พรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล และผู้เชี่ยวชาญ ออกมาคัดค้าน การแปลงสัญญาสัมปทาน เป็นสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เผย พบพิรุธหลายเรื่อง จี้ รัฐ-เอกชน ทำตามกฎหมาย
วันที่ 21 ก.พ. 65 สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเวทีเสวนาออนไลน์ “เปิดปมสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ประชาชนได้หรือเสีย ?” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย (ภท.), นายชนินท์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) ดำเนินรายการโดย นางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย
หลังจาาก 7 รัฐมนตรี พรรค ภท. พร้อมใจ”บอยคอต” ลาประชุม ครม. และได้ส่งข้อเสนอแนะจากกระทรวงคมนาคม ประกอบการพิจารณาวาระต่อสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ บีทีเอส จึงน่าจับตาว่า ครม. จะมีการนำวาระดังกล่าวเข้าที่ประชุม ครม.วันที่ 22 ก.พ.พ หรือไม่ ซึ่ง นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ สส.พรรคภท. กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าจะนำวาระนี้เข้าที่ประชุม ครม.หรือไม่ ถ้านำเข้า คงไม่วอล์คเอาท์แล้ว แต่จะเตรียมข้อมูลไปโต้แย้ง ซึ่ง กระทรวงคมนาคมได้เตรียมเอกสารข้อมูลประกอบไว้พร้อมแล้ว โดยเฉพาะโครงสร้างกรรมสิทธิ์ ในสัญญาสัมปทาน ช่วงปี 2561-2562 ที่ได้ดำเนินการไว้ไม่ถูกต้อง “หากทางกระทรวงมหาดไทยยังไม่เปลี่ยนแปลง พรรคภูมิใจไทยคงมีจุดยืนเดิม คือ ไม่ลงมติเห็นด้วยกับการต่อสัญญาสัมปทาน คงได้มีโหวตสวนกันแน่นอน” นายสิริพงศ์ ย้ำจุดยืนพรรคภท.
นายสิริพงศ์ ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า ครม.ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า หนี้ค่าก่อสร้างจำนวน 6 หมื่นล้าน เป็นของใคร? และ กทม. ทำตามกระบวนการทางกฎหมายหรือไม่? เพราะแม้จะมีมติครม.ให้มีการโอน งานก่อสร้างให้ กทม. แต่หาก กทม. ยังมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายให้ครบถ้วน ดังนั้น ภาระหนี้จึงเป็นของ รฟม. อยู่ ณ วันนี้ ตลอดจนบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด มีสิทธิ์ อะไรไปจ้าง บีทีเอส เพื่อดำเนินการตามสัมปทานเดินรถ
“การก่อหนี้ตรงนี้ต้องมีคนรับผิด แม้จะอ้างมาตรา 44 แต่การดำเนินการ ที่ผิดพลาด มันมาตั้งแต่ก่อนมาตรา 44 ซึ่งต้องเน้นย้ำในทางปฏิบัติที่ต้องให้ กทม. ดำเนินการตามระเบียบขั้นตอน นี่คือประเด็นข้อกฎหมาย ที่มีน้ำหนักมากในที่ประชุม ครม. และหากยังจะพิจารณาสัญญาตรงนี้ คมนาคม ก็จะยังคงไม่เห็นด้วย” นายสิริพงศ์ กล่าว
นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า โดยหลักแล้ว สัญญาประเภทนี้ หน่วยงานราชการ ควรเปิดเผยให้ประชาชนทราบ เพราะผลทั้งหลายนั้นเกี่ยวข้องกับประชาชน เช่น ค่าโดยสาร คิดว่าเป็นเรื่องที่ทาง กทม. ต้องชี้แจง และทำให้ปรากฏว่าไม่มีอะไรปิดบังซ่อนเร้น ไม่ควรมีการดำเนินการอะไรแปลก ๆ อย่างการใช้มาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) จ้างเอกชนรายเดียวดำเนินการในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ รวมถึงความเป็นความลับของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน พ.ศ. 2562 ที่ควรมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้
“รถไฟฟ้าสายสีเขียวมีกระบวนการที่ไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น ตั้งแต่การก่อสร้างทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และการต่อสัญญาจนถึงสถานีแบริ่ง ผมอยู่ในวงการมา ก็ยังไม่ทราบว่าสัญญาของบีทีเอส มันมีกี่ปีกันแน่ มันไปถึงเมื่อไหร่ ตรงนี้เป็นข้อมูลที่ผมเชื่อว่าหลายท่านก็ไม่ทราบ และตราบใดยังไม่เปิดข้อมูลทั้งหมดมันเป็นอันตรายมาก โดยเฉพาะในอนาคตที่จะมีการเชื่อมต่อโครงข่ายอีกหลายสาย” นายประภัสร์ กล่าว
ส่วนทางด้าน รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในประเด็นเดียวกันว่า เราทราบข้อมูลว่า กทม. ได้รับรายได้จากการเดินรถกว่า 3 แสนล้านบาท จากสูตรค่าโดยสาร 15+3X แล้วประโยชน์เหล่านี้จะกลับมาที่ประชาชนหรือไม่?