ก.อ. มติเอกฉันท์ ลงโทษนายเนตร นาคสุข ให้ออกจากราชการ ปม สั่งไม่ฟ้องบอส อยู่วิทยา โดยเปลี่ยนแปลงความเร็วของรถหรู จาก 179 กม./ชม.เป็น 79 กม./ชม.
วันที่ 18 พ.ค. 65 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ นายพชร ยุติธรรมดำรง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) โดยมีวาระสำคัญเกี่ยวกับบทลงโทษนายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด กรณีมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหา คดีขับรถหรู ชนดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจสังกัด สน.ทองหล่อ เสียชีวิต
นายพชร ได้กล่าวว่า คณะกรรมการก.อ. ได้มีการประชุมเรื่องสำคัญ 2 เรื่องด้วยกัน โดยเรื่องของนายเนตร เป็นเรื่องที่ค้างมานานและสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้งสอบวินัยร้ายแรง ในข้อหามีการสั่งคดีโดยขาดความรอบคอบอย่างยิ่ง และผิดวินัยร้ายแรงตามพระราชบัญญัติ ม.71 และ ม.85 (7) โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ของคณะกรรมการสอบสวนว่าการกระทำของนายเนตร นาคสุข ในคดีของบอส อยู่วิทยา เป็นการสั่งคดีที่ใช้ดุลพินิจไม่รอบคอบ และทำให้สำนักงานอัยการสูงสุดเสียหายอย่างร้ายแรง
โดยมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขความเร็วรถของ บอส อยู่วิทยา โดยการสอบสวนชั้นต้นบอกว่ามีการใช้ความเร็วประมาณ 179 กม./ชม. ต่อมามีการแก้ไขความเร็วในชั้นต้นจากเดิม 179 กม./ชม. เป็น 79 กม./ชม. ซึ่งไม่ให้เกิน 80 กม./ชม. เพื่อให้เห็นว่ารถยนต์ของบอส อยู่วิทยา ใช้ความเร็วไม่เกินที่กำหนด
ซึ่งภายหลังผู้เชี่ยวชาญได้ยอมรับว่าการแก้ไขความเร็วเป็นการแก้ไขที่มีการร้องขอหรือมีการทำให้เบี่ยงเบนไปในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม และเมื่อนายเนตร มีการใช้ความเห็นดังกล่าวมาประกอบดุลพินิจสั่งไม่ฟ้อง บอส อยู่วิทยาทั้งที่บอส อยู่วิทยา นั้นได้ขอความเป็นธรรมถึง 13-14 ครั้ง มาก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้ยอมรับความเห็นของพยาน 2 ปาก ได้แก่ นายจารุชาติ มาดทอง และ พลอากาศโทจักรกฤช ถนอมกุลบุตร เนื่องจากพยานทั้ง 2 มาหลังเกิดเหตุประมาณ 2 ปี ขณะที่มีพยานอีก 1 ปาก ที่มีสัญชาติเมียนมาร์ ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุและเห็นเหตุการณ์
จากการดำเนินการดังกล่าวทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อต่างประเทศรวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ถึงกระบวนการยุติธรรม ทำให้สะท้อนถึงพื้นฐานการสอบสวนที่ไม่ถูกต้อง มีการแก้ไขการสอบสวน มีการนำการสอบสวนที่มิชอบมาสั่งคดี เพราะฉะนั้น คณะกรรมการ ก.อ. ทั้ง 14 ท่านในวันนี้ จึงมติเป็นเอกฉันท์ว่าการกระทำของนายเนตร ผิดวินัยร้ายแรง และไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับความคุ้มครอง
ทั้งนี้ การสั่งคดีของนายเนตร ไม่ได้มีเรื่องของการทุจริตมาเกี่ยวข้อง จึงลงโทษให้ปลดจากราชการ แต่เนื่องจากนายเนตรรับราชการมานานและไม่เคยประพฤติตัวเสื่อมเสียมาก่อนจึงลดโทษเหลือ ให้ออกจากราชการ อีกประเด็นหนึ่ง คือการตั้งกรรมการสอบสวนนายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม จากการสอบสวนชั้นต้นกับนายชัยณรงค์ ให้การยอมรับว่าได้มีส่วนในการแก้ไขความเร็วจริง โดยหลังจากนี้จะมีการสอบสวนวินัยร้ายแรงนายชัยณรงค์ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป