คึกคัก! งานมหกรรมสินค้าฮาลาลอาเซียน ที่ปัตตานี ‘มนัญญา’เปิด 4 ประเทศร่วมเปิดบูธ

มนัญญา’ เปิดมหกรรมงานแสดงสินค้าฮาลาลอาเซียน 2565 กระตุ้นเศรษฐกิจด้านฮาลาลสู่กลุ่มประเทศมุสลิม
.
30 มิถุนายน 2565 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดมหกรรมงานแสดงสินค้าฮาลาลอาเซียน 2565 โดยมี ผศ.ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการ สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี และ  Datuk Haji Jamal Mohd Amin ผู้บริหารศูนย์การค้าอาเซียนมอลล์ปัตตานี ให้การต้อนรับ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2565 ณ ศูนย์การค้าอาเซียนมอลล์ปัตตานี ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี ว่า สินค้าและบริการฮาลาลของประเทศไทยเป็นธุรกิจที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้โตขึ้นได้ในอนาคต เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในหลายๆ ด้านที่จะผลิตสินค้าและบริการฮาลาลที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด


.
ทั้งนี้ สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับศูนย์การค้าอาเซียนมอลล์ปัตตานี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ ของตลาดฮาลาล จึงได้มีการจัดมหกรรมงานแสดงสินค้าฮาลาลอาเซียน 2565 (ASEAN Halal Expo 2022) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ผู้ผลิตสินค้าบริโภค อุปโภค และบริการด้านฮาลาลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เกิดความตื่นตัว และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการฮาลาลมาจำหน่ายสินค้าและบริการฮาลาล หลังจากเกิดสถานการณ์โควิด – 19 อีกด้วย
.
“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมสนับสนุน และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความเข้มแข็ง โดดเด่น และเป็นรูปธรรมชัดเจน และพร้อมที่จะบูรณาการสินค้าฮาลาล ร่วมกับสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดูแลในส่วนของต้นน้ำ ในด้านการผลิต ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ซึ่งมั่นใจว่าชาวมุสลิมจะต้องได้รับประทานอาหารที่ฮาลาล รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย ให้แก่ผู้บริโภคทั้งใน และต่างประเทศต่อไป” รมช.มนัญญา กล่าว


.
สำหรับการจัดมหกรรมงานแสดงสินค้าฮาลาลอาเซียน 2565 (ASEAN Halal Expo 2022) ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2565 ณ ศูนย์การค้าอาเซียนมอลล์ปัตตานี ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ผู้ผลิตสินค้าบริโภค อุปโภค และบริการด้านฮาลาลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความตื่นตัวมากขึ้นหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด – 19 ประกอบกับยังเป็นเวทีสร้างเครือข่ายด้านธุรกิจฮาลาลกับกลุ่มประเทศอาเซียน ให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น ทำให้สามจังหวัดชายแดนใต้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้า และบริการฮาลาลที่สามารถ ป้อนสู่ประเทศมุสลิมได้ในอนาคต กิจกรรมในงานประกอบด้วย การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับศูนย์การค้าอาเซียนมอลล์ปัตตานี การเสวนาจากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านฮาลาลทั้งในและต่างประเทศ อาทิ เรื่อง “โอกาสของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการพัฒนาธุรกิจฮาลาลสู่ระดับสากล” เรื่อง “โอกาสการขับเคลื่อนธุรกิจฮาลาลระหว่างไทย-มาเลเซีย”  เรื่อง“แนวทางการพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาลของไทย และมาเลเซีย” และมีการสาธิตการทำเมนูอาหารและเครื่องดื่มฮาลาล รวมทั้งมีกิจกรรม Halal Pitch เป็นต้น


.
นอกจากนี้ ยังมีงานแสดงสินค้า และนิทรรศการฮาลาลนานาชาติ จำนวน 136 ร้านค้า บูธจากประเทศไทย จำนวน 86 ร้านค้า และบูธนานาชาติ 50 ร้านค้า เช่น ประเทศมาเลเซีย ลาว และกัมพูชา จำหน่ายสินค้าประเภทอาหาร เสื้อผ้า และอื่นๆ  ซึ่งแบ่งเป็น 2 โซน คือ บูธภายในห้าง ได้แก่ บูธนานาชาติ จำนวน 50 ร้านค้า และบูธประเทศไทยจำนวน 26 ร้านค้า อีกทั้งมีการจำหน่ายสินค้าอาหารปรุงสดของประเทศไทย จะอยู่ภายนอกห้าง จำนวน 60 ร้านค้า