ป.ป.ช.เก็บข้อมูลแจกกล้วย “พรรคเล็ก” รับเงิน แลกโหวต ชี้เข้าข่ายรับสินบน

ป.ป.ช.รวบรวมข้อมูล ส.ส.แจกกล้วยพรรคเล็ก หลังเกิดกรณี”ไลน์หลุด” ชี้ หากให้เงินแลกโหวต อาจเข้าข่ายรับสินบน-ผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ทั้งคนให้-รับ ระบุกำลังอยู่ในขั้นตอน ตรวจสอบข้อมูลและหาหลักฐาน ย้ำถึงแม้ไม่มีคนร้อง แต่ ป.ป.ช.สามารถนำมาพิจารณาดำเนินการได้

วันที่ 25 ก.ค. 2565 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีข่าวไลน์หลุดมีชื่อของนักการเมืองพรรคเล็กบางคน ได้รับเงินรายเดือน เดือนละ 100,000 บาท พร้อมมีการแฉสลิปโอนเงินนั้นว่า ขณะนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. สั่งติดตามตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องการเฝ้าระวังจากการมอนิเตอร์ข่าว ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่ของ ป.ป.ช.อยู่แล้ว อะไรที่ปรากฏข้อมูลข่าวสาร ป.ป.ช.ก็มีศูนย์เฝ้าระวังอยู่ ทั้งนี้อะไรที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช.ก็จะต้องมีการสังเคราะห์ก่อนว่าคือประเด็นอะไรอย่างไร

หากมีการร้องเรียนมา ป.ป.ช.ก็จะได้มีพยานหลักฐาน หรือถ้าไม่มีการร้องเรียนแต่มีเหตุอันควรสงสัย ป.ป.ช.ก็สามารถหยิบยกขึ้นมาตรวจสอบได้ ซึ่งไม่ใช่แค่กรณีนี้ แต่ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับ ป.ป.ช.จะมีการเฝ้าระวังทั้งหมด โดยระหว่างนี้สำนักการข่าวและกิจการพิเศษซึ่งเป็นคนรวบรวมข้อมูลตั้งแต่การอภิปรายในสภา จะวิเคราะห์ว่ามีข้อมูลมีหลักฐานเพียงพอจะหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาตรวจสอบหรือไม่ หรือหากพบว่าข้อเท็จจริงมีมูล ป.ป.ช.สามารถตั้งเรื่องขึ้นมาตรวจสอบได้ตามกระบวนการ

นายนิวัติไชย กล่าวว่า หากบอกว่าเป็นการกู้ยืมเงิน แล้วข้อเท็จจริงพบว่าเป็นการยืม ก็ไม่ถือว่าผิดอะไร เพราะสามารถกู้ยืมได้ แต่หากไม่ใช่เรื่องการกู้ยืม เป็นการให้ก็อาจจะผิด ซึ่งตามกฎหมายของป.ป.ช. แล้ว ส.ส.หรือ เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่สามารถรับผลประโยชน์ที่คิดเป็นเงินเกิน 3,000 บาท ฝ่าฝืนมีความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 128 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“หากพบเป็นการให้เงินก็ต้องดูว่าให้เพื่ออะไร ให้เพื่อแลกกับการโหวตหรือไม่ ซึ่งก็จะเป็นอีกประเด็นหนึ่งคนละกรณี อาจจะเข้าข้อหารับสินบน ฐานความผิดต่อหน้าที่ราชการ อย่างไรก็ตามถ้าเป็นการให้เงินหรือรับเงินสินบน เพื่อปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก็จะเข้าข่ายจริยธรรมร้ายแรงด้วย” เลขาฯ ป.ป.ช. กล่าว