“พิธา – ไอติม” อัดรัฐบาลจัดงบฯ ปี 66 ไม่ตอบโจทย์ปีแห่งการฟื้นฟูประเทศ

“พิธา” ชี้รัฐบาลจัดงบฯ ปี 66 เหมือน “ช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้” ชำแหละ 3 ปัจจัยสำคัญไม่ตอบโจทย์ปีแห่งการฟื้นฟูประเทศ ด้าน “ไอติม” ย้ำเรื่องเศรษฐกิจ-สวัสดิการประชาชน คือ 2 โจทย์สำคัญที่ยังตกหล่น

วันที่ 29 พ.ค. 65 พรรคก้าวไกล จัดกิจกรรม “Hackathon งบ 66 : ร่วมออกแบบ #งบประมาณฉบับก้าวไกล ที่เราอยากเห็น” โดยมีประชาชนร่วมตรวจสอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 และมีการนำเสนอ หลังจากมีการแบ่งกลุ่มไปตรวจสอบงบฯ ในด้านต่างๆ ตามที่สนใจ อาทิ เศรษฐกิจ เกษตรกร การศึกษา สาธาณสุข สวัสดิการ ความมั่นคง สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน รายได้รัฐ ปลดล็อกท้องถิ่น เป็นต้น

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า แผนการอภิปราย พ.ร.บ งบฯ เราต้องการที่จะชี้แจงให้เห็นว่า ปีนี้เป็นปีแห่งการฟื้นฟูประเทศ เพราะด้วยปัจจัยไม่ว่าจะเป็น

1.เรื่องสถานการณ์โควิดที่ทั่วโลกจากเคยมีผู้ติดเชื้อสูงสุด 4 ล้านคน ตอนนี้เหลืออยู่แค่ 5 แสนคน ขณะเดียวกันอัตราเสียชีวิตก็ลดลง การฉีดวัคซีนก็เยอะขึ้น การท่องเที่ยวการเดินทางเริ่มกลับมา

2. การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมาซึ่งทำให้คนมีความหวังผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งปีหน้าก็จะมีการเลือกตั้งใหญ่ด้วย

3. บทอวสานของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ที่ครบ 8 ปีแล้ว ซึ่งอาจจะต้องสิ้นสุดลง

ทั้ง 3 ปัจจัยนี้คือสิ่งที่ตนเห็นว่าคือความหวัง และเราต้องสร้างความหวังด้วยการจัดงบฯ ปีนี้ให้ดี เพื่อให้ประเทศไทยไปข้างหน้าและสามารถปรับตัวได้ใน 10 ปี แต่ถ้ายังจัดงบฯ แบบเดิมๆ ในทางตรงกันข้ามก็จะถอยหลังไปอีก 10 ปี เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ปีนี้เป็นปีที่มีความสำคัญมากๆ น้ำขึ้นต้องรีบตัก ซึ่งจะตักได้มากก็ขึ้นอยู่กับว่ากระบวยของประเทศนั้นใหญ่แค่ไหน แต่ถ้ากระบวยยังเท่าเดิม คือจัดสรรงบแบบเดิมก็ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์

“เมื่อดูการจัดงบฯ ปี 2566 แล้ว เปรียบไปก็เหมือนกับว่าเป็นการจัดงบฯ ในลักษณะเป็นช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้ เพราะถ้าไปดูที่ได้รับมากที่สุดก็คือ งบกลาง 8 แสนกว่าล้าน และนอกจากนี้ 80 เปอร์เซ็นต์ ก็ถูกใช้ไปกับงบฯ บำนาญและสวัสดิการข้าราชการ ส่วนถ้าไปดูงบฯ ที่ปรับสูงมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีที่แล้วคืองบฯ รัฐวิสาหกิจ โดยหน่วยรับที่ได้สูงสุด คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธกส. ซึ่งปรากฏว่าก็เป็นงบฯ ที่จ่ายอุดหนุนการเกษตรที่ย้อนหลังไปจนถึงปี 2551 จึงอาจกล่าวได้ว่า แทนที่จะเป็นการจัดงบฯ เพื่อฟื้นฟูไปสู่อนาคต แต่เป็นการจัดงบฯ ของอดีต สมมติว่าประเทศเราเก็บภาษีได้ 100 บาท พบว่า 70 บาทถูกใช้จ่ายกับอดีตจนหมดเลย ทั้งเงินบำนาญและสวัสดิการข้าราชการ เงินกู้ จะมีเหลืออยู่เพียง 30 บาทที่สำหรับบริหารในอนาคต”นายพิธา กล่าว

ด้าน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เป้าหมายในการทำงานงบประมาณในปีนี้ ไม่ใช่แค่การตั้งคำถามกับการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลอย่างเดียว แต่ยังเป็นการตั้งความหวังกับประชาชนด้วยว่า ถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล เรามองเรื่องการจัดสรรงบประมาณอย่างไร

สำหรับการจัดงบฯ ในครั้งนี้ถ้าถามถึงสิ่งที่ยังตกหล่นอยู่ ตนคิดว่า 2 โจทย์ คือ โจทย์แรกเรื่องของเศรษฐกิจ เราจะหาเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ได้อย่างไร ที่จะมาขับเคลื่อนไปเคียงข้างไปกับกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่จะต้องใช้เวลาปีนี้ในการฟื้นฟู แต่ทว่าเราก็เห็นว่างบฯ ปี 2566 นั้น งบฯ การลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ และยิ่งเมื่อไปดูรายละเอียดก็เห็นว่างบฯ ส่วนใหญ่ใช้ไปกับการสร้างถนนหนทาง และโจทย์ที่สอง คือเรื่องสวัสดิการ ที่ประชาชนทุกช่วงวัยกำลังเดือดร้อนอย่างทั่วหน้า แต่เราก็ไม่เห็นว่างบฯ ปีนี้ถูกตั้งมาเพื่อดูแลประชาชนเหล่านั้น