อปีที่แล้วปีเดียว เราหล่นลงมา 5 อันดับ รู้ไหมว่าเวลาไต่ขึ้นมา 1 อันดับมันยากเย็นขนาดไหน ความสามารถเชิงเศรษฐกิจปีเดียวลงมา 13 จุด ประสิทธิภาพรัฐบาลลงมา 11 จุด ไม่มีใครสนใจ คิดว่าห่างตัว แต่ตัวนี้คืออาการของโรคที่บอกว่าเมืองไทยขณะนี้เป็นอย่างไร”

นายสมคิด กล่าวว่า เรามีสิ่งเดียวที่ว่าเราอุ่นใจคือมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูง 210,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หนาแน่นพอ แต่หนี้ต่างประเทศของไทยจริงๆ มีถึง 190,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มันบางๆ แม้ไม่ใช่หนี้ระยะสั้นแต่ก็เป็นหนี้และเวลาเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เขาทวงคืนเมื่อใดก็ได้ ถามว่าแล้วจะทำอย่างไร ตรงนี้รัฐบาลต้องตอบให้ได้ว่าจะทำอย่างไร เพราะประชาชนรอฟังอยู่ ให้อุ่นใจว่าลูกเต้าจะมีกิน ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีจะไม่ตกงาน

“ขอฝากถึงรัฐบาล 2 เรื่องคือ เรื่องการเตรียมพร้อมเงินที่จะรองรับ ไม่ใช่แค่จัดงบกลาง อาจเป็นการตั้งกองทุนเฉพาะกิจขึ้น โดยต้องไปดูแหล่งเงินว่าจะเอามาจากที่ใด หากจะมีการกู้เงินเพิ่มเติม ก็ต้องใช้สำหรับการลงทุนที่สามารถ สร้างการจ้างงานและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศได้ด้วย นอกจากนี้ ต้องเตรียมมาตรการช่วยเหลือคือ เอสเอ็มอี ที่จะเผชิญปัญหาเมื่อเจอภาวะวิกฤต ซึ่งต้องดูในส่วนของการเพิ่มทุนให้กับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐให้เพียงพอที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีได้เพื่อให้ธุรกิจไม่ล้มและสามารถรักษาการจ้างงานไว้ได้”