รฟม.เตรียมโอน รถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้ กทม. เผยหนี้อ่วม 5.42 หมื่นล้านบาท จี้ กทม. เร่ง เสนอเรื่อง ให้ครม.รับทราบ คาดจะดำเนินการลงนามได้ภายในเดือน ก.ย.นี้
วันที่ 17 มิ.ย. 2565 ที่ กระทรวงคมนาคม นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ครั้งที่ 2/2565 ว่า เป็นการติดตามงานภายใต้การลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) การมอบให้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต (สายสีเขียวฝั่งเหนือ) แล ะช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ (สายสีเขียวฝั่งใต้) ร่วมกับผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคมนาคม กทม. รฟม. สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ สำนักงบประมาณซึ่งในที่ประชุมหารือ ถึงเอ็มโอยู (เพิ่มเติมฉบับที่ 1) ว่าด้วย การจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ ของ รฟม. ให้กับ กทม. โดยรายละเอียดของการจัดทำบันทึกข้อตกลงฉบับดังกล่าว เพิ่มเติมมาจากข้อตกลงที่ได้ลงนามร่วมกันไปเมื่อปี 2561 ในครั้งที่มีการโอนทรัพย์สินและภาระหนี้ส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เนื่องจากรายละเอียด เรื่องภาระหนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อีกทั้งยังมีภาระหนี้เพิ่มเติมจากส่วนของช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่ กทม.นำไปบริหารจัดการด้วย คาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ก่อนจบปีงบประมาณ 2565 หรือ ประมาณเดือน ก.ย.นี้
นายภคพงศ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ มีการรายงานภาระหนี้ที่ กทม.ค้างชำระ ซึ่งเป็นส่วนของงานโยธา ณ วันที่ 31 พ.ค. 2565 มีมูลหนี้อยู่ที่ประมาณ 5.33 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น สายสีเขียวฝั่งเหนือ 3.41 หมื่นล้านบาท และสีเขียวฝั่งใต้ 1.91 หมื่นล้านบาท และคาดการณ์ว่าตลอดปีงบประมาณ 2565 หรือตั้งแต่เดือน เม.ย. – ก.ย. 2565 จะมีภาระหนี้ประมาณ 54,284 ล้านบาท
โดยคาดว่าระหว่างเดือน เม.ย. – ก.ย. 2565 จะมีดอกเบี้ยสะสมประมาณ 970 ล้านบาท หรือ ประมาณ 161 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่ง กทม. จะต้องมีการบรรจุเรื่องดังกล่าวนี้ เสนอเข้าสภา กทม. เพื่อพิจารณารับทราบ คาดว่าจะใช้เวลาการรวบรวมข้อมูล 2 เดือน เพราะประธานสภา กทม. เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง เช่นเดียวกับผู้ว่าฯ กทม. ก่อนจะเสนอไปยังกระทรวงมหาดไทยและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติลงนามบันทึกข้อตกลงรับโอนทรัพย์สินและภาระหนี้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
“หนี้ส่วนนี้เป็นหนี้ที่เกิดจากงบประมาณการลงทุนส่วนของงานโยธาที่ รฟม.รับผิดชอบ รวมไปถึงงบเวนคืนที่ดิน และค่าจ้างที่ปรึกษา เมื่อ กทม.ลงนามบันทึกข้อตกลงรับโอนทรัพย์สินและภาระหนี้ จะต้องไปดำเนินการจ่ายหนี้ทั้งหมดให้กับสำนักงบประมาณ โดยหนี้จะเป็นตัวเลขเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับว่า กทม.มีความพร้อมรับมอบภาระหนี้เมื่อไหร่ หากว่าช้ากว่านี้ออกไปอีก ก็จะเพิ่มภาระดอกเบี้ยที่ กทม.ต้องรับผิดชอบ” ผู้ว่าฯ รฟม. กล่าว