ปรากฏการณ์ “อุ๊งอิ๊ง” สะท้อนภาพ ตอกย้ำ การเมืองไทยครบรอบ8ปีรัฐประหาร

ภาพ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็ก “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ช่วยผู้สมัคร ส.ก.พรรคเพื่อไทย (พท.) หาเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย ของการทำศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร บ่อยครั้ง

เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่น่าสนใจ เพราะ “อุ๊งอิ๊ง” ในฐานะหัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย และยังเป็นบุคคลลำดับต้นๆ ที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ด้วยสโลแกน “แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน”

ที่สำคัญ ขณะ “อุ๊งอิ๊ง” เดินเคาะประตูบ้าน เพื่อขอคะแนนให้ผู้สมัครอย่างเป็นกันเอง จนชาวบ้านที่เป็นแฟนคลับพรรคเพื่อไทย ต่างเอ็นดู กล่าวทักทายว่า “หน้าเหมือนพ่อ คิดถึงพ่อเหลือเกิน” ซึ่งเธอได้ตอบกลับว่า “คิดถึงพ่อให้มองหน้าลูกไปก่อน” ขณะที่ผู้สูงอายุบางคน ได้บอกตอกย้ำว่า อยากให้เป็นนายกฯ เหมือนพ่อ

แน่นอน การหาเสียงของ “อุ๊งอิ๊ง” ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คะแนนเสียงที่ได้ ย่อมหนีไม่พ้น “ทักษิณ -ยิ่งลักษณ์” และต้องยอมรับความจริงว่า มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงคิดถึงและจดจำนโยบาย ของอดีตนายกฯ สองพี่น้องตระกูล “ชินวัตร” ที่ หลายเรื่อง โดนใจชาวรากหญ้า ไม่ว่าจะเป็น “30 บาทรักษาทุกโรค” หรือ “จำนำข้าว” ที่กลั่นออกมาจากมันสมองของ ไทยรักไทย พลังประชาชน ก่อนจะมาถึง เพื่อไทย ประดิษฐ์ประดอย กลั่นกรองขึ้นมา

และที่สำคัญ ทั้ง “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ต่างและล้วนตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ด้วยการถูกยึดอำนาจโดยปากกระบอกปืนจาก คณะรัฐประหาร อันเป็นชะตากรรมอันเจ็บปวด ที่หลายฝ่ายในซีกประชาธิปไตย ได้แสดงออกมาด้วยความเห็นอกเห็นใจ
อีกประเด็นที่ มองข้ามไม่ได้ เมื่อ “อุ๊งอิ๊ง” ในฐานะคนรุ่นใหม่ ถูกชูให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กลายเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในการเลือกตั้งครั้งใหญ่ และย่อมเป็น “ดาบสองคม” ให้กับกลุ่มมวลชนจำนวนมากอีกกลุ่ม ที่อยู่ตรงข้ามกับทักษิณและพรรคเพื่อไทย

จะมองว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะอย่างไร ก็คือ “นอมินี” หรือ “ร่างทรง” ของ “ชินวัตร” อีกทั้งการเดินเกมพรรคเพื่อไทย โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค และเหล่าพลพรรคช่วงนี้ ที่มุ่งไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปีสุดท้ายก่อนไปเลือกตั้ง จะสอดรับประสานกันทั้งนอกและในสภา เพื่อล้มรัฐบาลบิ๊กตู่ นอกเหนือจากประเด็นการดำรวงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี ที่กำลังมีผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

รวมถึงประเด็น กระแสความแตกแยกบาดหมาง ในพรรค พปชร. และ ความสัมพันธ์ของ “พี่น้อง 3 ป.” ไล่มาตั้งแต่ เกิดข่าวลือ “บิ๊กป้อม” ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร. อยากนั่งนายกฯ แทน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เรื่องนี้ ผู้สันทัดกรณีทางการเมืองอย่าง ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย มองว่า การเมืองไทย อันไหนข่าวจริง ก็จะบอกว่า เป็นข่าวลือ อย่างกรณี “บิ๊กป้อม” ไปเจรจา “ทักษิณ” ที่ต่างประเทศ เพราะกลัวแค่ 2 พยางค์ คือคำว่า “แลนด์สไลด์” ซึ่ง “ทักษิณ” ก็รู้เรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นเวลาคุยกับใคร ก็จะบอกว่าจะ “แลนด์สไลด์อย่างเดียว” แต่ข้อเท็จจริง โดยส่วนตัว ไม่คิดว่า พรรคเพื่อไทยจะทำ “แลนด์สไลด์” ได้ แต่ที่ชัดเจน 100% “อุ๊งอิ๊ง” จะมีชื่อในบัญชีรายชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย แน่ และใช้ยุทธวิธีพยายามให้พี่น้อง ”เสื้อแดง” ที่แตกจากพรรคเพื่อไทยให้กลับมาเข้าพรรค

นายชูวิทย์ กล่าวอีกว่า วิธีการที่ “อุ๊งอิ้ง” ทำเป็นการเรียกร้องให้พี่น้องที่แตกออกไปกลับมา แต่เมื่อเอากลุ่มคนเสื้อแดงกลับมา ก็จะส่งผล “โมเมนตัม” ไปอีกฝั่งทันที เมื่อปรากฏมีกลุ่มพี่น้องเสื้อเหลืองกลับเข้ามาอีก ความขัดแย้งก็จะปะทุกลับมา ผีกลุ่มต่างๆ จึงฟื้นคีนชีพ เป็น “แฟรงเกนสไตน์” การเมืองส่อกลับมาเหมือนเดิม การที่พรรคเพื่อไทยพยายามแยกตัวจากพรรคก้าวไกล นายทักษิณ เข็ด นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ ดังนั้น ให้นายกฯ เป็นคนในตระกูล ”ชินวัตร” ดีกว่า และ “อุ๊งอิ๊ง” เหมาะสมที่สุด ในฐานะ “คนรุ่นใหม่” และกำลังได้รับการสันบสนุนจากหลายๆ ฝ่าย
ขณะ “บิ๊กตู่” หากครั้งนี้เลือกตั้งแพ้ แต่ไม่ราบคาบ เพราะ “บิ๊กตู่” ไม่ได้อยู่สังกัดพรรคใด ใครมาเชิญก็มาเป็นนายกฯ ได้ เชื่อเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า พลังประชารัฐ คะแนนเสียงตกแน่ 100% แต่การตกของ พปชร. ก็ยังมีข้อดีที่ “บิ๊กตู่” ที่คุมอำนาจรัฐมา 8 ปี มีอิทธิพลต่อหน่วยงานราชการจำนวนมาก ดังนั้นเชื่อว่า พปชร. มีประกาย แม้ตัวเองแม้คะแนนตกหลังเลือกตั้ง เชื่อว่า มีโอกาสเกิดรัฐบาลผสม ระหว่างพรรคเพื่อไทย (พท.) กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แน่

แต่ยังเชื่อว่า พปชร. หวังใช้สูตรเดิม จับมือกับ “ภูมิใจไทย-ปชป.” ซึ่งก็ต้องดูผลคะแนนเลือกตั้งใหญ่ในตอนท้าย ถึงจะเลือกได้ว่า จะร่วมรัฐบาลกับ หรือเลือกภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ (ปชป.) แต่แน่นอนหากเพื่อไทยจับกับ พปชร. พรรค ปชป.ก็จะต้องไปเป็นฝ่ายค้าน แต่เน้นต้องดูคะแนนหลังเลือกตั้งเป็นสำคัญ!

นายชูวิทย์ กล่าวต่อว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งหน้า ไม่เชื่อว่า จะล้มรัฐบาลบิ๊กตู่ได้ เหตุผลต้องไปถาม “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการเศรษฐกิจไทย กล้าอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่ ? แต่เชื่อว่า คงไม่ แสดงว่าการอภิปรายฯ ก็เป็นเพียงละครฉากหนึ่งเท่านั้น และมีการเจรจาแน่ ไม่ว่าจะอภิปรายฯอย่างไร รัฐบาลก็ยังอยู่
อย่างไรก็ดี เรื่องที่สำคัญน่าเป็นห่วงและอาจเป็น “เงื่อนตาย” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม คือ กรณีนั่งเก้าอี้นายกฯ ครบ 8 ปี หรือไม่ มากกว่า “สมมติศาล รธน.ตัดสินนั่งนายกฯ ครบ 8 ปี จริง คนต้องลงหลังเสือ ทำอย่างไรไม่ให้เสือกัด ก็ต้องเลือกคนกันเอง “บิ๊กป้อม” เป็นนายกฯ สำรองฉุกเฉินเพื่อรักษาการ จัดการเลือกตั้ง ระยะเวลา 8-9 ปี การที่ได้คุมอำนาจรัฐ ก็ดูทั้งกองทัพ-ข้าราชการต่างๆ ก็มีคุณค่ากับพรรค พปชร. มหาศาล” นายชูวิทย์ กล่าว

ส่วนสูตรการเลือกตั้ง จะหารด้วย 100 หรือ 500 อะไรดีกว่านั้น นายชูวิทย์ ยืนยัน ส่วนตัวเชื่อว่า ต้องหารด้วย 100 ไม่ใช่หารด้วย 500 กลุ่มพรรคเล็ก ที่เคยจับพลัดจับผลูฟลุกได้ 3 หมื่นคะแนน แล้วได้มา 1 เสียง จะไม่มีอีกต่อไป ดังนั้น พรรคขนาดกลาง อย่างพรรคสร้างอนาคตไทย ของกลุ่ม 4 กุมาร หรือพรรคเศรษฐกิจไทย ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และพรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จะมีภาษีดีกว่า

จากนี้ จับตากันดูให้ดี การเมืองจะยิ่งร้อนแรงนับตั้งแต่หลังสภาเปิด อุปสรรคใหญ่หลวงจะถาโถมสู่ “รัฐนาวาบิ๊กตู่” ลำนี้ เป็นระลอก ดูสิจะฝ่าคลื่นลมที่รุนแรงไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่? งานนี้ห้ามกระพริบตา! ขึ้นชื่อว่าการเมืองอาจเกิดอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อ !

และทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง “รัฐประหาร” มักจะกลายเป็น “ทางออก” เมื่อประเทศประสบวิกฤตแทบทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. วันที่ 22 พ.ค.2565 จะเป็นการบังเอิญหรือไม่ ดันไปตรงกับ วันที่ 22 พ.ค.2557 ซึ่งเป็นวันที่ “บิ๊กตู่” ใช้กำลังทหารยึดอำนาจจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นวันครบรอบ 8 ปีรัฐประหารโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อ 21 พ.ค.65 ว่า พรุ่งนี้จะเป็นวันที่รัฐบาลดิฉันถูกยึดอำนาจไป 8 ปีแล้ว สำหรับบางคนดูเหมือนจะนาน แต่ความทรงจำช่วงนั้น ยังคงชัดเจนทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการออกมาประท้วงให้ยุบสภาผ่านการชัตดาวน์กรุงเทพมหานคร ปิดกั้นการทำงานของหน่วยงานราชการ แม้ดิฉันได้คืนอำนาจให้กับพี่น้องประชาชน แต่ก็มีการขัดขวางการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้กลไกประชาธิปไตยทำงานเพื่อทำให้บ้านเมืองเกิดสุญญากาศทางการเมืองประเทศถึงทางตัน เป็นเหตุให้นำไปสู่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ดิฉันจำได้ดีภาพที่หัวหน้าคณะรัฐประหารได้ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ เพื่อประกาศยึดอำนาจพร้อมกับบอกว่า รัฐบาลทำบ้านเมืองเสียหาย จึงยึดอำนาจและจะคืนความสุขให้กับคนไทยโดยเร็ว 8 ปีผ่านไป หากคณะรัฐประหารสามารถบริหารประเทศให้มีความเจริญมั่งคั่ง ภาพจำเมื่อ 8 ปีก่อนคงจะเลือนรางลง หรือไม่มีใครนึกถึง แต่วันนี้ภาพนั้นกลับชัดเจนเด่นมากขึ้น เพราะบุคคลที่ยึดอำนาจไม่สามารถ “turn on” ประเทศไทยได้ ตามที่สัญญาไว้
มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย เมื่อวันนี้ เดินทางมาถึง เป็นคำถาม พุ่งตรงไปสู่การประเมินผล 8 ปี ของสังคมไทย ภายหลังการรัฐประหาร เป็นคำถามที่ก่อให้เกิดคำตอบที่แตกต่างเป็นอย่างมากระหว่าง 2 คำตอบ จากฝ่ายที่ชื่นชม และไม่ชื่นชม ฝ่ายที่ไม่ชื่นชม มิได้มีเพียงแต่จากคนซึ่งเคยขัดแย้งกันตั้งแต่ก่อน รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 หากแต่แม้กระทั่งผู้ที่เคยมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ ก่อนเดือนพฤษภาคม 2557

ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่ยังชื่นชม และให้การรับรองก็ยังเป็นคนหน้าเก่า ซึ่งเคยมีบทบาทในฐานะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และมวลมหาประชาชน กปปส. ไม่ว่าจะเป็น สุเทพ เทือกสุบรรณ , พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ เสรี วงศ์มณฑา แต่น่าแปลกที่ไม่มีการจัดงานเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครสามารถให้ความมั่นใจได้ว่า รัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีกในสังคมไทย เพราะเมื่อเกิดสถานการณ์ร้อนแรงขึ้นมาคราใด กลิ่นของรัฐประหารก็โชยกรุ่นทุกครั้ง สะท้อนให้เห็นสำนึกที่ดำรงอยู่หนักแน่นภายในสังคม นั่นก็คือ มีความรู้สึกร่วมว่าเมื่อเกิดปัญหาในทางการเมืองก็มักจะหาทางออกโดยกระบวนการ ”รัฐประหาร”

เมื่อเกิดขึ้นมามาแล้ว 13 ครั้ง เหตุใดในอนาคตจะไม่มีครั้งที่ 14 ตามมาอีก!