“25องค์กรมุสลิม” ตั้งเครือข่ายต้าน “กัญชาเสรี” ชี้ ขัดหลักการ ศาสนาอิสลาม

214

องค์กรมุสลิม 25 องค์กรรวมตัวกันตั้งเครือข่ายคัดค้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่ขัดกับหลักศีลธรรม เตรียมเคลื่อนไหวใหญ่คว่ำร่างกฎหมายกัญชาเสรี พร้อมเดินหน้าค้านทุกกฎหมายที่ขัดกับหลักการอิสลาม

วันที่ 15 มิ.ย.2565 ที่ห้องประชุมมัสยิดบ้านเหนือ จังหวัดสงขลา ภาคีเครือข่ายองค์กรมุสลิมกว่า 25 องค์กรได้ร่วมประชุมและมีมติจัดตั้ง “องค์กรเครือข่ายคัดค้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่ขัดกับหลักศีลธรรม” โดยมี ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรี ประจำภาคใต้ เป็นประธาน และนายอุดร น้อยทับทิม อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นรองประธาน

จุดประสงค์การตั้งองค์กรดังกล่าว เพื่อเตรียมเคลื่อนไหวใหญ่ รณรงค์คว่ำร่าง พ.ร.บ.กัญชาเสรี ในวาระสองในทุกรูปแบบอย่างสันติวิธีและผ่านทุกช่องทางของการสื่อสาร นอกจากคัดค้านกฎหมายเสรีกัญชาแล้ว ยังจะเดินหน้าในการคัดค้านทุกกฎหมายและกฎระเบียบที่ขัดกับหลักจริยธรรม โดยเฉพาะหลักการอิสลาม เช่น สุราก้าวหน้า สมรสเท่าเทียมหรือ LGBTQ และอื่นๆ

สำหรับองค์กรเครือข่ายฯที่เข้าร่วมประกอบด้วย 1.ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย 2.เพราะเราคือเรือนร่างเดียวกัน 3.มัสยิดบ้านเหนือ 4.มูลนิธิซะกาตและสาธารณกุศล 5.สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม (ส.น.ท.) 6.สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) 7.สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข 8.สถาบันอัสสลาม มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

9.ศูนย์ดะวะห์ตับลีช 10.กองทุนสวัสดิการบัยตุลมาล สตูล 11.กลุ่มวัยรุ่น เจ๊ะบิลัง 12.โรงเรียนทรัพรายีวิทยา 13.ผู้ช่วย ส.ส. ซูการ์โน มะทา ยะลา เขต 2 14. มัสยิดสามช่องใต้ จ.พังงา 15. โรงเรียนประทิปศาสตร์ บ้านตาล 16. สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี 17.สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช 18.มูลนิธิเพื่อการแพทย์และสาธารณะกุศล

19.สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ 20.มูลนิธิคนช่วยฅน 21.มูลนิธิศูนย์กลางอิสลามเพื่อการพัฒนายะลา 22.มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ยะลา 23.มูลนิธิเพื่อภราดรภาพ 24.สมาคมนักธุรกิจมุสลิมปัตตานี 25.สุนทร วงค์หมัดทอง หัวหน้าฝ่ายวิชาการ และกองทุนชะกาต มัสยิดมำบัง มัสยิดกลาง จ.สตูล

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา เผยแพร่เอกสารแถลงการณ์ ระบุว่า ฮัจยี อิสมาแอ ฮารี ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ขอขอบพระคุณต่อผู้แทนราษฎรประเทศไทยที่ไม่สนับสนุนการพิจารณากฎหมายให้ยาเสพติด (กัญชา) เป็นที่อนุญาต เนื่องจากเป็นอันตรายต่อสังคมและโลก ข้าพเจ้าในนามคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

ทางด้าน บุษยมาส อิศดุลย์ ประธานกลุ่มบ้านบุญเต็ม ซึ่งดูแลเด็กและเยาวชนในจังหวัดยะลา บอกว่า มีข้อห่วงใยกรณี “กัญชาเสรี” ซึ่งปลดล็อกเรียบร้อยแล้ว เรียกกันว่า “ปล่อยผี” เพราะกฎหมายควบคุมยังไม่ออกมา ซึ่งยังไม่ทราบว่าภายใน 4 เดือนนี้ จะมีกฎหมายออกปกป้องเด็กและเยาวชนได้ทันหรือไม่ เพราะบางกระแสบอกว่า กฎหมายอาจต้องใช้เวลาถึง 12 เดือนหรือ 1 ปี ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้ปกครอง ครู และเด็กๆ ในพื้นที่ ทุกคนหนักใจเรื่องกัญชา เพราะถ้าไม่โลกสวย ทั้งครูและพ่อแม่ตามไม่ทันเด็กแน่นอน หากเด็กจะลองกัญชา เพราะทุกอย่างเสรีและไม่ผิดกฎหมาย“หนักอกหนักใจพอสมควร โดยส่วนตัวแล้วเราอยู่กับเด็กที่มีคดีความ เด็กที่เป็นจำเลย ส่วนใหญ่ที่ก่อคดีก่อเหตุ เราเห็นในเรื่องของเด็กที่ใช้ยาเสพติดตลอดมา เริ่มตั้งแต่บุหรี่ แอลกอฮออล์ และยาเสพติดชนิดอื่นที่ผิดกฎมาย แล้วมาเพิ่มเรื่องของกัญชาเข้ามา และถูกกฎหมายด้วย ในช่วงของกัญชาเสรี ตอนนี้ผู้ปกครองทุกคนเป็นห่วง ไม่ทันเด็กแน่นอน โดยเฉพาะวัยรุ่น หรือเยาวชนที่อยู่ในวัยฮอร์โมน หรือเด็กที่อยู่ในช่วงฮอร์โมน ช่วง ม.1 อยากรู้อยากลอง ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ หนีไม่พ้นปัญหาตรงนี้แน่นอน และยิ่งไม่ผิดกฎหมาย ทำให้เขาสบายใจที่จะลอง” ประธานกลุ่มบ้านบุญเต็ม กล่าวเช่นเดียวกับ ครูนุรฮัสหม๊ะ จันทร์เพ็ญ ครูศูนย์เด็กเล็ก วัดยะลาธรรมาราม ที่บอกว่า ในฐานะที่เป็นครู และเป็นแม่ของเด็กที่อยู่ในวัยอยากรู้อยากเห็นและอยากลอง เชื่อว่ายังมีแม่อีกหลายคนที่ลูกอยู่ในวัยนี้มีความกังวลและเป็นห่วงลูกมาก “ด้วยสภาพแวดล้อมและสิ่งปลูกเร้าต่างๆ จะทำให้ลูกๆ และเด็กเยาวชนรุ่นนี้หลงทางไปใช้สารเสพติดชนิดนี้มากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญขอความร่วมมือกับผู้ปกครอง พ่อแม่ รวมถึงครู ต้องเป็นหูเป็นตาพูดคุยให้ข้อมูลถึงโทษของสารเสพติด ให้เยาวชนได้เข้าใจมากขึ้น ฝากถึงหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอยากให้เข้ามาดูแลเด็กๆ และเยาวชนรุ่นนี้มากขึ้น”