“ศักดิ์สยาม”สั่ง ทล.ทุ่ม1,930ล. ลุย “เมกะโปรเจกท์” ถนนท่องเที่ยว-ระเบียงศก.ใต้

“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” สั่ง กรมทางหลวง ทุ่มงบฯ 1,930ล้าน เดินหน้า “เมกะโปรเจกท์” ตัดถนน “กะเปอร์-สุขสำราญ” ส่งเสริมการท่องเที่ยวแนวชายฝั่งทะเลภาคใต้ ขยายเป็น 4 ช่องทางจราจร

วันที่ 19 พ.ค.2565 นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้มอบนโยบายให้ ทล. ดำเนินโครงการสำรวจและออกแบบโครงข่ายสนับสนุนการท่องเที่ยวตามแนวชายฝั่งทะเลภาคใต้ ด้านตะวันตกบนทางหลวงหมายเลข 4 สาย อำเภอกะเปอร์ – อำเภอสุขสำราญ จ.ระนอง โดยสำนักสำรวจและออกแบบ ขานรับนโยบายดังกล่าว จึงเร่งสำรวจและออกแบบเพื่อขยาย ทล.4 (ถ.เพชรเกษม) ให้มีขนาด 4 ช่องจราจร เนื่องจากสภาพเส้นทางเดิมเป็นทางลาดยางแบบแอสฟัลท์ติกคอนกรีตขนาด 2 ช่องจราจร พื้นที่เป็นที่ราบสลับลูกเนินทำให้การเดินทางและการขนส่งสินค้าไม่ได้รับความสะดวกโดยมีจุดเริ่มต้นโครงการที่ กม. 648+000 พื้นที่ ต.กะเปอร์ อ.กะเปอร์ จ.ระนอง แนวเส้นทางจะผ่านโรงพยาบาลกะเปอร์ ทล.4130 ไป บ้านนา และตัดผ่านชุมชน บ้านชาคลี และบ้านบางมัน จนกระทั่งสิ้นสุดโครงการที่ กม. 673+800 (บริเวณบ้านบางมัน) อยู่ในพื้นที่ ต.นาคา อ.สุขสำราญ จ.ระนอง โดยใช้วงเงินงบประมาณในการก่อสร้าง 1,930 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดเตรียมรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อจัดส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2568 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีสำหรับรูปแบบโครงการได้ออกแบบรูปตัดทางหลวงหลายรูปแบบแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิประเทศมี 3 ลักษณะ คือ 1. รูปแบบโดยทั่วไปบริเวณพื้นที่ราบและลูกเนินดำเนินการออกแบบ ขนาด 4 ช่องจราจร (ไป – กลับทิศทางละ 2 ช่องจราจร) มีเกาะกลางแบบแท่งแบริเออร์ (Median Barrier) ความกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.20 เมตร เกาะกลางแบบแท่งคอนกรีตกว้าง 3 เมตร 2. บริเวณพื้นที่ผ่านย่านชุมชน ออกแบบเป็นทางขนาด 8 ช่องจราจร อาทิ บริเวณพื้นที่ บ.บางหิน ออกแบบขนาด 8 ช่องจราจร มีขนาดช่องจราจรสายหลัก จำนวน 4 ช่องจราจร (ไป – กลับ ทิศทางละ 2 ช่องจราจร) เกาะกลางแบบแท่งแบริเออร์ (Median Barrier)3. แนวเส้นทางโครงการช่วงตัดผ่านพื้นที่ภูเขาชาคลี รูปตัดทางหลวงจะเป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร (ไป – กลับ ทิศทางละ 2 ช่องจราจร) ความกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.20 เมตรทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยยกระดับโครงข่ายทางหลวงสนับสนุนการท่องเที่ยวตามแนวชายฝั่งทะเลภาคใต้ด้านตะวันตก รองรับการเดินทางและภาคขนส่งในพื้นที่ภาคใต้ อันเป็นฟันเฟืองสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 และแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (พ.ศ. 2566 – พ.ศ. 2570) รวมทั้งสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่จังหวัดระนองตามแนวทางการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor : SEC) และความเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์หรือสะพานระเบียงเศรษฐกิจ) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคและประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน