“เจน-บวร-คุรุจิต”3 กูรูพลังงาน ระบุ ค่าการกลั่นไม่ใช่กำไร ไม่สามารถกำหนดได้ รัฐควรให้ความสนใจเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน อุ้มเฉพาะกลุ่มเปราะบางลดภาระกองทุนน้ำมัน แนะปรับสูตรเอทานอล-ไบโอดีเซล ช่วยลดต้นทุน ส่วนภาษีลาภลอย ทำไม่ได้กับธุรกิจโรงกลั่น เพราะมีขึ้น-ลง ตามกลไกตลาดเสรี
วันที่ 26 มิ.ย.2565 นายเจน นำชัยศิริ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเสวนาเชิงวิชาการในหัวข้อ “ความจริง….ค่าการกลั่น” จัดโดย ชมรมวิทยาการพลังงานว่า ค่าการกลั่นไม่ใช่กำไร โดยผลลัพธ์จากการนำวัตถุดิบมาแปรรูปและขายออกไปไม่สามารถบอกได้ว่า ณ วันนี้ ได้เท่าไหร่ ต้องเอาผลจากทั้งเดือนหารค่าเฉลี่ยและแต่ละเดือนก็ไม่เท่ากัน ไม่สามารถคอนโทรลได้ และต้นทุนแต่ละโรงก็ไม่เท่ากัน
อย่างไรก็ตาม มองว่ากลุ่มโรงกลั่นก็อยากช่วยแต่ไม่สามารถนำเงินออกมาช่วยเหลือได้ เพราะกฎกติกาตลาดหลักทรัพย์ฯเกี่ยวกับธรรมาภิบาล ซึ่งข้อมูลโครงสร้างราคาน้ำมันมีเปิดเผยบนเว็บไซต์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) มีมีการทำตัวเองอ้างอิงที่น่าเชื่อถือที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง โดยจะเห็นตัวเลขว่าปี 2020 อยู่ที่ 70 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งถูกมาก และปีนี้ขยับมาที่ 3 บาทกว่าๆ จนกระทั่งมาเดือนเม.ย. 2565 กระโดดมาที่ 5.27 บาท เดือนมิ.ย.อยู่ที่ 6 บาทกว่าๆ แต่ไม่ถึง 8 บาท
“ปีที่เกิดโควิดน้ำมันเครื่องบินขายไม่ได้ จึงนำไปทำน้ำมันตัวอื่นที่ราคาต่ำกว่า เกิด Effect ในตัวกำไรของโรงกลั่นเหมือนกัน ดังนั้นสถานการณ์ไม่มีอะไรแน่นอนมีความผันผวน ตัวเลขที่ขึ้นมาก็ลงได้ตลอดเวลา รัฐจะไปล้วงกำไรกลับมาจะต้องย้อนไปคิดถึงในเรื่องที่ตอนที่เขาเสียขาดทุน”
นายเจน กล่าวว่า อยากให้ดูราคาเอทานอลสำหรับเป็นส่วนผสมน้ำมันเบนซินซึ่งมีราคาถูกกว่า ดังนั้น หากมาดู E85 และ E20 และทบทวนค่าการตลาดก็จะทำให้ราคาน้ำมันกลุ่มนี้ถูกลงได้อีก ส่วนกลุ่มดีเซล การลดสัดส่วนไบโอดีเซลแน่นอนอาจกระทบชาวสวนปาล์ม ซึ่งตอนนี้น้ำมันปาล์มก็ส่งออกต่างประเทศได้ราคาก็ควรบริหารจัดการตรงนี้ เพื่อจะได้ไม่ไปยุ่งกับเรื่องค่าการกลั่นที่จะมีปัญหาในเรื่องของกติกา ซึ่งอีกหน่อยหากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น นักลงทุนอาจมองว่าจะมาล้วงกระเป๋าอีก ดังนั้น หากกติกาไม่ชัดเจจะเกิดความร่วมมือครั้งเดียว และหาวิธีป้องกันตัวเอง
สำหรับประเด็นการเก็บภาษีลาภลอยยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะธุรกิจโรงกลั่นถือเป็นธุรกิจที่มีขึ้นมีลงเป็นวัฏจักร ไม่เหมือนภาษีที่ดินที่มีโครงการรัฐตัดผ่านแล้วเจ้าของที่ดินได้ประโยชน์ โดยช่วงโควิด-19 น้ำมันเครื่องบินขายไม่รัฐบาลก็ไม่ได้เข้าไปช่วย จึงไม่อยากให้รัฐบาลใช้วิธีนี้ จะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก อาจส่งผลถึงเสถียรภาพด้านความมั่นคงพลังงานตามมา การที่น้ำมันอแพงเป็นทั่วโลกครั้งนี้ไม่ใช่เวิลด์ซัพพลาย สิ่งไหนเจรจาได้ก็หารือ อย่าต้องทะเลาะกันเลย
อย่างไรก็ตาม กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องแบกรับภาระติดลบแล้วกว่า 95,000 ล้านบาท จึงไม่ควรมาทำหน้าที่อุดหนุนแต่อยากเห็นการทำหน้าที่คล้ายๆโช๊คอัพค่อยๆ ผ่อนแรง ซึ่งคิดว่ารัฐบาลต้องทำความเข้าใจให้ประชาชนยอมรับความจริง จากข้อมูลที่เป็นจริงและเปิดเผย และช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางตรงจุด จะใช้เงินที่น้อยกว่า ไม่ใช่ใช้วิธีหว่านแหเช่นปัจจุบัน เพราะคนได้ประโยชน์บางคนไม่เห็นความจำเป็นช่วย
นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานกรรมการ บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่แท้จริงนั้นพงมาก เพราะน้ำมันหายาก ประเทศอังกฤษก็ขาดแคลนน้ำมันเช่นกัน จึงต้องชื่นชมประเทศไทยที่ไม่ต้องเข้าแถวหรือแย่งกันเติมน้ำมัน ถือเป็นเรื่องของ Security ที่ประเทศไทยทำงานได้ดี ส่วนน้ำมันดิบที่ซื้อมาเราสามารถจัดหามาได้แต่จัดหามาด้วยความยากเพราะต้องไปแย่งในตลาดเมื่อไปแย่งจะมี Premium ที่ราคาบวกขึ้นไปอีก ดังนั้นรัฐบาลจะต้องช่วยกันอธิบายให้เข้าใจ
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันถือเป็นเทรนของราคามีขึ้นมีลง เกิดโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นโรงกลั่นมีความกังวลว่าจะไม่มีปันผล จึงต้องมีการเอากำไรสะสมมาจ่ายปันผล ดังนั้น ช่วงที่ขาดทุนมีใครสนใจโรงกลั่นหรือไม่ ประเทศไทยเพื่อความมั่นคงและประคองราคาไว้ระดับ 30 บาทต่อลิตร ถึงเวลาก็อาจจะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด สำหรับประเด็นสัดส่วนไบโอดีเซล เชื่อว่าชาวสวนปาล์มอาจจะไม่ได้รับผลกระทบเท่าโรงงาน B100 ซึ่งก็เข้าใจตรงจุดนี้ของภาครัฐที่ต้องบริหารให้ครอบคลุม
“ค่าการกลั่นยืนยันว่าไม่มีใครสามารถกำหนดได้ เพราะเป็นส่วนต่างในการเอาน้ำมันดิบมา 1 ลิตร เมื่อกลั่นแล้วจะได้โปรดักส์ชนิดต่างๆ และมีค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกมากมาย แม้ว่าดูเป็นเทรนราคาช่วงนี้อาจจะเยอะแต่จะเอาเงินจากโรงกลั่นไม่ได้ ภาครัฐจะกล้าทำหรือเปล่าทำแล้วเสียเครดิตประเทศชาติจะเป็นอย่างไร และหากเอาจากโรงกลั่นกลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็อาจจะทำได้ แต่โรงกลั่นต่างชาติหละ อาจต้องนำเงินกลับประเทศ เป็นต้น”
นอกจากนี้ เชลล์เคยมีโรงกลั่นในประเทศไทย แต่ก็ต้องขาดทุน และปตท. เข้าไปแบกรับภาระเป็นหนี้ก็เพื่อความมั่นคงของชาติ การบริหารจัดการโรงกลั่นหรือปั๊มน้ำมันถ้าบริหารจัดการไม่ดีก็ขาดทุนได้ จึงอย่าเอาปัญหาในช่วงระยะสั้นมาแก้ปัญหาในสิ่งที่ประเทศไทยทำดีมาตลอด จึงฝากถึงผู้ใหญ่อย่ารีบร้อน
ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่าการกลั่นไม่ใช่กำไรแต่เป็นตัวชี้วัดว่าค่าการกลั่นแต่ละโรงก็ไม่เท่ากัน ความสามารถในการกลั่นผลิตภัณฑ์แต่ละอย่างไม่เหมือนกัน การจะแบ่งกำไรจากค่าการกลั่น ผู้บริหารจะต้องถามซีอีโอว่า เอาหลักการอะไรมาร่วมมือ เพราะไม่รู้ว่าปีนี้ทั้งปีจะกำไรหรือไม่ หากครึ่งปีหลังสงครามยุติราคาปรับตัวลงผิดปกติ หรือแย่ไปกว่านั้นมีโรคระบาดโรคใหม่เกิดล็อกดาวน์อีกก็จะเกิดการขาดทุนได้
ทั้งนี้ การที่มีข่าวว่ารัฐจะไปขอส่วนแบ่งกำไร โรงกลั่นก็อาจจะต้องปรับตัวลดกำลังการผลิต และทำผลิตภัณฑ์ตัวอื่นออกมาแทนหรือส่งออกไปต่างประเทศแทน ดังนั้นหากทำมากเกินไปสิ่งที่ไม่อยากเห็นคืออาจจะเกิดขึ้นคือการขาดแคลนน้ำมันเหมือนสมัยก่อน การเติมน้ำมันจะต้องสลับทะเบียนรถยนต์เลขคู่กับเลขคี่ ดังนั้น การจะไปแทรกแซงกลไกตลาดต้องระวังเพราะทุกคนเดือดร้อนหมด
“รัฐบาลพยายามประคับประคองจนกองทุนน้ำมันติดลบแล้ว 95,000 ล้านบาท พร้อมลดภาษีน้ำมันอีก 5 บาท หากเทียบกับต้นปีน้ำมันดีเซลหน้าปั๊มขึ้นไปที่ 17% แต่ตลาดทั่วโลกอยู่ระดับ 70-84% ตลาดโลกดีเซลแพงกว่าเบนซินแต่ในบ้านเราจงใจทำให้ดีเซลถูกกว่าเบนซินจึงขาดทุนอยู่ปัจจุบัน สิ่งสำคัญคือต้องไม่ให้น้ำมันขาด และดูแลเฉพาะกลุ่มยากไร้รายได้น้อย เป็นต้น ซึ่งรัฐก็ทำอยู่ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น”
สำหรับข้อเสนอแนะต้องบูรณาการหลายกระทรวง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม รวมถึงภาคภาคเอกชน และประชาชน ประหยัดพลังงาน แก้ปัญหาคอขวดโดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ ประเทศไทยที่เป็นต้นทุนในการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคและต้นทุนในการขนส่งของประชาชน เราลืมว่ากฎระเบียบของกระทรวงคมนาคมถือเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้มีรายได้น้อย.