ตอบแทน อสม.เต็มที่ รมว.สาธารณสุข เผย รัฐบาล ได้จ่ายค่าเสี่ยงภัย 1,500ต่อเดือนแล้ว ยกนักรบ ชุดเทาเป็นกำลังสำคัญต่อสู้ ทำสงครามกับ โควิด 19
วันที่ 18 มี.ค.2565 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้เปิดงานวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ ปี 2565 มีผู้บริหาร บุคลากรการแพทย์ และ อสม.ร่วมงานจำนวนมาก โอกาสนี้ นายอนุทิน กล่าวว่า ตามที่ เราได้ตั้งนโยบาย 3 หมอ โดย อสม.เป็นหมอคนแรก เพื่อยกระดับระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ช่วยให้ความสะดวกแก่คนไข้ ลดภารกิจบุคลากรทางการแพทย์ และความแออัดในสถานพยาบาล
นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วย ควบคุมโรคระบาดในพื้นที่ รวมถึงภารกิจรณรงค์ส่งเสริมให้ความรู้ประชาชนมาฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งทุกวันนี้มีวัคซีนเพียงพอ แต่ยังพบประชาชนปฏิเสธวัคซีน ต้องขอให้ อสม. เข้าไปทำความเข้าใจว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยหนัก และเสียชีวิต อสม. ถือเป็นผู้ที่ทำงานภายใต้ความเสี่ยง วัคซีนโควิด -19 ท่านต้องได้เข็ม 4 เพื่อความปลอดภัยของ อสม. และจะเป็นตัวอย่างให้ประชาชนทางกระทรวงฯ มี สถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) ที่ผลิตพยาบาล มีวิทยาเขตแทบทุกจังหวัด เราตระหนักหน้าที่ อสม.หมอคนแรก จึงต้องทำให้มีความเชี่ยวชาญเรื่องการดูแลรักษาคนไข้ จึงจัดหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล คัดเลือก อสม.จากทั่วประเทศมาเข้ารับการศึกษา 3,000 คน ถือเป็น 1 ใน 3 ของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มี การเรียน การสอนมีความจริงจัง ไม่ใช่การฝึกงาน แต่เป็นหลักสูตรชั้นเรียน จบการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล มีความรู้ความสามารถ ในการดูแลผู้ป่วยยิ่งขึ้น ภายใต้การดูแลจากแพทย์ผ่านระบบการสื่อสารเทคโนโลยี ช่วยลดภาระการเดินทางให้ประชาชน
นี่คือสิ่งที่ ทางกระทรวงฯ ตอบแทนคุณงามความดี อสม. และเพิ่มศักยภาพ ประสิทธิภาพ ความชำนาญ อสม.ในการดูแลประชาชน เรามั่นใจว่าหลังจบการศึกษาผู้ช่วยพยาบาล พื้นฐานการสาธารณสุขไทยจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การให้บริการประชาชนมีความใกล้ชิด อำนวยความสะดวกได้มาก นอกจากนี้ จะพัฒนาให้มีโอกาสรับการศึกษาหลักสูตรที่สูงขึ้น เป็นชัยชนะของทุกฝ่าย
ได้เรียนท่านนายกฯ กับ คณะรัฐมนตรี มาตลอดถึงความทุ่มเทเสียสละของนักรบชุดเทา ถ้าไม่มี อสม.เราลำบากแน่ เพราะเรามีแพทย์ไม่ถึง 1 แสนคนทั่วประเทศ พยาบาล 1-2 แสน บุคลากรทั้งหมด 4 แสนคน ดูแลประชากร 70 ล้านคน มันล้นมือ เป็น งานสาหัส แต่เราได้ อสม.อีก 1 ล้านคน มาช่วยแบ่งเบาภาระ และได้รับความร่วมมือจากประชาชนป้องกันตนเอง จึงประคับประคองประเทศผ่านโควิด-19 ได้ตลอด
นายกฯ ก็พูดว่าท่านแพ้ใจ อสม. จึงต้องมีค่าเสี่ยงภัย ซึ่งไม่อยากใช้ว่าเป็นค่าตอบแทน เพราะ อสม.ทำด้วยจิตอาสา จึงต้องจัดหมวดงบค่าเสี่ยงภัยมาดูแล เพราะตั้งแต่ก้าวออกจากบ้านก็มีความเสี่ยง ซึ่งต้องไปหาคนไข้ไปดูไปคัดกรอง ต้องซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ไปดูแลคัดกรองคนร่วมงานต่างๆ ไปช่วยตำรวจที่ด่านคัดกรองคนเข้ามาในจังหวัด มีความเสี่ยงในทุกด้าน ไม่ใช่แค่โรค แต่รวมถึงอุบัติเหตุด้วย จึงต้องดูแลในส่วนนี้ด้วย รวมถึงมีสวัสดิการฌาปนกิจสงเคราะห์
“นายกฯ พูดชัดเจนว่า รัฐบาลจะดูแลเรื่องค่าเสี่ยงภัยจนกว่าโควิด-19 จะหมดไป หรือ เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งล่าสุดก็มีการโอนค่าเสี่ยงภัย อสม.ตั้งแต่เที่ยงคืน (วันที่ 17 มีนาคม 2565) คนละ 1,500 บาท เข้าบัญชีแล้ว ซึ่งเป็นค่าตอบแทนตามปกติ 1,000 บาทต่อเดือน และค่าเสี่ยงภัย 500 บาทต่อเดือน เราขอพิจารณาค่าเสี่ยงภัยคราวละ 6 เดือน” รมว.สาธารณสุข กล่าว