คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ไฟเขียวให้รถร่วมบริการ บขส. ขึ้นค่าโดยสาร 5 สตางค์/กม. มีผล 4 ก.ค.นี้ ส่วน บขส. ยังตรึงค่าโดยสารอีก 3 เดือน ขณะ นายกฯรถโดยสารฯ ออกแถลงการณ์ พอใจขนส่งฯไฟเขียวขึ้นค่าตั๋ว แจ้งรถร่วมฯเดินรถตามปกติ
วันที่ 28 มิ.ย.65 นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางเปิดเผยภายหลังการประชุมวันนี้ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น เทียบกับอัตราค่าโดยสารรถประจำทาง พบว่า อัตราค่าโดยสารในปัจจุบันสะท้อนราคาน้ำมันที่ระดับ 27 บาทต่อลิตร ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลขยับราคาขึ้นมาเป็น 35 บาทต่อลิตร ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรถโดยสารให้ได้รับความเดือดร้อนและเตรียมปรับลด-หยุดเที่ยววิ่ง
โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารรถประจำทางหมวด 2 (วิ่งระหว่างกรุงเทพ-ต่างจังหวัด) และหมวด 3 (วิ่งระหว่างจังหวัด-จังหวัด และอำเภอ-อำเภอ) ให้ปรับขึ้นค่าโดยสารในอัตรา 5 สตางค์ต่อกิโลเมตร ซึ่งเป็นอัตราที่ปรับขึ้นแล้วเท่าทุน ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้โดยสารจนเกินไป โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนรถบขส.ยังให้ตรึงค่าโดยสารต่ออีก 3 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน พร้อมให้เตรียมรถให้เพียงพอต่อความต้องการเดินทางของประชาชน
นายกฯรถโดยสารฯพอใจขนส่งฯไฟเขียวขึ้นค่าตั๋ว แจ้งรถร่วมฯเดินรถตามปกติ
ด้านนายพิเชษฐ์ เจียมบุรเศรษฐ์ นายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย ออกแถลงการณ์ว่า เนื่องด้วย คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ได้พิจารณาและมีมติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารในอัตรา 5 สต/กม. มีผลตั้งแต่วันที่วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นไปอย่างมาก
สมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย ขอขอบพระคุณคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางและกรมการขนส่งทางบกที่เห็นใจและเข้าใจถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการขนส่งทั่วประเทศและพร้อมกันนี้ สมาคมฯได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการขนส่งและรถร่วม บขส.ทั่วประเทศ จัดการเดินรถตามปกติ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้สมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย ได้แจ้งอัพเดท 48 บริษัท รวม 227 เส้นทางทั่วประเทศ ผู้ประกอบการขนส่งเอกชน-รถร่วมบริการ บขส.เพื่อปรับลดเที่ยววิ่งลง 80% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ เป็นต้นไป โดยอ้างเรื่องผลกระทบจากราคาน้ำมันแพง