การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.อันเป็นประกาศิตสวรรค์ที่ชาวเมืองฟ้าอมรฯ เลือก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ชนะถล่มทลาย ทำลายสถิติทุกครั้งที่ผ่านมาในอดีต อะไร คือ ปัจจัยสำคัญ หรือนโยบาย กลยุทธ์ที่โดนใจ มีความเห็นหลากหลายให้ติดตาม
“นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย 1.38 ล้านเสียง คิดเป็น 51.86% จากผู้มาใช้สิทธิ 2.67 ล้านคน คิดเป็น 60.73% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 4.40 ล้านคน นับเป็นการทำลายสถิติผู้ได้ชัยชนะที่มีคะแนนสูงสุดในหน้าประวัติศาสตร์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในรอบ 45 ปี นอกจากนี้ ยังได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. โดยไม่มีการซื้อเสียงร้อยเปอร์เซ็นต์ นับเป็นการเปลี่ยนฉากภูมิทัศน์การเมืองไทยใหม่อย่างสิ้นเชิง”
เป็นความเห็นของ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เผยผลสรุปงานวิจัย เรื่อง “ทัศนคติของประชาชนต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2565”สะท้อนภาพปรากฏการณ์ “ชัชชาติ ฟีเวอร์” ที่กำลังลุกลามทั่ว กทม. ในฐานะเมืองหลวงอันเป็นศูนย์กลางของประเทศไทย โดยตัวเลขกลมๆ ที่ได้คือ 1,386,215 คะแนน จากชาว กทม.แท้ๆ ที่มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 4 ล้านคน โดยมาใช้สิทธิหย่อนบัตรลงหีบเลือกตั้ง เมื่อ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา
ขณะประชากรแฝงที่รวมๆ กันประมาณ 8-10 ล้านคน และที่สำคัญยังได้ลุกลามไปในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่เริ่มก่อหวอดอยากให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เช่นเดียวกับ กทม.ด้วย
ชั่วโมงนี้ เดินทางไปใหนมาใหน หนึ่งในหัวข้อสนทนาของบรรดา “คอกาแฟ” ตามร้านรวงต่างๆ ต้องมีเรื่อง “ชัชชาติ” รวมอยู่ด้วย เริ่มจากสิ่งใกล้ตัว บุคคลใกล้ชิด มีพี่น้องกี่คน เป็นลูกเต้าเหล่าใคร ประวัติการศึกษา ฯลฯ …ว่ากันว่า หากเอาคะแนนเสียงของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทั้งหมดอีก 29 คน มารวมกัน ยังได้ไม่เท่ากับคะแนน “ชัชชาติ” ที่ได้มา
แต่คำถามสำคัญ คือ “ชัชาติ สิทธิพันธุ์” จะบริหาร จัดการ กทม. ให้ดีขึ้นกว่าเดิม ตามที่ชาว กทม. เทคะแนนให้ได้หรือไม่ ??? เป็นเครื่องหมายคำถามตัวโต ที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ!
แม้แต่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยังออกมาเหน็บแหนม หลังพลิกดูนโยบาย 214ข้อ ที่ “ชัชชาติ” ชูธงใช้หาเสียง พร้อมกับเปรยกับคนใกล้ชิดว่า “จะใช้อำนาจอะไรมาดำเนินการ นโยบายที่นำเสนอมามีจำนวนมากแล้วจะทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งบางนโยบาย ถ้าทำได้หมดอย่างนั้นจริงอำนาจก็ยิ่งกว่านายกฯ เสียอีก”
มองในแง่กฎหมาย กทม. องค์กรปกครองท้องถิ่น อยู่ในสังกัดของกระทรวงมหาดไทย ที่มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง ดังนั้น การที่ กทม. จะดำเนินการ ขับเคลื่อนนโยบายอันใดและอย่างไร ต้องเชื่อมโยงกับรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
ย้อนกลับมาถึง กรณี “ชัชชาติ ฟีเวอร์” ยังมีความเห็นของนักวิชาการ และการสำรวจของสำนักโพลต่างๆ ออกมา สะท้อนภาพอีกหลายๆ ด้านที่นาสนใจ
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า กรณี “ชัชชาติ” นับว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งใหม่ ตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พร้อมให้เหตุผลว่า
ประการแรก มีคุณสมบัติดีเยี่ยม มีประวัติการศึกษาดีเด่น เป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดล คณะวิศกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบปริญญาโท และเอก จากสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก เคยเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ และเคยเป็น รมว.คมนาคม
ประการที่ 2 ประกาศตัวชัดเจนเป็นคนแรกลงสมัครรับเลือกตั้ง ทำให้มีเวลาเตรียมตัวนานกว่า และมีเวลาลงพื้นที่เพื่อเรียกคะแนนเสียงได้มากกว่านานกว่า
ประการที่ 3 ตัดสินใจเป็นผู้สมัครอิสระ น่าจะเป็นเพราะต้องการได้คะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยด้วย มีคนเป็นจำนวนมากไม่เชื่อว่า “ชัชชาติ” เป็นผู้สมัครอิสระอย่างแท้จริง แต่เขาสามารถทำให้ผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดทางฝั่งที่ไม่เอา “ทักษิณ” จำนวนหนึ่งเชื่ออย่างสนิทใจว่า “ชัชชาติ” ไม่เกี่ยวข้องกับ “ทักษิณ” จริงๆ ทั้งยังเชื่อมั่นว่า “ชัชชาติ” ไม่มีทางไปยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มล้มสถาบัน และไม่เพียงเชื่อผู้มีอิทธิพลทางความคิดเหล่านั้น หลายคนยังช่วยโน้มน้าวคนที่ตัวเองรู้จักให้ไปเลือก “ชัชชาติ” ด้วย
ประการที่ 4 การหาเสียงไม่สร้างความขัดแย้งและไม่ชวนทะเลาะกับใคร เป็นสาเหตุสำคัญที่ผู้นิยมพรรคก้าวไกล และคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ตัดสินใจลงคะแนนให้ “ชัชชาติ” แทนที่จะลงให้ วิโรจน์ ลัขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล
ประการที่ 5 การรณรงค์หาเสียงของ “ชัชชาติ” น่าจะอนุมานได้ว่า มีทีมทำงานที่มีคุณภาพสูง วางแผนและดำเนินการตามแผนได้เป็นอย่างดีกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ
“ไม่ว่าคุณชัชชาติเป็นผู้สมัครอิสระจริงหรือไม่ก็ตาม สังเกตได้จากปฏิกิริยาของแกนนำพรรคเพื่อไทยและตัวคุณทักษิณเอง แน่ใจได้เลยว่าฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยต้องเทคะแนนให้กับคุณชัชชาติ นี่คือความชาญฉลาดของคุณชัชชาติ ที่รู้ว่าไม่จำเป็นต้องร้องขอ คุณทักษิณ ก็ต้องสั่งให้ลูกพรรคช่วยคุณชัชชาติอยู่แล้ว” รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร กล่าวสรุปทางด้าน “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สำรวจความเห็นประชาชน เรื่อง “ผลกระทบของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ต่อการเมืองระดับชาติ” ระหว่าง 25-27 พ.ค. 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ พบว่า ร้อยละ77.76 ระบุว่า ไม่แปลกใจ เพราะเป็นคนเก่ง มีคุณสมบัติเพียบพร้อม มุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน และลงพื้นที่รับฟังเสียงจากประชาชน อย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญเห็นว่า คนกรุงเทพฯ ต้องการการเปลี่ยนแปลง
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงผลกระทบต่อการเมืองในระดับชาติ โดยตัวอย่าง ร้อยละ 38.88 มากที่สุด ระบุว่า จะส่งผลในทางลบต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลแน่นอน และเห็นสว่า สังคมไทยจะเผชิญกับความขัดแย้งหรือการแบ่งฝ่ายทางการเมืองมากขึ้น
ขณะที่ “สวนดุสิตโพล” สำรวจประชาชนกรุงเทพ ระหว่างวันที่ 24-27 พ.ค. 2565 ว่าด้วยเรื่องของผลการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพ ที่ “ชัชชาติ” ชนะถล่มทลาย ดังนี้ คนกรุงเทพฯ คิดว่าเพราะเหตุใด จึงชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยคะแนนเสียงจำนวนมาก โดยมีประเด็นที่ใกล้เคียงกับ “นิด้าโพล” คือ คนกรุงเทพฯ ต้องการการเปลี่ยนแปลง 69.52% นโยบายดี น่าจะทำได้จริง 43.83% บุคลิกส่วนตัว เป็นคนติดดิน เข้าถึงทุกคน 42.32%
นอกจากนี้ “สวนดุสิตโพล” ระบุว่า คนกรุงเทพฯ เชื่อมือ “ชัชชาติ” จะเปลี่ยนเมืองหลวงกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น 69.10% และเห็นว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยในภาพใหญ่ อันดับ 1 มีผล 46.52%สุดท้าย สิ่งที่คนกรุงเทพฯ อยากฝากถึง “ชัชชาติ” คือ อันดับ 1 ขอให้ทำตามที่หาเสียงไว้รักษาสัญญา 71.96% อันดับ 2 แก้ปัญหาต่าง ๆ เช่น จราจร น้ำท่วม ฯลฯ 63.14%
น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า จากผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นถึงความหวังของคนกรุงเทพฯ ที่มีต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า จะเป็นแนวทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงเมืองหลวงให้ดีขึ้น โดยคะแนนถล่มทลายกว่า 1.3 ล้านคะแนนนี้ เพราะคนกรุงเทพฯ ต้องการที่จะเปลี่ยนจากสิ่งเดิมๆ ที่ผ่านมา และเล็งเห็นว่า ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ มีนโยบายดี น่าจะทำได้จริง และชื่นชอบในบุคลิกส่วนตัว ที่สำคัญ คนกรุงฯ มองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะกระเพื่อมไปยังการเมืองใหญ่ด้วย ดังนั้นในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า พรรคการเมือง คงต้องทำการบ้านให้หนักขึ้น เพราะทิศทางลมของการเมืองกำลังเปลี่ยนไป และประชาชนไม่ได้ตัดสินใจบนเหตุผลแบบเดิมๆ
แต่อีกประเด็นที่น่าสนใจและชวนให้ตั้งคำถาม คืออนาคตทางการเมืองของ “ชัชชาติ” หลังพ้นตำแหน่ง จะยังลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพื่อสานงานต่อ หรือ จะขยับขยายต่อยอดไปยังการเมืองสนามใหญ่ และตำแหน่งที่ใหญ่กว่าหรือไม่ดังนั้น ถ้าคิดจะมองการเมืองให้ทะลุ อย่ามองแค่ปัจจุบัน แต่ต้องมองข้ามช็อตไปถึงอนาคต เช่นกรณี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใครจะคิดว่าจะยึดเก้าอี้นายกฯ มาเกือบ 8 ปี และทำท่าว่าจะแต่งตัวเตรียมเป็นแคนดิเดตนายกฯ อีกสมัย เช่นเดียวกับ “ชัชชาติ” แม้จะมีภารกิจหนักอยู่ตรงหน้า แต่ใครจะรู้ว่าหลังทำหน้าที่ครบวาระ 4 ปี เขามีแผนอะไรอยู่ในใจ ?
ประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีให้เห็นมาแล้ว ปี 2533 “มหาจำลอง” พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. เกิดกระแส “จำลองฟีเวอร์” เช่นเดียวกับ “ชัชชาติ ฟีเวอร์” กวาดไป 703,672 คะแนน ซึ่งสูงมากในยุคนั้น ก่อนจะกระโดดขึ้นไปสู่การเมืองสนามใหญ่ นำพรรคพลังธรรมเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ ส่วนตัว พล.ต.จำลอง นั่งรองนายกฯนายสมัคร สุนทรเวช ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ในปี 2543 หาเสียงสไตล์ถึงลูกถึงคน เรียกคะแนนนิยมจากคนกรุงถล่มทลาย กลายเป็นผู้ว่าฯ กทม. คนแรกที่ได้คะแนนทะลุหลักล้าน หลังจากทำงานครบวาระ “สมัคร” ก็หวนกลับไปเล่นการเมืองสนามใหญ่ สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ได้สำเร็จ
ย้อนมองวิถีของนักการเมืองในอดีตแล้ว อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับ “ชัชชาติ” ว่าอีก 4 ปี เขาจะตัดสินใจกับเส้นทางการเมืองอย่างไร ระหว่างลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. อีกครั้ง เพื่อสานงานต่อ หรือ จะหวนกลับไปลงการเมืองสนามใหญ่อีกครั้ง ถ้าหากเจ้าตัวเลือกที่จะต่อยอดไปสู่การเมืองระดับประเทศ
ซึ่งจะต้องบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ทอีกครั้งสำหรับการเมืองไทยในอนาคต!