ผลสำรวจโค้งสุดท้าย “ชัชชาติ” ยังนำโด่ง ชิงผู้ว่าฯกทม. ตามด้วย “อัศวิน-วิโรจน์”

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) เผยแพร่ผลสำรวจเรื่อง “สนามเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. 65 รอบที่ 3” สอบถามความคิดเห็น ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 50 เขต กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,354 คน ระหว่างวันที่ 9-10 พ.ค. 2565 พบว่า

1.สำหรับ 3 อันดับแรก ของบุคคลที่ประชาชนจะเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. พบว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (ผู้สมัครอิสระ) ยังคงมีคะแนนความนิยมผู้สมัครคนอื่นๆ อย่างมาก อีกทั้งยังเพิ่มขึ้นกว่าการสำรวจครั้งก่อนด้วย กล่าวคือ การสำรวจรอบที่ 1 อยู่ที่ร้อยละ 38.84 รอบที่ 2 ร้อยละ 44.58 และรอบล่าสุดซึ่งเป็ยรอบที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 45.13 โดยเหตุผลของการเลือกนายชัชชาติ คือเป็นคนมุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน มีภาวะการเป็นผู้นำ มีความน่าเชื่อถือ

ขณะที่ผู้สมัครที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 ของโพลนี้ คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง (ผู้สมัครอิสระ) การสำรวจรอบที่ 1 อยู่ที่ร้อยละ 10.06 รอบที่ 2 ร้อยละ 11.27 และรอบล่าสุดซึ่งเป็ยรอบที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 11.37 โดยเหตุผลของการเลือก พล.ต.อ.อัศวิน คือ ทำงานด้วยความตั้งใจ มีประสบการณ์ และต้องการให้เข้ามาสานต่องานที่ได้ทำไว้ ตามมาด้วยอัยดับ 3 คือ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร (ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล) การสำรวจรอบที่ 1 อยู่ที่ร้อยละ 6.02 รอบที่ 2 ร้อยละ 6.93 และรอบล่าสุดซึ่งเป็ยรอบที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 9.75 โดยเหตุผลของการเลือก นายวิโรจน์ คือ เป็นคนรุ่นใหม่ มีวิสัยทัศน์ กล้าคิด กล้าทำ

ส่วนอันดับ 4 ได้แก่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์) การสำรวจรอบที่ 1 อยู่ที่ร้อยละ 6.83 รอบที่ 2 ร้อยละ 8.99 และรอบล่าสุดซึ่งเป็ยรอบที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 8.94 เหตุผลของการเลือก ศ.ดร.สุชัชวีร์ เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ มีความรู้ความสามารถ อันดับ 5 นายสกลธี ภัททิยกุล (ผู้สมัครอิสระ) การสำรวจรอบที่ 1 อยู่ที่ร้อยละ 2.28 รอบที่ 2 ร้อยละ 3.17 และรอบล่าสุดซึ่งเป็ยรอบที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 3.77 เหตุผลของการเลือก นายสกลธี เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ มีวิสัยทัศน์ มีประสบการณ์ทำงาน

อันดับ 6 น.ส.รสนา โตสิตระกูล (ผู้สมัครอิสระ) การสำรวจรอบที่ 1 อยู่ที่ร้อยละ 1.98 รอบที่ 2 ร้อยละ 2.28 และรอบล่าสุดซึ่งเป็ยรอบที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 3.32 เหตุผลของการเลือก น.ส.รสนา เพราะ เป็นคนที่ทำงานด้วยความตั้งใจ มีผลงานเพื่อสังคม และอันดับ 7 น.ต.ศิธา ทิวารี (ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย) การสำรวจรอบที่ 1 อยู่ที่ร้อยละ 1.47 รอบที่ 2 ร้อยละ 2.51 และรอบล่าสุดซึ่งเป็ยรอบที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 2.29 เหตุผลของการเลือก น.ต.ศิธา เพราะชื่นชอบนโยบายและเชื่อมั่นในพรรคไทยสร้างไทย

2.ความเห็นทำนองว่ายังไม่ตัดสินใจจะเลือกใคร โดยให้เหตุผล เช่น ขอดูการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครก่อน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ยังหาคนที่จะทำตามนโยบายให้ชัดเจนไม่ได้ พบว่า ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากการเปรียบเทียบการสำรวจทั้ง 3 รอบ กล่าวคือ การสำรวจรอบที่ 1 อยู่ที่ร้อยละ 26.58 รอบที่ 2 ร้อยละ 11.42 และรอบล่าสุดซึ่งเป็ยรอบที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 9.23 เช่นเดียวกับผู้ที่บอกว่าจะไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งก็ลดลงเช่นกัน โดยการสำรวจรอบที่ 1 อยู่ที่ร้อยละ 2.06 รอบที่ 2 ร้อยละ 2.14 และรอบล่าสุดซึ่งเป็ยรอบที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 1.62 ส่วนผู้ที่บอกว่าจะไปใช้สิทธิ์แต่ไม่เลือกผู้สมัครคนใดเลย (Vote No) พบว่า การสำรวจรอบที่ 1 อยู่ที่ร้อยละ 2.94 รอบที่ 2 ร้อยละ 5.75 และรอบล่าสุดซึ่งเป็ยรอบที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 3.69

3.เมื่อวิเคราะห์ความนิยมของผู้สมัครทั้ง 7 อันดับข้างต้น โดยแบ่งเป็นรายพื้นที่ของ กทม. พบว่า นายชัชชาติ ได้รับความนิยมมากในพื้นที่ กรุงธนเหนือ (เขตธนบุรี เขตจอมทอง เขตบางกอกใหญ่ เขตคลองสาน เขตบางกอกน้อย เขตบางพลัด เขตทวีวัฒนา และเขตตลิ่งชัน) มากที่สุด , พล.ต.อ.อัศวิน ได้รับความนิยมมากในพื้นที่กรุงเทพตะวันออก (เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตคันนายาว เขตสะพานสูง เขตหนองจอก เขตลาดกระบัง เขตมีนบุรี เขตคลองสามวาและเขตประเวศ) ,

นายวิโรจน์ ได้รับความนิยมมากในพื้นที่ กรุงธนใต้ (เขตภาษีเจริญ เขตบางแค เขตหนองแขม เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ เขตบางขุนเทียน และเขตบางบอน) , ศ.ดร.สุชัชวีร์ ได้รับความนิยมมากในพื้นที่ กรุงเทพเหนือ (เขตลาดพร้าว เขตหลักสี่ เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตสายไหม เขตบางเขน และเขตดอนเมือง) , นายสกลธี ได้รับความนิยมมากในพื้นที่ กรุงธนเหนือ (เขตธนบุรี เขตจอมทอง เขตบางกอกใหญ่ เขตคลองสาน เขตบางกอกน้อย เขตบางพลัด เขตทวีวัฒนา และเขตตลิ่งชัน) ,

น.ส.รสนา ได้รับความนิยมมากในพื้นที่ กรุงเทพกลาง (เขตสัมพันธวงศ์ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพญาไท เขตราชเทวี เขตดินแดง เขตวังทองหลางและเขตห้วยขวาง) และ น.ต.ศิธา ได้รับความนิยมมากในพื้นที่ กรุงธนใต้ (เขตภาษีเจริญ เขตบางแค เขตหนองแขม เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ เขตบางขุนเทียน และเขตบางบอน)