ปชป.ไม่ห่วง ศึกในพปชร. ขอมุ่งทำงาน ตอบแทนปชช. เตือนยุบสภามีปัญหาแน่

ปชป.ไม่กังวลสถานการณ์การเมืองขณะนี้ เผย “จุรินทร์” ย้ำทุกคน เดินหน้า ทำงาน เพื่อ ปชช.ต่อไป “ราเมศ” เชื่อไม่ยุบสภาตอนนี้ เหตุกม.ลูกยังไม่ผ่าน หากยุบมีปัญหาแน่

วันที่ 22 ม.ค.2565 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองว่า พรรคไม่ได้กังวล เพราะตลอดระยะเวลา ภายใต้การนำของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคปชป. และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคปชป.มีความมุ่งมั่นเพื่อทำงานรับใช้พี่น้องประชาชนและประเทศชาติ สร้างความยั่งยืนให้กับประชาชนและชาติบ้านเมือง พรรคฯเป็นสถาบันทางการเมืองไม่ใช่พรรคที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ

โดย นายจุรินทร์ ได้ย้ำกับบุคลากรของพรรคปชป.เสมอว่าให้ตั้งใจทำงานในทุกเวลา ทุกสถานการณ์ ยึดหลักความซื่อสัตย์ สุจริต ยึดมั่นการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ผ่านมาจะเห็นผลการทำงานเป็นที่ประจักษ์มีการผลักดันเกิดความสำเร็จในหลายโครงการ คิดและทำเพื่อความยั่งยืนของประชาชนและประเทศ บทบาทในสภาฯส.ส.ทุกคนก็ทุ่มเทตั้งใจทำงานกันอย่างเต็มที่

“สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้พรรคฯจึงไม่ได้มีความกังวลแต่อย่างใด และไม่ขอก้าวล่วงไปวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาในพรรคการเมืองอื่น ทุกคนในพรรคฯที่มีหน้าที่มุ่งมั่นทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ที่สุด ส่วนจะมีการยุบสภาหรือไม่ ไม่สามารถตอบได้เพราะเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี เพียงแต่พรรคฯต้องการเร่งผลักดันพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด”โฆษกพรรคปชป. กล่าว

นายราเมศ กล่าวต่อว่า การเตรียมการในเรื่องพรรคการเมืองก็สำคัญหากร่างแก้ไขพ.ร.บ.ปรกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองผ่าน ในส่วนของเขตเลือกตั้ง 400 เขต พรรคการเมืองก็ต้องมีการเตรียมการในส่วนความพร้อมของสมาชิกพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดหรือสาขาพรรค ซึ่งในส่วนของพรรคฯเมื่อมีเขตเลือกตั้งเพิ่มมา 50 เขต จากฐานสมาชิกพรรคพร้อมเต็มที่ ส่วนตัวแทนพรรคหรือสาขาพรรคมีปรับเปลี่ยนอีกบางส่วน โดยเตรียมความพร้อมไว้ครบถ้วนแล้ว

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า เชื่อว่าการยุบสภาไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ เพราะยังมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ต้องผ่านสภาฯไปก่อน ไม่เช่นนั้นอาจจะเป็นปัญหาได้หากมีการยุบสภาในช่วงที่กฎหมายยังไม่ผ่าน หากจะให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ออกเป็นระเบียบก็อาจจะเป็นปัญหานำไปสู่การตีความได้ เพราะถูกบังคับด้วยรัฐธรรมนูญให้ทำเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณคะแนน รวมไปถึงกระบวนการในทางปฏิบัติของ กกต.