ทีมเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย เรียกร้อง กสทช. หยุดการควบรวม True-DTAC เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ยก 5 เหตุผลที่ไม่ควรดำเนินการ ชี้เป็นการครอบงำตลาด กระทบผู้บริโภค แนะศึกษาให้ดีไม่เช่นนั้นปัญหาจะเกิดในอนาคตจนแก้ไขไม่ได้
วันที่ 22 เม.ย. 2565 นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง True กับ DTAC กล่าวว่า ตามที่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ และ ได้เข้ารับตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่เรียบร้อยแล้ว จึงอยากขอให้มีการพิจารณาหยุดยั้งการควบรวมของ True – DTAC ที่ส่อแววว่าจะเกิดปัญหาตามมาอย่างมาก และ ประชาชนจำนวนมากแสดงความกังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการควบรวมครั้งนี้ โดยมี 5 เหตุผลดังนี้
1.ผลกระทบต่อตลาดโทรคมนาคมในไทย ดัชนีการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมของประเทศไทยนั้นก็สุ่มเสี่ยงต่อการต่อการใช้อำนาจเหนือตลาดอยู่แล้วในอดีต ดังนั้นการควบรวมของ True – DTAC ในครั้งนี้จะยิ่งทำให้ตลาดโทรคมนาคมของไทยเสี่ยงต่อการสูญเสียสภาพการแข่งขันอย่างเสรี เนื่องจากหากมีการควบรวม 2 ผู้ให้บริการในตลาดโทรคมนาคมของไทยจะกินส่วนแบ่งของตลาดรวมกันกว่า 90 % แล้วนั้น จะทำให้ยากต่อการเกิดผู้เล่นหน้าใหม่ เมื่อการแข่งขันลดลง ผลกระทบก็จะตกอยู่กับผู้บริโภค
2.ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับกฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุม ดูแลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากเกิดการควบรวม เนื่องจาก กสทช. มีการออกประกาศ เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นประกาศที่แก้ไขระเบียบในการควบรวม จากการ “ขออนุญาต” เป็นการ “แจ้งให้ทราบ” เท่านั้น ทำให้หน่วยงานไม่มีอำนาจในการให้ หรือ ไม่ให้อนุญาต ตามที่ควร ซึ่งจะส่งผลให้ในอนาคต หากมีการกระทำในลักษณะนี้อีก หน่วยงาน กสทช. ก็จะไม่สามารถรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชนได้ อีกทั้งยังไม่มีระเบียบที่แน่นอนในการดูแลและควบคุมผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหลังการควบรวมธุรกิจ นอกจากนี้ การควบรวมครั้งนี้ยังอาจขัดกับประกาศ เรื่องมาตรการป้องกันมิให้มีการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม อีกด้วย จึงจำเป็นต้องมีการตีความและกำหนดระเบียบให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะเดียวกันอีกในอนาคต
3.การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบจากการควบรวมในต่างประเทศที่หน่วยงานใช้ประกอบไม่เหมาะสมในการใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาเรื่องนี้ จากการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากการควบรวม True-DTAC พบว่า ข้อมูลซึ่งหน่วยงานใช้ในการศึกษาและเปรียบเทียบผลกระทบที่อาจเกิดหลังการควบรวมเสร็จสิ้นนั้น ไม่สามารถสะท้อนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ เนื่องจาก ข้อมูลตัวอย่าง แตกต่างจากกรณีการควบรวมในไทยมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรมีการศึกษาและคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดต่อประชาชนอย่างละเอียดอีกครั้ง
4.ที่ปรึกษาอิสระเพื่อให้ความคิดเห็นต่อคณะกรรมการ กสทช. ที่ได้รับการแต่งตั้ง อาจขัดต่อหลักเกณฑ์ในการเลือกที่ปรึกษาอิสระ ซึ่ง กสทช. เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์เอง ในการประชุมของกรรมธิการศึกษาผลกระทบ ได้มีการสอบถามและชี้ให้เห็นถึง คุณสมบัติที่อาจขัดต่อหลักเกณฑ์ของ กสทช. เอง ซึ่งเป็นที่กังขาและกระทบความเชื่อมั่นของหน่วยงาน
5.ข้อกังวลจากประชาชนและองค์กรต่างๆ ที่ได้ติดตามการควบรวม True-DTAC ในครั้งนี้ ทุกกลุ่มต่างแสดงความเป็นห่วงและข้อกังวลต่อการควบรวมในครั้งนี้ ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่สังคมตั้งคำถามถึงความเหมาะสม ความสามารถในการดูแลและคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน จากกรณีการควบรวมระหว่างสองบริษัทค้าปลีกใหญ่ จนทำให้เสี่ยงจะเกิดการครอบครองตลาดในภาคธุรกิจค้าปลีก ซึ่งทำให้สังคมและองค์กรต่างๆ กังขาในอำนาจการควบคุมของหน่วยงานต่อบริษัทใหญ่เหล่านี้ หากปล่อยให้เกิดการควบรวมระหว่าง True-DTAC ในขณะที่ยังมีข้อกังขาต่างๆมากมาย จะยิ่งตอกย้ำและทำให้ประชาชนหมดความเชื่อมั่นในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้นจากเหตุผลเหล่านี้ จึงอยากเรียกร้องขอไปยังบอร์ด กสทช ชุดใหม่ เพื่อให้มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง โดยพยายามแก้ไขข้อกังขาต่างๆ ที่ประชาชนและสังคมกำลังตั้งคำถาม เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนไทย