รมว.สาธารณสุข แจง เฝ้าระวังโควิดฯ ระดับ 4 ไม่ได้ยกระดับมาตรการ เป็นการเตือนด้วยความห่วงใย หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ย้ำ เรื่องล็อกดาวน์ต้องพิจารณารอบคอบ
วันที่ 22 ก.พ. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณี กระทรวงสาธารณสุข ประกาศเตือนภัยโควิดฯ ระดับ 4 ว่า ที่ผ่านมา นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประกาศเตือนภัยระดับ 4 ล่าสุด ก็ยังอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้มีการยกระดับ แต่ที่ออกมาสื่อสาร เพราะทางเราเป็นห่วงประชาชน เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ต้องออกมาเน้นย้ำขอความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เหมือน หมอถามว่าตอนนี้ ความดันขึ้น ยังกินอาหารรสเค็มไหม ถ้ากินเค็มต้องระวังนะ เรื่องนี้ ก็เหมือนกัน แพทย์ท่านเป็นห่วง
เมื่อถามถึงเรื่องของสิทธิการรักษาผู้ป่วย นายอนุทิน ตอบว่า เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) ยืนยันว่าไม่ได้ยกเลิกการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แต่รักษาตามสมมติฐานของโรค เช่น ผู้ป่วยโควิดส่วนใหญ่ ที่ไม่แสดงอาการไม่มีอาการรุนแรง หรือผู้ป่วยสีเขียว จะใช้การรักษาแบบรักษาตัวที่บ้าน หรือที่ศูนย์พักคอยชุมนุม
ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลภายใต้ระบบ UCEP ได้ และสามารถรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนได้ โดยไม่มีกำหนดเวลา 72 ชั่วโมง ที่จำแนกประเภทของผู้ป่วย เพื่อให้เตียงมีจำนวนว่างมากที่สุด ต้องเข้าใจว่า ประเทศไทย นอกจากโควิดฯ เรามีผู้ป่วยโรคอื่นด้วย จำเป็นต้องจัดการรักษาให้เหมาะสมกับสถานการณ์
สิ่งที่ยังต้องขอ นอกจากการขอให้ระมัดระวัง คือ ขอให้คนไทย มาฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 เพื่อลดความรุนแรงของโรค ตอนนี้ เราฉีดไปถึงเข็มบูสเตอร์แล้ว บางคนบอกว่า เราฉีดเข็ม 3 ได้น้อย ต้องชี้แจงว่า เราทยอยฉีดตามเกณฑ์การแพทย์ คนที่เพิ่งรับเข็ม 2 ไป ถ้าไม่ถึงเวลาที่กำหนด เรายังไม่ฉีดเข็ม 3 ให้
จากนั้นผู้สื่อข่าวได้ถามถึงสถานการณ์เตียงรักษาผู้ป่วยโควิด 19 นายอนุทิน กล่าวว่า ได้มีการตรวจสอบกับอธิบดีและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้ว ยืนยันว่า จำนวนเตียงและโรงพยาบาลทั่วประเทศมีความพร้อม “การเพิ่มมาตรการ ไปจนถึงล็อกดาวน์ เรื่องนี้ ต้องพิจารณาให้รอบด้าน จะเห็นว่า ประเทศอื่น ติดเชื่อมากกว่า แต่เขาผ่อนคลายมาตรการ ส่วนไทย เราพยายามทำดีที่สุดโดยการหาทางสายกลาง ขอย้ำว่าโอมิครอนติดง่ายหายเร็ว และความรุนแรงของโรคไม่เหมือนสายพันธุ์อื่น” นายอนุทิน กล่าว