สำนักข่าวอิศรา ถอดบทเรียน ศึกเลือกตั้งซ่อม พื้นที่ภาคใต้ “สงขลา-ชุมพร” ปชป.เจ้าถิ่น ชนะทั้งสองเขต มาจาก พปชร.พลาด “ธรรมนัส” ชูประเด็น เลือกผู้แทนต้องเป็น”คนรวยมีเงิน”
1.ที่สงขลา จุดพลิกผันชัดเจนมาจากคำปราศรัยของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เรื่องผู้แทนต้องเป็นคนรวย มีเงิน จะได้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ จุดนี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์นำไปขยายผลเรื่อง “ดูถูกคนใต้” จนกระแสพลิกกลับ
2.เป้าหมายเดิมของพลังประชารัฐ คือชนะทั้งสองเขต โดย
– สงขลา ใช้ระบบบริหารจัดการแบบ “ใจถึงพึ่งได้” บวกกับการได้ ถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.เขตนี้ของประชาธิปัตย์มาสนับสนุนฝั่ง “โบ๊ต” อนุกูล พฤกษานุศักดิ์ ทำให้เชื่อว่าจะได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำ และคว้าชัยได้ ถึงขั้นที่ “ผู้กองธรรมนัส” เตรียมทิ้งสงขลาช่วงสัปดาห์สุดท้าย หันไปทุ่มที่ชุมพร แต่เมื่อพลาดเรื่องคำปราศรัย จึงปรับแผน ให้ “บิ๊กป้อม” วนไปปราศรัยช่วยอีกครั้ง และระดมสรรพกำลังเต็มที่ แต่แก้เกมไม่ทัน
– ชุมพร หวังใช้ยุทธวิธี “ปิดประตูตีแมว” แต่สุดท้ายเกมพลิกเช่นกัน โดนประชาธิปัตย์โวยเรื่องการใช้อำนาจรัฐ จนเกิดกระแสไม่ยอมรับจากประชาชน
3.ความพ่ายแพ้ที่ชุมพร เพราะคนใต้รู้สึกไม่แฟร์ที่มีบางฝ่ายพยายามใช้อำนาจรัฐเข้าไปกดดัน ประกอบกับพรรคประชาธิปัตย์ทำการบ้านมาดี วางแผนหาเสียงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทั้งชูประเด็น “คืนความเป็นธรรมให้ลูกหมี” (อดีต ส.ส.ชุมพล จุลใส) ว่าทำเพื่อบ้านเมือง แต่ต้องมาโดนคดี, ชูความเป็น กปปส., และหาหาเสียงโยง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่าจะช่วย “บิ๊กตู่” นำพารัฐนาวาต่อไป (คนใต้ยังชอบบิ๊กตู่” แต่ฝ่ายพลังประชารัฐไม่พูดถึงนายกฯเลย)
4.กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ก็ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่น และมีการตัดคลิปแชร์ ขอให้ประชาชนเลือกผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อช่วยอดีต ส.ส.ลูกหมี ด้วย
5.ศึกเลือกตั้งซ๋อม ส.ส.ชุมพร ยังไม่จบ เพราะ ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า เตรียมยื่นคำร้องว่าประชาธิปัตย์โกงเลือกตั้ง จากกรณีจับคนกาบัตรแล้วถ่ายรูป เหมือนยืนยันว่าเลือกเบอร์ 1 จะได้นำไปเป็นหลักฐานรับเงิน โดยจับกุมได้ถึง 5 คน แต่พรรคประชาธิปัตย์โต้ว่าเป็นการจัดฉากใส่ร้าย
6.ที่สงขลา เขต 6 ก็ไม่จบ เพราะพรรคก้าวไกลยื่นคำร้องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบการปราศรัยของผู้กองธรรมนัส เข้าข่าย “สัญญาว่าจะให้”
7.คะแนนเลือกตั้งของผู้สมัครพรรคก้าวไกลน้อยจนน่าตกใจ และที่ชุมพร คะแนนแพ้พรรคกล้า น่าคิดว่าเป็นผลจากกระแสต่อต้านกลุ่มล้มล้างสถาบันหลักของชาติหรือไม่
8.ประเด็นที่ต้องจับตากันต่อไป
– ประชาธิปัตย์ฟื้นไข้ หรือชนะเพราะมีปัจจัยอื่นเกื้อหนุน (ความผิดพลาดของผู้กองที่สงขลา / การออกมาช่วยของกำนันสุเทพ ที่ชุมพร)
– ผลการเลือกตั้งสามารถนำไปเป็นดัชนีชี้วัดการเลือกตั้งใหญ่ได้หรือไม่?
– พรรคพลังประชารัฐสูญเสียความนิยมจากผลงานที่ย่ำแย่ในฐานะแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล และปัญหาขัดแย้งภายในหรือไม่?
– การเผชิญหน้าระหว่าง 2 พรรคร่วมรัฐบาล คือพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์จะบานปลายหรือไม่ (ปชป.เล่นบทพระเอก ไม่ร้องเรียน พปชร.ที่สงขลา แต่ พปชร.เหมือนเล่นบทผู้ร้าย ขยายผลทุจริตเลือกตั้งที่ชุมพร)
– พรรคก้าวไกลต้องทบทวนท่าทีและทิศทางทางการเมืองของตนเองหรือไม่?
– พรรคกล้าจะสู้ต่อ หรือรอควบรวม?
– โมเดลการเลือกตั้งซ่อม 2 เขตนี้ จะเหมือนกับการเลือกตั้งใหญ่แบบบัตร 2 ใบหรือไม่ คือ สองพรรคใหญ่ห้ำหั่นกัน (อาจจะเป็นพลังประชารัฐกับเพื่อไทย) แล้วพรรคอื่นที่เหลือหลุดวงโคจรไปเลย เพราะแข่งกันแค่ 2 พรรค