รมว.ยุติธรรม หารือ “ทูตฝรั่งเศส” ร่วมมือป้องกันฟอกเงิน-ดันสมรสเท่าเทียม แจง กฎหมายยาเสพติดใหม่ ช่วยปิดทางฟอกเงิน หลังยึดทรัพย์เครือข่ายยา8 พันล้านบาท ชี้ กฎหมายคู่ชีวิต มีความจำเป็นพื้นฐาน เหมือนสมรสเท่าเทียม เหตุลงรายละเอียดมากไม่ได้ เพราะเวลาสภาเหลือน้อย หวั่นผ่านไม่ทัน ตอบปมยกเลิกโทษประหาร เหนือชั้น!
วันที่ 14 มิ.ย. 2565 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้การต้อนรับ นายตีแยรี มาตู เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส เนื่องในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการ ที่กระทรวงยุติธรรม โดยนายตีแยรี กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้ เพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างไทย-ฝรั่งเศส ที่มีมาอย่างยาวนาน รวมถึงอยากมาหารือถึงข้อราชการต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการฟอกเงิน เพราะฝรั่งเศสเห็นว่า การฟอกเงินจะเป็นปัญหาหนึ่งที่ไทยต้องพบเจอ ดังนั้น ความร่วมมือที่ฝรั่งเศส จะทำได้คือ การแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ด้วยการจัดสัมมนาอบรม ซึ่งจะมีการเชิญตัวแทนไทย เข้าร่วมด้วย เนื่องจากในไทย มีคนฝรั่งเศส อาศัยอยู่จำนวนมาก โดยก็มีทั้งดี และเกี่ยวข้องกับผู้ร้ายด้วย ดังนั้น ฝรั่งเศส จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ นอกจากนี้ ขณะนี้ ทางสถานทูตฯ ยังได้มีการแต่งตั้ง ผู้ช่วยทูตฯในด้านศาลและยุติธรรม เพื่อติดตามตัวบทกฎหมาย และอนุสัญญาต่างๆให้มีความทันสมัย ซึ่งจะไม่ได้ดูแค่ไทย แต่จะดูในประเทศญี่ปุ่น จีน และเวียดนามนายตีแยรี กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการสมรสเท่าเทียม เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ฝรั่งเศส มีประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้กฎหมายนี้ กว่า 10 ปีแล้ว จึงอยากให้คำแนะนำกระทรวงยุติธรรม ที่เป็นผู้เสนอ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต เพราะในฝรั่งเศส การสมรสเท่าเทียมสำหรับทุกเพศ เป็นที่ยอมรับในยุโรป โดยได้มีการต่อสู้เรื่องศาสนา จนมีกฎหมายนี้มาได้ ซึ่งจากที่ดูไอเดียของกระทรวงยุติธรรม ยอมรับเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจมาก แต่จากนี้ ไทยต้องให้ความรู้เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ ให้กับคนที่ยังไม่เข้าใจ เพื่อที่จะได้ผลักดันเรื่องเท่าเทียมทางเพศให้เป็นรูปธรรมมากที่สุดขณะที่ นายสมศักดิ์ กล่าวขอบคุณฝรั่งเศส ที่มาแบ่งปันเกี่ยวกับความก้าวหน้าของโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะกฎหมายที่ทันสมัย ซึ่งไทยเอง ก็มีการปรับแก้กฎหมายให้ทันสมัย อย่าง การแก้ปัญหายาเสพติด ได้มีการยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องไปถึง 24 ฉบับ เพื่อเขียนขึ้นมาใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่การยึดทรัพย์ ตัดวงจรเครือข่ายยาเสพติด รวมถึงตัดวงจรการฟอกเงิน ตามที่ฝรั่งเศส มีความห่วงใยในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งหลังมีการใช้กฎหมายยาเสพติดใหม่ เพียงครึ่งปี เราสามารถยึดทรัพย์ได้แล้วกว่า 8,400 ล้านบาท ต่างกับเมื่อก่อน ที่ยึดได้เพียงไม่เกินปีละ 600 ล้านบาท ดังนั้น ถ้ามีการฟอกเงิน เราก็จะมีการติดตามยึดทรัพย์อย่างเข้มข้น ส่วนอาชญากรรมข้ามชาติ ที่ฝรั่งเศสติดตามอยู่ เราก็พร้อมร่วมมือในการสืบสวน แต่เรายังขาดข้อมูลว่า เขาเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือ อาชญากรรมด้านใด โดยเชื่อมั่นว่า ถ้ามีข้อมูล เราจะสามารถดำเนินการได้นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า เรื่องกฎหมายคู่ชีวิต ขณะนี้ ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว และจะส่งไปยังสภาฯเพื่อให้พิจารณา ซึ่งเป็นความหวังของผู้หลากหลายทางเพศ เพราะกฎหมายฉบับนี้ มีความจำเป็นพื้นฐาน เหมือนสมรสเท่าเทียมเกือบหมด แต่ยังมีบางอย่าง ที่เรายังไม่สามารถทำได้ เพราะยังเป็นเรื่องใหม่ ที่เรากำลังดำเนินการไปพร้อมกัน ส่วนคำถามว่า ทำไมไม่ทำกฎหมายนี้ให้สุดนั้น นอกจากเป็นเรื่องใหม่แล้ว ยังเกี่ยวข้องกับเวลาสภา ที่เหลือน้อยแล้ว อาจไม่เพียงพอหากต้องลงรายละเอียดมาก ซึ่งอาจจะผ่านยาก จึงมีการผลักดันพ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นหลักในการนำเข้าสภาฯ“ส่วนที่ถามถึงแนวคิดการนำผู้ต้องขังทำความสะอาดท่อระบายน้ำ เพราะผมเล็งเห็นว่า เป็นประโยชน์กับหลายฝ่าย เนื่องจากในท่อระบายน้ำมีขยะอุดตันทางน้ำ จนทำให้น้ำท่วมขัง กทม. ซึ่งนอกจากเป็นการช่วยเรื่องระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังได้ให้โอกาสผู้ต้องขังได้ทำงานบริการสังคม โดยหลังจากผู้ว่าฯกทม.ตอบรับ กรมราชทัณฑ์ ได้ก็มีการคัดเลือกผู้ต้องขังที่สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวนมากได้ 1 พันคน ซึ่งการออกมาของผู้ต้องขัง นอกจากจะได้ค่าจ้างแล้ว ยังได้รับสิทธิลดวันรับโทษด้วย รวมถึงยังเป็นการช่วยผ่อนคลาย ที่ได้ออกมาข้างนอกเรือนจำ โดยนอกจากงานลอกท่อ เราก็ยังมีการฝึกอาชีพอีกหลายอย่าง ตามโครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ที่ช่วยสร้างงาน และเตรียมพร้อมก่อนจะพ้นโทษด้วย” รมว.ยุติธรรม กล่าวนายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีความเห็นเรื่องการยกเลิกโทษประหาร ตามที่ทูตฯฝรั่งเศส ได้สอบถามมานั้น ขอเรียนชี้แจงว่า ตั้งแต่ตนเป็นรัฐมนตรีมา 3 ปี ยังไม่เคยมีการประหารชีวิตเลย แต่การยกเลิก ถ้าเราไม่มีเครื่องมือป้องกัน ประชาชนถามเรา จะตอบไม่ได้ ดังนั้น รัฐบาล ก็เลยร่างกฎหมายป้องกันสังคมถูกทำร้าย ชื่อว่า พ.ร.บ.ป้องกันกระทำผิดซ้ำในเรื่องเพศและความรุนแรง เพื่อเฝ้าระวัง คนที่เป็นผู้ต้องขังคดีร้ายแรง ที่ออกจากเรือนจำ ด้วยการเฝ้าระวังเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งเราจะขึ้นทะเบียนคนที่ต้องเฝ้าระวัง เมื่อเขาทำผิดก็จะถูกควบคุม แทนการเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันการทำผิดซ้ำ ซึ่งจะไม่เกิดคดีร้ายแรง และการพูดถึงเรื่องประหารชีวิต ก็จะไม่มี