เลือกตั้ง นายกฯสภารามคำแหง ป่วน!! ร้องศาลปกครอง ยกเลิกข้อบังคับ “อัปยศ”

385

จับตา! สภามหาวิทยาลัยรามเดินหน้า สรรหา ผู้ดำรงตำแหน่งที่จะนั่งเก้าอี้ นายกฯสภา หลังเกิดความขัดแย้ง ฝุ่นตลบจนต้องนำเรื่องฟ้องศาลปกครองกลางให้เพิกถอนข้อบังคับ”อัปยศ” ท่ามกลาง ความสนใจของลูกพ่อขุน

การประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา โดยมี นายสมบูรณ์ สุขสำราญ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นประธานการประชุม เนื่องจากนายกสภามหาวิทยาลัย อยู่ระหว่างการสรรหาตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย หลังจาก นายชีพ จุลมนต์ อดีตประธานศาลฏีกา และนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ลาออกจากตำแหน่ง

ส่วนกรณี สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เสนอข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย พ.ศ.2564 โดยไม่มีการประชุมลงมติในที่ประชุมสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัย และดำเนินการแบบเร่งรีบและนำเข้าสู่วาระจรเสนอเร่งด่วนแบบมีนัยยะสำคัญ เป็นเหตุให้นำเรื่องฟ้องศาลปกครองกลางให้เพิกถอนข้อบังคับดังกล่าว ล่าสุด คดีกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลาง ยังไม่แล้วเสร็จนายสมบูรณ์ สุขสำราญ ยังกล่าวถึงการฟ้องร้องให้เพิกถอนข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่า ข้อบังคับที่มีการแก้ไขนั้นได้ผ่านความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยแล้ว ต้องยึดเป็นบรรทัดฐาน จะทำอะไรไม่ถูกต้องไม่ได้ และย้ำว่า “การฟ้องร้องต่อศาลปกครองเป็นเรื่องของนานาทัศนะ และไม่มีผลต่อการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย และไม่ได้ทำให้การสรรหาช้าลง เหมือนการประมูลงาน มันมีระเบียบขั้นตอน ต้องมีการประกาศประมูล เปิดให้ซื้อซอง ยื่นซองประมูล เราจะไปเร่งขั้นตอนไม่ได้ ต้องเดินตามระเบียบ การฟ้องศาลปกครองก็ไม่มีผลอะไร”

ส่วนกรณีที่เกิดการถกเถียงถึงการเร่งรีบเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย ภายในเวลา 15 วันถัดจากวันประกาศ ปัญห คือ ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยด้วยการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย พ.ศ.2564 ข้อ 7 ในการเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย ให้ มาจาก 4 แหล่ง หากมองผิวเผิน เหมือนจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่สนมีส่วนร่วม แต่เมื่อพิจารณาลงลึกในรายละเอียดพบว่า “การให้เสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย พร้อมประวัติ ผลงาน ว่าเป็นผู้มีความเหมาะสม ให้ดำรงตำแหน่งต่อประธานคณะกรรมการสรรหา ภายในเวลา 15 วัน โดยเฉพาะผู้นำเสนอรายชื่อแหล่งที่ 3 ประกอบด้วย คณะ สถาบัน สำนัก วิทยาลัย ศูนย์ และส่วนราชการ ที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ มีการตั้งข้อสังเกตุว่า จะมีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินการ ได้หรือไม่ เพราะต้องแนบประวัติ ผลงาน และความเหมาะสมอื่นๆ ได้ทันภายในเวลาที่กำหนดโดยกรณีนี้ นายสมบูรณ์ สุขสำราญ เห็นว่า ไม่ติดขัดอะไร มันมีขั้นตอนในการสรรหา ที่สอบถามไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้ตอบกลับมาและขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ พร้อมยืนยัน จะทำอะไรไม่ถูกต้องไม่ได้ มันมีระเบียบขั้นตอนในการปฏิบัติ จะไปเร่งขั้นตอนไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีข้อถกเถียงถึงการ ประกาศคณะกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง เรื่อง การสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ไม่ได้ระบุขั้นตอน วิธีการในทางปฏิบัติ ถึงการเสนอชื่อโดยละเอียด โดยเฉพาะ หากคณะ หรือ สำนักใด ต้องการเสนอชื่อ นายกสภามหาวิทยาลัย ก็ต้องเร่งรีบจัดประชุมประชาคม ชาวคณะ หรือ คณะกรรมการคณะ จนได้มติที่ประชุม แล้วจึงนำเสนอคณะกรรมการสรรหาฯ

ซึ่งจากระยะเวลาของการดำเนินการ กับ วิธีการปฏิบัติของแต่ละหน่วยงาน ไม่สามารถดำเนินการได้ทันเวลา เพราะคณะกรรมการสรรหาฯ กำหนดให้ดำเนินการ ระหว่าง 27 พ.ค.-10 มิ.ย. 65 ซึ่งข้อเท็จจริง ตามคำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ 68/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ลงวันที่ 24 พ.ค.65 ระบุชัดเจนว่า….ให้คณะกรรมการดังกล่าว ดำเนินการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ประธานกรรมการฯได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้ง นั่นก็คือ การสรรหาจะอยู่ในช่วงวันที่ 24 พ.ค. 65 ถึง 23 ส.ค. 65 ซึ่งยังมีเวลาเหลือเพียงพอ โดยกรณีดังกล่าว นายสมบูรณ์ สุขสำราญ อ้างว่า “จำไม่ได้”

ประกอบกับประกาศคณะกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายดังกล่าว พบว่า อำนาจในการสรรหาเบ็ดเสร็จจะอยู่ที่คณะกรรมการสรหานายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง พบข้อมูลสภาพที่น่าสนใจ ดังนี้ 1.นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการ 2.นายสมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการ 3.ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญชาล ทองประยูร กรรมการ (ลำดับที่ 1-3 จำนวน 3 เสียงเป็นคู่กรณีอธิการบดีในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีศาลปกครอง) 4.ผู้ช่วยศาสตราจารย์สืบพงษ์ ปราบใหญ่ กรรมการ (ลำดับที่ 4 อธิการบดี เป็นคู่กรณีในฐานะผู้ฟ้องคดีศาลปกครอง) 5.รองศาสตราจารย์ปิยะ ศักดิ์เจริญ กรรมการ (ลำดับที่ 5 ประธานสภาคณาจารย์ เพิ่งได้รับตำแหน่งใหม่) 6.นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ กรรมการ 7.ศาสตราจารย์ชุติมา สัจจานันท์ กรรมการ (ลำดับที่ 6-7 เป็นบุคคลภายนอกที่สภามหาวิทยาลัยเสียงข้างมากแต่งตั้ง)8.ว่าที่พันตรีโยธิน ไพรพนานนท์ เลขานุการ และ9.ว่าที่ร้อยตรีศุภชัย ธนาเจริญสกุล ผู้ช่วยเลขานุการ (ลำดับที่ 8-9 เป็นเจ้าหน้าที่ภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนลับ) ดังนั้นเมื่อนับเสียงโหวตแล้วจะเห็นว่ามี 7 เสียง เท่านั้น แต่เป็นผู้ที่เป็นกรรมการสภา 3 คน และอีก 2 คนมาจากสภาแต่งตั้งมา รวม 5 เสียงแล้ว เห็นได้ว่าไม่ว่าเสนอใคร แต่ถ้าทางกรรมการสภา เสนอด้วย ก็คงมองภาพออกว่า ไม่ว่าคณะ สถาบัน สำนัก วิทยาลัย ศูนย์ และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ สภาคณาจารย์และอธิการบดีจะเสนอใคร ก็เหมือนไม่ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาคัดเลือก
และในขณะตอนนี้ เกิดกระแสที่ว่า คณะ สถาบัน สำนัก วิทยาลัย ศูนย์ และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ และสภาคณาจารย์ ไม่สามารถปฏิบัติตามวิธีการที่คลุมเครือและอาจเกิดความวุ่นวายในการเสนอชื่อนายกสภามหาวิทยาลัย

โดยที่หลายหน่วยงานได้ทำหนังสือถามหาถึงความชัดเจนแนวทางวิธีการปฏิบัติกับประธานคณะกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่เหมือนกับได้รับคำตอบที่เจตนายังสร้างความคลุมเครืออีกเช่นเคย เมื่อถามย้ำ นายสมบูรณ์ สุขสำราญ ว่า จะแก้ไขปัญหาความสับสนวุ่นวายในมหาวิทยาลัยอย่างไร นายสมบูรณ์ สุขสำราญ กล่าวว่า “ผมไม่เห็นมันวุ่นวายนะ เรื่องบางเรื่องมันเป็นเรื่องธรรมดา” ส่วนกรณีที่มีอาจารย์ท่านหนึ่งร้องเรียนให้สอบสวนการทำหน้าที่ของประธานกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยรามคำแหง เหมือนยังทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์นั่น มีรายงานแจ้งว่า เรื่องการร้องเรียนให้สอบสวนประธานกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้น ได้นำเข้าที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย เมื่อครั้งการประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมให้ประธานส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยชี้แจงภายใน 15 วัน จากนั้นจึงจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงอีกครั้ง