กระแสข่าว “คดีแตงโม”สะท้อนภาพ หลากหลายมุมมองต่อ “วงการสื่อไทย”

แทบไม่น่าเชื่อว่า ปรากฏการณ์ ”แตงโม” พลัดตกเรือเสียชีวิต กลางลำน้ำเจ้าพระยา จะจุดกระแสความสนใจของผู้คนในสังคมไทยได้มากมาย ขณะเดียวกันทำให้ธุรกิจในวงการสื่อคึกคัก สร้างเม็ดเงินจากโฆษณา จนทำให้เกิดการแข่งขันอย่างน่าตื่นตะลึง

กรณี “แตงโม” นิดา พัชรวีระพงษ์ ดาราสาว พลัดตกจากเรือ สปีดโบ๊ท เสียชีวิต กลางลำน้ำเจ้าพระยา เมื่อ วันที่ 24 ก.พ.2565 กลายเป็น “ท็อปอ๊อฟเดอะทาวน์” กลบ กระแสข่าวอื่นๆ ลงอย่างราบคาบ ไม่ว่าจะเป็น ข่าวการเมือง ว่าด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยุบสภา หรือ วิกฤตเศรษฐกิจ ราคาพลังงานพุ่งกระฉูด จากสงครามในยูเครน

ที่สำคัญและแทบไม่น่าเชื่อว่า ข่าว”แตงโม” จะได้รับความสนใจข้ามประเทศในย่านเอเชีย ถึง จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ต่างและสนใจ อยากรู้ว่า “แตงโม” เสียชีวิต จาก อุบัติเหตุ หรือ ฆาตกรรม

เบื้องต้นจากผลตรวจนิติเวช รพ.ตำรวจ อย่างไม่เป็นทางการ สรุปการเสียชีวิตของ “นิดา-แตงโม” ว่า เสียชีวิตจาก การขาดอากาศหายใจ และสำลักน้ำ พบทรายในปอด นอกจากนี้ยังพบดินและโคลนในกระเพาะอาหาร ตามลำตัวพบบาดแผลเฉพาะช่วงล่างเท่านั้น โดยมีบาดแผลที่ต้นขาซ้าย และขาซ้ายด้านใน เกิดจากของมีคมซึ่งยังไม่สามารถระบุชนิดของมีคมได้ ต้องรอผลพิสูจน์จากแลป

อย่างไรก็ตาม ผลสรุปของนิติเวช ที่ออกมาในชั้นต้นนี้ ขัดกับ ไทด์ – เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์ อาสาสมัคร มูลนิธิร่วมกตัญญู บุคคลแรกที่พบศพ “แตงโม” เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2565 หลังจมดิ่งน้ำสูญหายไป2วัน “ไทด์” บอกว่า แตงโม มีรอยช้ำที่ดวงตา บวมปูด ไม่เท่ากันทั้งสองข้าง ผิดปกติจาก คนจมน้ำเสียชีวิตทั่วไป และ ฟันหัก1ซี่

กรณีดังกล่าว ยิ่ง จุดกระแสความอยากรู้ อยากเห็นของสังคมมากยิ่งขึ้น!! และ กลายเป็น ชนวนให้เกิด ม็อบเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่รวมตัวชูป้าย หน้า สถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี เรียกร้องความยุติธรรม ต่อ พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บังคับบัญชาตำรวจภูธรภาค 1 ไม่ให้ “แตงโม” ตายฟรี เพราะ ไม่เชื่อว่า ดาราวสาว พลัดตกน้ำ จากกรณี ลุกไปปัสสาวะ (ฉี่) ที่ท้ายเรือ“ทำไมประชาชนเกือบทั้งประเทศจึงสนใจดาราสาว คุณแตงโม วัยเกือบ 40 ปีที่เสียชีวิตแบบมีเงื่อนงำ หากตอบว่าสื่อต่างๆ นำมาเล่นเอง คงไม่ใช่ไปทั้งหมด เพราะหากชาวบ้านไม่สนใจ เรตติ้งก็ไม่ขึ้นสปอนเซอร์ หรือ เงินโฆษณาก็จะไม่เข้า พวกสื่อต่างๆ เขาก็คงไม่นำมาเป็นข่าวแบบยาวๆ “ เป็นความเห็นจาก ธนิต โสรัตน์ ในฐานะรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ คลุกคลี ตีโมง จนคร่ำหวอด มองเห็นเบื้องหน้า เบื้องหลัง วงการสื่อเมืองไทย ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

จากข้อมูลของบริษัทวิจัยชั้นนำแห่งหนึ่ง ระบุว่าช่วงรายการข่าวที่ผ่านมาเรตติ้งของ TV แต่ละช่องพุ่งสูงสุด ยอดผู้ดูผ่านออนไลน์จากที่เคยอยู่ในระดับเฉลี่ย 3-4 แสนวิว/คลิป จากก่อนหน้าอยู่ที่ 1.3 แสนวิว/คลิป หรือ เพิ่มขึ้นถึง 2.69 เท่า

ขณะที่รายการดังอย่าง “โหนกระแส” ที่มี “หนุ่ม” กรรชัย กำเนิดพลอย เป็นพิธีกร ปรากฏว่า เร็ตติ้ง พุ่งกระฉูด บางวันพุ่งถึงระดับสูงสุด 6.3 ล้านวิว/คลิป หรือ สูงขึ้นถึง 5.72 เท่า จากปกติทั่วไป

แม้แต่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังต้องออกมากำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานสอบสวน เร่งรัดคดีการเสียชีวิตของ “แตงโม” โดยเร่งสืบสวนทุกข้อสงสัยอย่างรอบคอบตามหลักวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญต้องโปร่งใสด้วยกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

เรียกได้ว่า บุคคลใกล้ชิด รอบตัว “แตงโม” ถูกสังคมจับตาหมด ไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมไหน ทั้งบวก หรือ ทั้งลบ โดยเฉพาะ ภนิดา ศิริยุทธโยธิน หรือ “แม่แตงโม” กลายเป็นเป้าใหญ่ที่สังคมจับตามอง จากกระแสข่าว เรียกร้องค่าชีวิตของลูกสาว 30 ล้าน จาก หนุ่มไอโซ ปอ ดนุภัทร เลิศทวีวิทย์ เจ้าของเรือสปีดโบ๊ท

รวมถึงอีก4 คนที่อยู่บนเรือ หลัง “แตงโม” พลัดตกเรือไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กระติก” อิจศรินทร์ จุฑาสุขสวัสดิ์ เพื่อนสนิทและผู้จัดการส่วนตัวของ “แตงโม” ซึ่งถูก โลกโซเชียล ตั้งข้อกล่าวหาในทางลบ หลังจากถูกจ้องจับผิด หลายเรื่องราว ในกรณีที่เกิดขึ้น

ดังนั้น มีคำถาม หลากหลาย มากมาย ตามมา เพราะหลัง จนท.ตำรวจ สอบปากคำ บุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด หลายสิบปาก แต่จนป่านนี้ พนง.สอบสวน ยังไม่ยอมเปิดเผยต่อสาธารณชน ให้หายข้องใจว่า “ปริศนา” ที่สังคมคาใจ ข้อเท็จจริง เป็นอย่างไร ?? หลายฝ่ายเกรงว่า คดีนี้จะมีเลศนัย หรือไม่ !!!

ปรากฏการณ์ กระแส “แตงโม” ยังมีความเห็น “หมอโอ๋” นพ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น รพ.รามาธิบดี ระบุว่า …มาถึงวันนี้ ความคืบหน้าคดีแตงโม ยังคงเกิดขึ้นรายวัน ในหลายแง่มุม ขณะเดียวกัน คดีนี้เป็นอีกเครื่องย้ำเตือน ถึงความสัมพันธ์ ของ เพื่อน ครอบครัว การทำงานหน้าที่ของสื่อ และอิทธิพลของโลกโซเซียล แต่อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ต้องเรียนรู้ร่วมกันที่สำคัญ คือ

วิธีคิดแบบต้อง “หาคนผิด” มาลงโทษ เป็นวิธีคิดที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ทำให้หลายครั้ง เราตั้ง “ศาลเตี้ย” ขึ้นมาแบบที่เราเข้าใจไปว่ามันคือสิ่งที่ถูกต้อง ตราบใด ที่ยังไม่มีข้อสรุปทางกฎหมาย เราไม่ควรชี้นำ หรือ สรุปว่าใครเป็นผู้กระทำผิด เพราะสิ่งเหล่านี้ จะสร้างตราบาปให้กับชีวิตของคนบางคน มากเกินไปกว่าสิ่งที่เขาควรจะได้รับ

การสื่อสาร ที่แค่การต้องหาคนผิดมาลงโทษ อาจทำให้เราหลงลืม สื่อสารประเด็นอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น คนที่พูดหรือทำบางอย่างที่เราไม่ถูกใจ ไม่ได้แปลไปว่าเขาจะต้องเป็นคนที่ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คนพูดดี ทำไม่ดี มีเยอะแยะ เราควรแยกประเด็น ที่เราจะได้แสดงความเห็นแบบไม่เหมารวม สื่อควรมีจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าว สื่อมีหน้าที่ ต้องให้ความยุติธรรม กับผู้เสียชีวิต รวมไปถึง การให้ความยุติธรรมกับ “ผู้ยังมีชีวิต” อยู่

การขายข่าวอย่างบ้าคลั่ง นำทุกเรื่องราว มาสร้างประเด็น ดราม่า ให้ความสำคัญกับ สิ่งที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ เช่น การนำความเห็นของคนที่ติดต่อกับวิญญาณ มาเล่าว่าวิญญาณทุกข์ทรมานแค่ไหน ควรนึกถึง “ใจ” ของครอบครัวที่เป็น “ผู้สูญเสีย” ในยุคที่ใครก็มีสื่อในมือ ใครก็แสดงความเห็นอย่างไรก็ได้ “สื่อน้ำดี” จะมีหน้าที่เลือกนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ด้วยหัวใจที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

สิ่งที่เราแชร์กันในโลกออนไลน์ ข้อมูลส่วนใหญ่ คือ “ความคิดเห็น” ข้อคิดเห็นเหล่านั้น หลายครั้งมันมาจาก “อารมณ์ร่วม” ไม่ใช่ผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ ไม่ใช่ความคิดเห็นจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญที่เชื่อถือได้ การเข้าใจหัวใจคนอื่นในโลกออนไลน์ เป็นสิ่งที่สังคมควรช่วยกันสร้าง เราทำร้ายเหยื่ออย่างบอบช้ำ แล้วสะบัดก้นไปรุมเหยื่อรายใหม่ จนกลายเป็นความธรรมดาของสังคมจนน่ากลัว

เรื่องราวของ “แตงโม” จะเดินหน้าไปต่อ และ จบอย่างไร ยังคาดเดาไม่ถูก…แต่สักวันหนึ่ง ก็ต้องจบลง และ จะเป็นบทเรียนให้ สังคมไทย ไตร่ตรอง กันอย่างเข้มข้นอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะ ในวงการสื่อของไทยจักต้องทบทวนบทบาทที่ผ่านมาอย่างไร !!