ลุ้นระทึก! ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. “ชัชชาติ-ดร.เอ้-วิโรจน์” ยังมาแรง

พลิกปูมประวัติผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. จับตาเฉพาะ”ตัวเต็ง” ที่ได้รับการสำรวจจากผลโพล และกระแสความนิยมจากที่แท้จริงจาก “ชาวเมืองกรุง” รวมทั้งนโยบาย ทั้ง “ขายฝัน-ขายความจริง” ใครจะมีโอกาสครองใจประชาชนมากที่สุด

หลังจากว่างเว้น มานานกว่า 9 ปี ในที่สุดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก็ได้เริ่มเปิดฉากอย่างเป็นทางการแล้ว หลังเปิดรับสมัครวันแรกเมื่อ 30 มี.ค.65 และปิดหีบไปเมื่อ 4 เม.ย.65 โดยมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น “พ่อเมืองกรุง” งวดนี้ 31 คน เป็นชาย 25 คน หญิง 6 คน และยังมีการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ สก.50 เขต อีก 382 คน

สมชัย สุรกาญจน์กุล ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร กำหนดวันเลือกตั้ง ให้มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.2565 เรียกได้ว่า ปี่กลองโหมระรัว เข้าโหมดการลงพื้นที่หาเสียง ชูนโยบาย ทั้งขายฝัน ขายความจริง กันอย่างเต็มที่ ในพื้นที่ทุกตารางนิ้วของ กทม.

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ ผู้สมัครแต่ละคน เอากันอย่างคร่าวๆ มีใครกันบ้าง ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า ในบรรดาผู้สมัครทั้งหมด มีคนที่ได้รับความสนใจไม่กี่คน ในจำนวนนั้น มีชื่อของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครอิสระ มาแรงตั้งแต่เปิดตัวโพลทุกสำนัก ยกให้เป็นเต็งหนึ่งมาตลอดพลิกปูม ไปดูประวัติกัน สำหรับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เป็นอดีต รมว.คมนาคม และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย (พท.) ในการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 โดยการทำศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ “ชัชชาติ” ได้ดึงตัว ดร.ยุ้ย – เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กก.ผจก. บ. เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หญิงแกร่งแห่งวงการอสังหาริมทรัพย์ มาร่วมทีมกำหนดนโยบายพัฒนาเมือง

“รู้สึกดีใจครับ ที่คนที่มีความรู้ ความสามารถ มีความสนใจและตั้งใจอยากจะช่วยแก้ปัญหาของเมือง การพัฒนาเมืองให้ก้าวหน้า ต้องการแนวร่วมจากคนทันสมัยที่มีความรู้ความสามารถในหลากหลายด้าน และร่วมมือกันช่วยกันทำเมืองให้น่าอยู่” ชัชชาติ ระบุ และแม้จะลงในนามอิสระ แต่ก็ย่อมรู้กันดีว่า อยู่ในเครือข่ายพรรคเพื่อไทย ย่อมจะได้คะแนนเสียงจากเพื่อไทยเป็นแรงหนุน โดยสโลแกนหาเสียงของ “ชัชชาติ” คือ “มาช่วยกันทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”ถัดมา “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คนหนุ่มไฟแรง และมาแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใคร สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตำแหน่งล่าสุด นั่งเก้าอี้อธิบการบดีสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เคยเป็นประธานอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เชี่ยวชาญทางด้านการก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์คนแรกๆ ของเมืองไทย ซึ่งหากได้ “ดร.เอ้” มานั่ง เก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. น่าจะไว้วางใจได้ ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ที่ส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับการระบายน้ำใต้ดินของ กทม. สำหรับสโลแกนหาเสียงของ ดร.เอ้ คือ “เปลี่ยนกรุงเทพเราทำได้”วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล อดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อฝีปากกล้า โดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยอมรับวันเปิดตัวว่า หาใครไม่ได้แล้ว ในที่สุดก็ตัดสินใจเลือก “วิโรจน์” ให้ลาออกจาก ส.ส.มาลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มาพร้อมสโลแกน “เมืองที่คนเท่ากัน พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพ”พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล คสช. แทน ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ที่โดนปลดออก จึงเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการแต่งตั้ง บริหาร กทม.มาได้ 5 ปี 5 เดือน 5 วัน ตัดสินใจขอลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ด้วยการประกาศลั่น อีก 3 เดือนจะกลับมา จึงมาในสโลแกน “กรุงเทพฯต้องไปต่อ” และ แน่นอนย่อมได้รับการสนับสนุนจาก พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แม้ทั้ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะปฏิเสธเสียงแข็ง คอเป็นเอ็นว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยก็ตามนต.ศิธา ทิวารี หรือ “ผู้พันปุ่น” อดีตนายทหารจาก “ลูกทัพฟ้า” กองทัพอากาศ และอดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร ที่ห่างหายเวทีการเมือง รอบนี้ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในสังกัดพรรคไทยสร้างไทย ที่มี “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานพรรคเป็นผู้ผลักดัน มาพร้อมสโลแกน “มหานครของโลกที่คนทั่วโลกยอมรับ”สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. เดิมเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เคยเสนอตัวจะลงสมัครผู้ว่าฯ สังกัดพรรค พปชร. แต่เกิดปัญหาภายใน ทำให้ตัดสินใจลาออกจาก พปชร. ขอลงสมัครในนามอิสระ มาพร้อมสโลแกน “กทม.ดีกว่านี้ได้”

“ดร.ประยูร ครองยศ” อดีตรอง ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ก่อนหน้านี้สังกัดพรรคไทยศรีวิไลย์ แต่ล่าสุดขอลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ มาพร้อมสโลแกน “ผู้ว่าฯ EASY 24 ชั่วโมง ติดดิน จริงใจ ไม่ขายฝัน ”

อุเทน ชาติภิญโญ เป็นนักการเมืองที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลหลายชุด เคยเป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการน้ำยุครัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” โดย “อุเทน” เคยประกาศจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. มานานตั้งแต่ปี 62 ว่า ทันทีที่ พล.ต.อ.อัศวิน ลาออก จะเดินทางไปสมัครในนามอิสระ สโลแกน “500 วันทำไม่ได้ วันที่ 501 ลาออกทันที”

ไกรเดช บุนนาค ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่า กทม. พรรคประชาไทย โดยเปิดนโยบาย 5 ประการสำคัญ 1. สายไฟฟ้า ในกรุงเทพ-ฯ นำลงใต้ดิน สามารถทำเสร็จภายใน 4 ปี 2. ธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม กรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน 3. SSG ทำกรุงเทพฯปลอดภัย น่าอยู่ น่าเที่ยว WIFI FREE ครอบคลุมทั้ง กรุงเทพฯ 4. ทำกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง สู่ตลาดการค้าโลก และ 5. แม่ค้าแผงลอย หาบเร่ 40 บาท ค้าขายได้ทุกเขต มาพร้อมสโลแกนถึงสองสโลแกน “พูดแล้วทำได้ไม่ใช่นิยายขายฝัน” และ “โกงประชาชน โกงชาติ คือฆาตกรฆ่าตนเอง”

โฆษิต สุวินิจจิต เป็นคณะที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตัดสินใจลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. เพื่อต้องการเข้ามาแก้ปัญหาสร้างความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความ เป็นธรรม ให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยสองสุภาพสตรีที่น่าสนใจ เริ่มจาก รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากชาว กทม. เทคะแนนให้เป็น สว. เมื่อปี 2551 โดยทำสถิติไว้ถึงเจ็ดแสนกว่าคะแนน ตัดสินใจขอลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รอบนี้ในสังกัดอิสระ มาพร้อมสโลแกน “กทม. มีทางออกบอกรสนา”

“จิ๊บ” ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ อดีตผู้บริหารธุรกิจมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี และเป็นผู้บริหารองค์กรธุรกิจแบบมืออาชีพ ได้รับการผลักดันจาก วินท์ สุธีรชัย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ให้ลงสมัครในนาม “กลุ่มใส่ใจ” ที่จะสามารถปรับเปลี่ยนการทำงานราชการในกรุงเทพฯ ที่มีปัญหาในปัจจุบันให้เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพได้โดยมาพร้อมสโลแกน “กรุงเทพ เมืองปลอดภัย”

เมื่อรู้จักหน้าตาของผู้สมัครแต่ละคนกันพอสมควร เราไปติดตามผลสำรวจความนิยมของ ชาว กทม. ว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไรนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจเรื่อง ผู้ว่าฯ ในความฝันของคน กทม. ระหว่างวันที่ 6 – 8 เม.ย.2565 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.0 ระบุ เห็นด้วยว่า ผู้ชนะในโพล อาจพ่ายแพ้ในวันเลือกตั้ง ในขณะที่ ร้อยละ 18.0 ไม่เห็นด้วย ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถาม ผู้ว่าฯ ในความฝันของคน กทม. พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 55.6 อยากได้ผู้ว่า กทม. เป็นนักบริหารแก้ปัญหาเก่ง วัยหนุ่มมีประสบการณ์ กล้าสู้ กล้าชน

โดยเมื่อถามตรงๆ ว่าจะเลือกใคร พบว่า อันดับหนึ่งมากที่สุด ร้อยละ 20.3 ระบุ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รองลงมาคือ ร้อยละ 9.8 ระบุ นาย สุชัชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ร้อยละ 7.1 ระบุ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ร้อยละ 5.7 ระบุ นาย สกลธี ภัททิยกุล ร้อยละ 2.5 ระบุ นาย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร และร้อยละ 5.9 ระบุอื่น ๆ นางสาวรสนา โตสิตระกูล น.ต.ศิธา ทิวารี

และก่อนจะถึงเวลา “ดีเดย์” หย่อนคะแนนเสียง ไปดูตัวเลขชาว กทม.ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งว่า มีจำนวนเท่าไร? โดยข้อมูลจาก กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ เดือน ก.พ.2565 เปิดเผย จำนวนประชากรของ กทม. ทั้งสิ้น 5,523,676 ราย เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อายุ 18 ปีขึ้นไป 4,556,776 ราย แบ่งเป็น ชาย 2,095,505 ราย หญิง 2,461,271 ราย ที่สำคัญ ในจำนวนนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก หรือ “นิวโหวตเตอร์” จำนวน 61,228 ราย แบ่งเป็น ผู้ชาย 31,064 ราย ผู้หญิง 30,164 ราย

สรุปปิดท้ายกันที่ข้อคิดในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่บอกว่า “…ขอให้ทุกคนใช้สติและปัญญาในการใคร่ครวญ การเลือกใครอะไรต่างๆ ก็ตาม สิ่งสำคัญคือ คนที่จะเข้ามารับหน้าที่เหล่านั้น เป็นคนที่มีคุณภาพหรือไม่ เป็นคนที่เป็นแบบอย่างสังคมหรือไม่ เป็นคนที่มีทัศนคติที่ดีหรือไม่ เรื่องความความสามารถโอเคทุกคนเข้าเกณฑ์หมด …ฝากถึงประชาชน เราต้องเลือกนักปฏิบัติที่ทำงานได้จริง ทำงานได้สำเร็จ มีผลงานปรากฏ ไม่ว่าจะอาชีพใดก็แล้วแต่ ที่ผ่านมาสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ ซึ่งเป็นสิทธิ์ของท่าน 1 สิทธิ์ 1 เสียงอยู่แล้ว”

ชัดเจนที่สุด 1 สิทธิ์ 1 เสียง เป็นของชาว กทม.ว่า จะตัดสินใจเลือกใคร !!