“อนุทิน ชาญวีรกูล” รมว.สาธารณสุข ร่วมประชุมเวที รัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่15 ที่บาหลี ก่อนประสบความสำเร็จ ผลักดัน ให้ไทย เป็นที่ตั้งสำนักงานเลขาธิการ ACPHEED รับมือภัยสาธารณสุขฉุกเฉิน-โรคอุบัติใหม่
วานนี้ (14 พ.ค.65 ) ที่ โรงแรมคอนราด บาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข และ คณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 15 (15th ASEAN Health Ministers Meeting) มีสาระสำคัญ คือการร่วมกันผลักดันให้ไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียน ด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ( ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) หลังจากที่ประเทศสมาชิกอาเซียนมีการเจรจาเพื่อเลือกประเทศที่ตั้งของศูนย์นี้มานานกว่า 2 ปีโดยสามารถบรรลุข้อตกลงอย่างเป็นเอกฉันท์ได้ในการประชุมระดับรัฐมนตรี และที่ประชุมได้เลือกประเทศไทย เป็นที่ตั้งของศูนย์ดังกล่าว โดยจะทำการเปิดสำนักงานฯ ในเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งนับเป็นความสำเร็จอย่างมาก ภายหลังทราบผลการพิจารณา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมพิธีเปิดสำนักงานด้วย
สำหรับศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) จะมีภารกิจสำคัญในการเสริมสร้างขีดสมรรถนะของภูมิภาคอาเซียนในการเตรียมความพร้อม การป้องกัน ตรวจจับ และตอบโต้ต่อภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ในสถานะที่เป็นศูนย์ความเป็นเลิศและเป็นศูนย์รวมทรัพยากรบุคคลของภูมิภาค” รายงานระบุว่า ประเทศไทยได้เสนอตัวเป็นประเทศที่ตั้งศูนย์ โดยมีประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามเสนอเข้ามาเป็นตัวเลือกเช่นกัน ซึ่ง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม หลังจากมีการหารือ 3 ฝ่าย (Trilateral meeting) ระหว่างรัฐมนตรีสาธารณสุขไทย อินโดนีเซียและเวียดนาม ได้เห็นชอบให้ทั้ง 3 ประเทศเป็นที่ตั้งศูนย์ตามภารกิจหลักของ ACPHEED โดยมีสำนักงานเลขาธิการของ ACPHEED อยู่ในประเทศไทย นับเป็นความสำเร็จที่สำคัญของอาเซียน รวมถึงทีมสาธารณสุขไทยโดยการนำของนายอนุทิน ที่สามารถผลักดันให้ประเทศไทยมีบทบาทนำในการจัดตั้ง ACPHEEDนอกจากนั้น ที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนยังได้สั่งการให้ข้าราชการประจำระดับสูง (Senior Official Meeting on Health Development, SOMHD) จัดทำข้อตกลงการจัดตั้งศูนย์ (Established Agreement) ให้เริ่มการประชุมครั้งแรกในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2565 และให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565
ขณะที่ ในวันนี้ (15 พ.ค. 65) ผู้สื่อข่าวเปิดเผยว่า นายอนุทิน ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวง เข้าร่วมประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาเซียน บวก 3 (จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) การประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ทั้งยังได้หารือแบบทวิภาคีในประเด็นความร่วมมือด้านสาธารณสุข กับนานาชาติ อาทิ รัฐมนตรีสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา และรัฐมนตรีสาธารณสุขสิงคโปร์ อีกด้วยรายงานข่าวระบุด้วยว่า นายอนุทิน ได้กล่าวถึงการพูดคุยในวงประชุมรัฐมนตรี สธ.อาเซียน บวก 3 (จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) ระบุว่า อาเซียน และทั้ง 3 ประเทศ ต่างแสวงหาความร่วมมือในภูมิภาค เพื่อควบคุมโควิด-19 เช่น การสำรองเวชภัณฑ์ เพื่อรองรับเหตุฉุกเฉิน ASEAN Regional Reserve of Medical Supplies for Public Health Emergencies or RRMS ซึ่งทั้ง 3 ชาติ พร้อมสนับสนุนอาเซียน ปัจจุบันนี้ อาเซียนมีโครงการพึ่งพาตัวเองเรื่องวัคซีน(The ASEAN Vaccine Security and Self-Reliance or AVSSR) โดยที่สุดแล้ว ภูมิภาคนี้จะสามารถผลิตวัคซีนได้เอง และแน่นอนว่า อาเซียนยินดีต้อนรับการสนับสนุนจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ขณะที่การหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ ไทยได้รับคำขอบคุณเรื่องการให้บริการวัคซีนโควิด-19 แก่พลเมืองสหรัฐฯ อย่างครบถ้วนโดยภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจ มีรายงานข่าวว่า นายอนุทิน ได้ร่วมผลักดันยุทธศาสตร์การวางระบบสุขภาพในภูมิภาคอาเซียน ณ โอกาสนี้ นายอนุทิน ได้เล่าเรื่องการควบคุมโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งได้รับเลือกจากองค์การอนามัยโลกว่าเป็นหนึ่งในประเทศ ที่คุมโควิด-19 ได้ดี มีประสิทธิภาพ และประสบการณ์ของไทย จะได้รับการเผยแพร่ เป็นประสบการณ์ ให้นานาประเทศได้รับทราบ เพื่อนำไปปรับใช้ความสำเร็จที่กล่าวมา นายอนุทิน ได้กล่าวชื่นชม ความร่วมแรงร่วมใจจากภาคประชาชน และทุกภาคส่วน ที่เข้ามาช่วยกันควบคุมโรค นอกจากนั้น ระบบหลักประกันสุขภาพของไทย ก็เข้มแข็งมาก เพราะมีการพัฒนามาตลอด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งการพัฒนาระบบสุขภาพของไทย มาจากการเรียนรู้ความสำเร็จของนานาชาติเช่นกันปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพ ดูแลคนไทยครอบคลุมประชากรแล้ว รวมไปถึงแรงงานนับ 10 ล้านคน โดยให้ความสำคัญไปถึงการดูแลสุขภาพแก่ชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย แรงงานต่างชาติ สามารถเข้าถึงระบบสุขภาพของไทย เช่นนี้เอง จึงทำให้ระบบสุขภาพในประเทศ สามารถเข้าไปจัดการกับปัญหาโควิด-19 ได้อย่างดี