“อนุทิน” สั่ง กระจายชุดตรวจ ATK ห้ามจำหน่ายเอากำไร เน้น มาตรการกักตัว

63

“อนุทิน” สั่ง องค์การเภสัชฯ เร่งจัดหา กระจายชุดตรวจ ATK ลงพื้นที่ ขายราคาทุน ห้ามเอากำไร ย้ำ แนวทางการรักษา ให้ความสำคัญกับมาตรการกักตัว ขอสำรองเตียงไว้รักษาผู้ป่วยอาการปานกลาง-หนัก มุ่งลดยอดสูญเสีย

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อยอดความต้องการชุดตรวจเอทีเค ที่เพิ่มสูงขึ้น จนอาจจะเกิดภาวะขาดแคลน โดยเมื่อวันที่ 10 ม.ค.2565 ที่ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้สั่งการให้องค์การเภสัชกรรม เร่งจัดหา และกระจายชุดตรวจลงพื้นที่ ห้ามจำหน่ายเอากำไร ต้องขายราคาทุน ขณะที่ สปสช. ซึ่งมีชุดตรวจคงเหลือ 1 ล้านชุด ต้องส่งลงพื้นที่ให้เร็ว เพื่อให้ของที่รัฐจัดหา ได้ไปสมทบกับที่ภาคอเนกชน ก็หวังว่า ที่สุดแล้ว เราจะมีชุดตรวจเอทีเค ในราคาที่เหมาะสม จำนวนที่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน

“ผมได้ให้นโยบายกับองค์การเภสัชกรรมไว้ ว่างานของเราคือต้องช่วยเหลือประชาชน ถ้าซื้อมาได้เท่าไร ก็ต้องขายประชาชนเท่านั้น อย่าไปหวังเอากำไร” นายอนุทิน กล่าว และ ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ แนวทางการรักษามีการเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้ทันกับธรรมชาติของโรค ที่มีข้อมูลตรงกันว่า ปัจจุบัน ถึงจะมีรายงานผู้ป่วยเข้ามา แต่อัตราการป่วยหนัก และเสียชีวิต น้อยลงจากเดิมมาก

ดังนั้น ผู้ติดเชื้อ ถ้าไม่แสดงอาการ หรือ มีอาการน้อยมาก แพทย์จะให้กักตัวอยู่ที่บ้าน หรือกักตัวในชุมชน ถือว่าได้เข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว สำหรับเตียงในโรงพยาบาลสนาม จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางขึ้นไป คราวนี้ เราจะต้องเข้มงวด เพราะครั้งที่แล้ว ผู้ป่วย แม้จะไม่มีอาการ ก็ได้รักษาอยู่ที่โรงพยาบาล ทั้งที่สามารถเข้ารักษาในมาตรการโฮม ไอโซเลชั่นได้ ส่งผลให้เราเกิดปัญหากับผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องใช้เตียง ไปจนถึงปัญหาเรื่องการจัดสรรทรัพยากรด้านอื่น ตรงนี้ ต้องขอให้ช่วยกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง ถึงหนัก ต้องได้รับการดูแล ต้องมีเตียงให้รักษา เราต้องลดยอดความสูญเสียให้เหลือต่ำที่สุด เรื่องการแพทย์ ขอย้ำว่า ถ้ามีการเสนอขึ้นมาจากทีมแพทย์ ทีมผู้รักษา ในฐานะรัฐมนตรี พร้อมสนับสนุนทุกแนวทาง ที่ผ่านมา เราจะพิจารณาเรื่องต่างๆ ที่เสนอขึ้นมาโดยที่ประชุม EOC ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ข้อมูลตรงนั้น จะครบถ้วน รอบด้าน

ต่อข้อถามว่า ข้อเสนอจาก กระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึงการสื่อสาร ดูรุนแรง ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในภาคเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวนั้น รมว.สาธารณสุข ระบุว่า ข้อมูลที่นำเสนอออกไป คือ ความจริง ด้วยความเป็นห่วงต่อชีวิตประชาชน การสื่อสารของสาธารณสุขตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงทั้งหมด ตั้งอยู่บนสถานการณ์ปัจจุบัน เราไม่จนับ ตั้งแต่เราเลื่อนมาตรการ TEST AND GO ออกไป มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยน้อยลง เราเข้าใจได้ ตอนนี้ ที่ให้ความสำคัญคือการพาคนไทยกลับบ้าน