ถอนรากถอนโคน “ขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา” ยาก แต่ ต้องทำ !! อดีตหัวหน้าสำนักงาน UNHCR ประจำค็อกซ์บาซาร์ บังคลาเทศ คณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนฯ พรรคไทยสร้างไทย เสนอ 5 แนวทางจัดการปัญหาค้ามนุษย์
นายกัณวีร์ สืบแสง คณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม พรรคไทยสร้างไทย ในฐานะ อดีตหัวหน้าสำนักงาน UNHCR ประจำค็อกซ์บาซาร์ บังคลาเทศ ซึ่งติดตามปัญหาชาวโรฮิงญา มากว่า 10 ปี รวมถึงการค้ามนุษย์ที่เกี่ยวเนื่องในหลายประเทศ ชี้ให้เห็นว่า คำตอบที่สังคมอยากได้จากรัฐบาล ว่าได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว ต่อเรื่องขบวนการลักลอบค้ามนุษย์ในไทย และทำไมข้าราชการตำรวจระดับสูง ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้รับผิดชอบสืบสวนสอบสวนขบวนการดังกล่าวต้องลี้ภัยไปยังประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากเกรงกลัวต่ออำนาจมืด ที่มองไม่เห็น หรือที่บัญญัติในกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสถานะผู้ลี้ภัยว่า “การประหัตประหาร”กรณีที่ คุณรังสิมันต์ โรม สส.พรรคก้าวไกล ถามกระทู้สดเรื่องความคืบหน้าและการดำเนินการของรัฐบาลต่อเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งโยงถึงเรื่องที่ พลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ผู้ที่ถูกหางเลขจากการปฏิบัติหน้าที่ในการ crackdown ขบวนการค้ามนุษย์ชาติพันธุ์โรฮิงญา จากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา และ เปิดโปงธุรกิจมืดราคาแสนล้านที่มีความเชื่อมโยงในหลายระดับจากล่างสู่บน แต่มีชีวิต ลมหายใจ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเป็นเดิมพัน จนทำให้ตัว พล.ต.ต. ปวีณฯ ต้องขอลี้ภัย ณ ประเทศออสเตรเลีย อยู่จนถึงปัจจุบัน
“เกิดอะไรขึ้นทำไมชาวโรฮิงญาถึงยอมเสี่ยงชีวิตทั้งนั่งเรือผ่านมหาสมุทรจากพื้นที่ไกลโพ้นทั้งจากแม่น้ำนาฟ ที่เรือประมงหลายลำต้องล่องไปรับจากประเทศไทย ลอยเรือรออยู่ที่ทะเล การล่องเรือประมงลำเล็กๆ ซึ่งแท้จริงแล้วจุดหมายปลายทางไม่ได้อยู่ภาคใต้ของไทยหรอก แต่เหตุใดถึงถูกชักลากมาขึ้นฝั่งไทยจากเกาะสอง ภูมิภาคตะนาวศรี สู่ฝั่งไทย และการนั่งเรือประมงลำเล็กๆ ดังกล่าว หลายๆ ครั้ง มีการยืนยันว่าไม่ได้ล่องฝ่ามหาสมุทรตลอดเวลา ที่ต้องใช้เขตแดนทะเลระหว่างประเทศ แต่หากเป็นการเลาะตะเข็บชายฝั่งของเมียนมามาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเกาะสองแล้วค่อยลากออกไป !! นี่ก็เป็นอีกครั้งที่ผมได้ประสบด้วยตนเองตอนปฏิบัติหน้าที่ ดูแลฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของพม่าทั้งหมดตอนทำหน้าที่กับสหประชาชาติ ดังนั้น คนที่เกี่ยวข้องควรหาข้อมูลมาเพิ่มเติม”นายกัณวีร์ กล่าว และย้ำว่า
จากประสบการณ์ขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ Cox’s Bazar ประเทศบังคลาเทศกับผู้ลี้ภัยโรฮิงญา ถามว่า โรฮิงญามาทำไม คุ้มเหรอกับการต้องเสียชีวิตระหว่างทาง คุ้มเหรอกับการเสี่ยงชีวิตลูกเด็กเล็กแดงนั่งในเรือที่อาจล่มได้ทุกนาทีเมื่อมีคลื่นลมแรง นี่ยังไม่รวมถึงกลุ่มโรฮิงญา ที่เดินทางจากรัฐยะไข่มาทางรถผ่านเส้นทางสำคัญๆ ของเมียนมา ที่ต้องใส่เสื้อทหารพม่ามาตลอดทางเพื่อปกปิดตนเอง และเข้าไทยผ่านเมืองเมียวดี รัฐกระเหรี่ยง และเข้าไทยผ่าน อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งตอนหลังโดนจับเยอะ เลยเปลี่ยนเส้นทางผ่านลงทางตอนใต้สู่เกาะสอง ภูมิภาคตะนาวศรีและเข้าไทยผ่าน จ.ระนอง “คุ้มมั้ย ทั้งต้องเสี่ยงชีวิตทุกคนในครอบครัว ทั้งต้องถูกจับ และคุมขัง หลายครั้งถูกทรมาน และสุดท้ายส่งกลับสู่มือทหารเมียนมา”
เหตุผลการหนีออกมาชัดเจนอยู่แล้ว คือ “หนีภัยการประหัตประหารจากประเทศต้นกำเนิด” กลับไปสู่ ค่ายผู้ลี้ภัยที่ Cox’s Bazar บังคลาเทศ ที่มีผู้ลี้ภัยโรฮิงญามากกว่าล้านคน เบียดเสียดยัดเยียดในค่ายต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งน่าจะมี 5 ประเด็น พอจะเป็นข้อเสนอแนะให้เห็นถึงการจัดการปัญหา กล่าวคือ
1.สาเหตุอาจมาจากความประสงค์ ต้องการหนีจากการประหัตประหาร จึงต้องเข้าร่วมกับขบวนการลักลอบนำพา แต่เมื่อถึงฝั่งไทย ถูกคุมขังอยู่ในค่ายในป่าต่างๆ ถูกเรียกเงิน เรียกค่าไถ่ จึงเปลี่ยนจากการลักลอบสู่ การค้ามนุษย์
2.ไทยต้องยอมรับว่าขบวนการลักลอบและนำพา รวมทั้ง ขบวนการค้ามนุษย์ มันใหญ่เกินกว่าไทยประเทศเดียวจะรับมือไหว แล้วต้องพยายามหากลไกต่างๆ ทั้งระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศเข้ามาสนับสนุนกลไกต่างๆ ที่เรามีอยู่ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ต้องยอมรับว่าไทยมีความก้าวหน้าในการดำเนินการเรื่องการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์มากนะครับ เราได้ลงนามในอนุสัญญาเรื่อง Transnational Organized Crime (UNTOC) ในปี พ.ศ. 2543 และลงนามในพิธีสารเรื่องการป้องกัน ปราบปราม และลงโทษผู้กระทำผิดด้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก (Prevent, Suppress and Punish Trafficking in Persons, Especially Women and Children) ในปี พ.ศ. 2544 แต่ก่อนที่เราจะให้สัตยาบันในกฎหมายระหว่างประเทศทั้งสองในปี พ.ศ. 2556 เราได้บัญญัติ พรบ.การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในปี พ.ศ. 2551 เสียอีก รวมทั้ง เรายังใช้กลไกในระดับภูมิภาคอย่างอาเซียนโดยการตรากฎหมายร่วมเป็นอนุสัญญาอาเซียนในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ระดับภูมิภาคในปี พ.ศ. 2558 ต้องขอชื่นชมจากใจจริงในฐานะนักกฎหมายระหว่างประเทศ
จะเห็นได้ว่าไทยมีทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐของไทยทำงานร่วมกับประเทศต่างๆ ในเรื่องดังกล่าวอย่างแข็งขัน มันน่าจะแก้ไขได้แล้ว แล้วปัญหามันอยู่ตรงไหน ??
3.เพราะช่องโหว่จากการลักลอกนำพา เปลี่ยนมาเป็นการค้ามนุษย์ มันขาดไป ส่วนหนึ่งเพราะ ประเทศไทยเราใช้ พรบ. ตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ. 2521 ในการจัดการโดยส่วนใหญ่ต่อการลักลอบ เหมือนๆ กับการจัดการกับผู้ลี้ภัยในไทยครับ คือ จับ ขัง และรอการส่งกลับ
4.การยกระดับการจัดการปัญหาลักลอบนำพาให้สูงขึ้นมากกว่าการบริหารจัดการบริเวณชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านครับ อาทิ การพิจารณาปรับใช้และเป็นผู้นำของกระบวนการ Counter Migrant Smuggling ขององค์การโยกย้ายถิ่นฐานสากล (International Migration Organization-IOM) ไทยควรใช้โอกาสนี้เป็นผู้นำในระดับภูมิภาคโดยการหารือ Counter Migrant Smuggling ของ IOM ในอาเซียน รวมถึงการหารือแบบวิสามัญร่วมกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบจากขบวนการนำพาให้เร็วที่สุด
5.มองโอกาสออกนอกภูมิภาค โดยไทยต้องเป็นผู้นำ เพราะจะทำให้ศักดิ์ศรีของประเทศมีมากขึ้นหากเรานำ มากกว่าเป็นผู้ตาม !! ตัวอย่าง เช่น รายงานประจำปีของสหรัฐเรื่อง Trafflikning in Persons (TIP) ตอนนี้ไทยอยู่ใน Tier 2 Watchlist นั้น เราสามารถเปิดประเด็นเข้าร่วมอย่างจริงจังในการเป็นผู้นำด้านนี้โดยดึงศักยภาพประเทศมหาอำนาจมาจัดการโดยอยู่ภายใต้ข้อตกลงทวิภาคีที่ได้ต้อง monitor การจัดการภายในและบริเวณรอบข้างให้ได้ ผลักไทยให้อยู่ใน Tier 1 ของ TIP report โดยใช้ศักยภาพของประเทศมหาอำนาจ และความร่วมมือระหว่างประเทศให้มากที่สุด โดยไทยบริหารจัดการ
“ผมไม่ได้บอกว่าควร “ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน” โดยการนำต่างประเทศเข้ามาในไทยในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ปัญหาดังกล่าวมันใหญ่ (แต่ไม่ลึกลับหรอกครับ) กว่าประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือแม้กระทั่งการรวมกลุ่มกันอย่างอาเซียนจะจัดการได้ เราควรดึงศักยภาพของประเทศมหาอำนาจมาช่วยจัดการโดยมีข้อตกลงว่าไทยจะบริหารจัดการเรื่องภายในประเทศโดยไม่มีการแทรกแซงจากมหาอำนาจ เรื่องนี้เป็นวาระแห่งโลก ไม่มีใครอยากมาหาผลประโยชน์จากเรื่องมนุษยธรรมหรอกครับ แต่เราต้องบริหารจัดการเรื่องมนุษยธรรมให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความเป็นผู้นำของไทยในเวทีระหว่างประเทศให้ได้ต่อไป”
ขอบคุณภาพ : UNHCR แคมป์ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่เมืองคอกซ์บาซาร์ ประเทศบังคลาเทศ
นล-กัณวีร์ สืบแสง
คณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม
พรรคไทยสร้างไทย