ไฟใต้ลุกท่วม รับปีเสือดุ ท้าทายอำนาจรัฐ สวนนโยบาย “บิ๊กป้อม-มทภ.4” คืนสันติสุข

87

การประกาศให้จังหวัดชายแดนภาคใต้จะสงบสุข และยุติปัญหาความรุนแรงต่างๆ ได้ในปี 70 ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ดูเหมือนถูกท้าทายจากกลุ่มก่อความไม่สงบ และโจรใต้ ในช่วงคืนส่งท้ายปีเก่า 2564 และต้อนรับปีใหม่ 2565 ที่จะเข้าสู่ปีเสือดุ ได้เกิดเสียงระเบิด เสียงปืนสงครามดังสนั่นพร้อมกันหลายจุดในพื้นที่ปลายด้ามขวานทอง

ถือเป็นการลองของ ลองดี หรือเย้ยอำนาจรัฐ เพราะทหารใต้ต้องเจองานเครียดในช่วงวันที่น่าจะได้เฉลิมฉลองเพื่อเข้าสู่วันใหม่ ปีใหม่ โดยเหตุการณ์ตั้งแต่คืน 29 ธ.ค.64 ซึ่งเชื่อกลุ่มคนร้ายน่าจะมีการวางแผน และเตรียมการอย่างดี ในการก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ไม่ว่าจะเป็นการลอบวางระเบิด ยิงถล่มฐานทหาร จุดประสงค์หลักคือประกาศศักยภาพ และมุ่งสังหารเจ้าหน้าที่ทหาร เอาชีวิตตำรวจ โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย ไม่เกรงกลัวอำนาจรัฐ เพราะการจะนำจังหวัดชายแดนใต้ ปี 66 – 70 มุ่งให้ภาคใต้มีความสงบสุข รวมถึงการประกาศทุกเหตุการณ์ความรุนแรงจะยุติได้ในปี 70 และขจัดเงื่อนไขเก่าที่มีอยู่ให้หมดสิ้นไป หลายเหตุการณ์ในพื้นที่ในภาคใต้ก็เกิดขึ้นพร้อมกับความรุนแรงทันที

นโยบายของ พล.อ.ประวิตร ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปฏิบัติ และการขับเคลื่อนระดับพื้นที่ รวมทั้งการกำหนดคณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯ เพื่อประสานงานระหว่าง ครม.ราชการส่วนกลางและหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่ตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ใน จชต.ผ่านกลไกสภาสันติสุขตำบล เพื่อขจัดเงื่อนไขเก่าที่มีอยู่ให้หมดสิ้นไป ตลอดจนเงื่อนไขใหม่ไม่เกิดขึ้น โดยนำร่อง 184 ศูนย์ในพื้นที่ 3 จชต. และ 4 อำเภอสงขลา

แต่ผลตอบรับกลับเกิดขึ้นตั้งแต่ย่ำค่ำของวันที่ 29 ธ.ค.64 ที่โจรใต้แห่มากันเป็นกลุ่ม ได้ทำการลอบวางระเบิดแสวงเครื่องกับทหารพรานชุด ร้อย ทพ.2002 จำนวน 8 นาย ขณะลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยในพื้นที่หมู่ 3 บ้านโสร่ง ต.เขาตูม อ.ยะรัง โดยมุ่งเอาชีวิตเจ้าหน้าที่ จากนั้นตำรวจ สภ.บ้านโสร่ง ได้รับแจ้งเหตุยกกำลังเข้าตรวจสอบพบรถจักรยานยนต์ของเจ้าหน้าที่ล้มคว่ำ 1 คัน ทหารได้รับบาดเจ็บ 2 นายคือ ส.อ.อดิศักดิ์ โชคบัณฑิต และ อส.ทพ. ประพันธ์ สีสันต์ ทั้งคู่โดนสะเก็ดระเบิดบริเวณใบหน้า ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลยะลา โดยเบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่เฝ้าดูพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ชุดนี้อยู่ก่อนแล้ว จึงฉวยโอกาสลอบวางระเบิดเพื่อสร้างสถานการณ์ต่อมาคืนส่งท้ายปีเก่า วันที่ 31 ธ.ค.64 กลุ่มคนร้ายลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าและเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ จ.ยะลา จำนวน 6 จุด ใน 2 พื้นที่คือ อ.เมืองยะลา และ อ.บันนังสตา โดยจุดแรกเกิดระเบิดเสาไฟฟ้าริมถนน ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 409 จุดที่ 2 ระเบิดเสาไฟฟ้า บริเวณโรงไฟฟ้าพงยือไร บ้านพงยือไร ม.1 ต.บันนังสาเร็ง อ.เมืองยะลา และพบวัตถุต้องสงสัยเป็นถังดับเพลิงสีแดง บริเวณเสาไฟฟ้า บ้านพงยือไร

ส่วนในพื้นที่ อ.บันนังสตา เกิดเหตุ 4 จุด จุดแรกระเบิดเสาไฟฟ้าริมถนน ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 จุดที่ 2 และจุดที่ 3 ระเบิดเสาไฟฟ้าและเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ บริเวณสามแยกในพื้นที่ บ้านบือซู ม.6 ต.บันนังสตา จุดที่ 4 ระเบิดเสาไฟฟ้าในพื้นที่บ้านกาสัง ม.3 ต.ตาเนาะปูเต๊าะ จำนวน 2 ลูกจากการตรวจสอบที่เกิดเหตุทั้ง 6 จุด ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต มีเพียงเสาไฟฟ้าล้มและทำให้เกิดไฟฟ้าดับ โดยการข่าวในพื้นที่ ได้มีการแจ้งเตือนมาอย่างต่อเนื่อง จนท.ได้ร่วมกันเฝ้าระวังและป้องกัน การตรวจตราในพื้นที่ เชื่อคนร้ายต้องการแสดงออกศักยภาพที่ยังมีอยู่ในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นการพูดคุยสันติสุขในช่วงเดือนนี้ และให้มีการพูดคุยอย่างต่อเนื่อง

และเมื่อข้ามสู่ปีใหม่ ช่วงเช้าวันที่ 2 ม.ค.65 กลุ่มคนร้ายยังสร้างสถานการณ์ต่อเนื่อง โดยนำระเบิดแสวงเครื่องน้ำหนัก 10 กิโล ใส่ในถังดับเพลิงมัดติดกับเสาไฟฟ้าริมถนนบายพาส ใกล้สะพานข้ามคลองโกตา แต่พลเมืองดีเห็น จึงได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจสอบ และเก็บกู้ด้วยการยิงทำลายจนสำเร็จ โดยคาดว่าเป็นของแนวร่วม แต่ต่อสายชนวนผิดพลาดทางเทคนิคระเบิดจึงไม่ทำงาน จนท.ตร.จะได้สืบหาตัวคนร้ายชุดนี้มาดำเนินคดีต่อไป

จากนั้นในวันที่ 3 ม.ค.65 คนร้ายที่เหิมเกริมมากันกว่า 10 คน ใช้อาวุธสงครามยิงเจ้าหน้าที่ทหารพราน บริเวณหน้าฐานปฏิบัติการ ร้อย ทพ.4513 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 บนถนนสายบองอ–ดุซงญอ อ.ระแงะ ขณะที่ทหารพราน 6 นาย ตั้งจุดตรวจจุดสกัดที่บริเวณหน้าฐาน จากนั้นเกิดการปะทะกันนานกว่า 30 นาที  พบ ส.ต.เอกชัย มูเก็ม ถูกยิงเสียชีวิต ส่วน อส.ทพ.มงคล อัญยะประเสริฐ และ อส.ทพ.นันทวัฒน์ ทองใหญ่ ถูกยิงอาการสาหัส

และบริเวณป่ารกทึบข้างฐานห่างจากจุดด่านจุดตรวจประมาณ 50 เมตร เจ้าหน้าที่พบรอยเหยียบย่ำกิ่งไม้หักเป็นบริเวณกว้าง และพบปลอกกระสุนปืนสงคราม เอ็ม.16 อาก้า ของคนร้ายตกอยู่จำนวนกว่า 30 ปลอก และบริเวณป่ารกทึบตรงข้ามฐาน มีร่องรอยของเท้าคนเหยียบย่ำเป็นวงกว้างเช่นกัน และพบปลอกกระสุนปืนสงคราม เอ็ม.16 และ อาก้า รวมทั้งปลอกกระสุนปืนลูกซอง ตกอยู่อีกจำนวนกว่า 40 ปลอก

ต่อมากลางดึกวันที่ (3 ม.ค.) คนร้ายกลับเข้ามาลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าบริเวณหน้าถ้ำฤๅษี หมู่ 2 ต.ธารโต ริมทางหลวงสาย 410 ยะลา-เบตง แรงระเบิดทำให้เสาไฟฟ้าโค่นหักเสียหาย นอกจากนี้ พบชิ้นส่วนถังดับเพลิง เศษแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมการจุดชนวน สะเก็ดระเบิดกระจัดกระจาย และมีระเบิดแสวงเครื่องอัดถังดับเพลิงสีแดงที่ยังไม่ทำงานผูกติดกับเสาไฟฟ้าต้นถัดไปอีก 1 ลูก โดยไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ โดยเสียงระเบิดดังไปทั่วจนถึงตลาดธารโต ที่ห่างไปร่วม 2 กม. ซึ่งคาดว่าเป็นฝีมือเครือข่ายแนวร่วมชุดใหม่ของพวกสร้างสถานการณ์แอบนำระเบิดแสวงเครื่องอัดถังดับเพลิงมาวางไว้เพื่อแสดงศักยภาพ

เบื้องต้นหน่วยความมั่นคงสันนิษฐานว่า เป็นการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง เพื่อแสดงศักยภาพเชิงสัญลักษณ์ในวาระครบรอบ 18 ปีเหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 หรือ ค่ายปิเหล็ง หรือค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547

พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยว่า การก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ จชต. คนร้ายมีความพยายามสร้างสถานการณ์ มุ่งสู่การก่อเหตุตลอดเวลา เพราะเป็นหนทางที่จะแสดงกำลังศักยภาพ โดยอาศัยช่องว่าง เมื่อขบวนการเหล่านี้ไม่สามารถกระทำต่อกองกำลังทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐได้ จึงต้องมุ่งไปยังต่อสาธารณูปโภค จึงส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน กองทัพภาคที่ 4 ต้องหาทางแก้ไข เพิ่มการดูแลความปลอดภัยต่อพี่น้องประชาชนให้ได้

“สิ่งที่คนร้ายก่อเหตุ จริงๆ แล้วไม่ใช่คนรุ่นใหม่ แต่เป็นคนรุ่นเก่าที่กองทัพภาคที่ 4 เคยเชิญตัวมาตามขบวนการ พ.ร.ก. ที่ให้ออกมารายงานตัวเพื่อแสดงตนยุติความรุนแรง จนเมื่อยอมรับก็เข้าสู่กระบวนการพูดคุย และจากผลการซักถาม ก็ได้เก็บหลักฐาน เมื่อไม่ได้เข้าสู่เงื่อนไข ทหารเราก็ต้องปล่อยตัวไป เมื่อปี 57-59 ซึ่งเป็นกลุ่มฏิบัติการในพื้นที่ เมื่อเกิดเหตุเราต้องบังคับใช้กฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย ป.วิอาญา แล้วกลุ่มพวกนี้ก็กลับมาก่อเหตุอีก เพื่อแสดงศักยภาพว่ายังคงมีกองกำลังอยู่ และการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์” แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุ

ส่วนแนวโน้มความรุนแรงในทางทหารก็ต้องเดินหน้าปรับจุดบกพร่อง จุดอ่อนของเราในการรักษาความปลอดภัย ด้วยการเพิ่มกำลังจุดตรวจ จุดสกัด รวมถึงการปรับกลยุทธ์ ทบทวนข้อบกพร่องของเรา เพื่อนำพื้นที่ภาคใต้มาสู่สันติสุข สู่ความสงบร่มเย็น เพื่อพี่น้องอยู่ดีกินดี มีความปลอดภัย

“เชื่อว่าขบวนการ หรือคนร้ายเหล่านี้ มีความพยายามที่ต้องการผู้ก่อเหตุรุนแรงต่อเนื่อง รวมถึงการแสดงเชิงสัญลักษณ์ โดยเฉพาะในวันที่ 4 ม.ค. ที่ครบ 18 ปี เหตุ ‘ปล้นปืน’ ที่ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ‘ค่ายปิเหล็ง’ กองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง เพื่อต้องการแสดงศักยภาพว่ายังคงมีกองกำลังอยู่ แต่ขบวนการเหล่านี้จะแสดงได้มากน้อยก็อยู่ที่เราจะต้องปฏิบัติการเชิงรุกเหมือนกัน และกดดันเหมือนกัน”

พล.ท.เกรียงไกร ยังวิเคราะห์ว่า คืนวันที่ 4 ม.ค.65 ครบ 18 ปี คนร้ายพยายามก่อเหตุอีกครั้ง แต่หน่วยปฏิบัติได้เน้นย้ำต่อกำลังทหารตลอดเวลา กระทั่งตนต้องลงพื้นที่ไปนอนในค่ายทหารปิเหล็ง เพื่อแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์เราควบคุมได้ ทั้งยังได้พบปะพูดคุยกับผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา 70 คน พื้นที่เจาะไอร้อง สุไหงปาดี โดยจะร่วมไม้ร่วมมือทำทำเจาะไอร้องเป็นเจาะไอรัก ซึ่งหลักแนวคิดนี้ ส่วนใหญ่ผู้นำเข้าใจสถานการณ์ เข้าใจบทบาท และมีความร่วมมือที่ดี

แม่ทัพภาคที่ 4 มองว่า ขบวนการที่ก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังหลงเหลือ 2-3 กลุ่ม มี กลุ่มปฏิบัติการ และแนวร่วม ที่มีการแบ่งแยกพื้นที่ก่อเหตุในความรับผิดชอบ ทางเจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายต่อคนร้ายที่ต่อสู้ ปะทะ ใช้อาวุธ โดยจะมีวิธีการจากเบาไปหาหนัก และการเชิญผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และผู้นำศาสนา ร่วมพูดคุยเจรจา และหลายกรณีที่มอบตัว ไม่ยิงตอบโต้ เจ้าหน้าที่ก็นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะกองทัพยึดถือหลักมนุษย์ธรรม มีกระบวนการจากเบาไปหาหนัก ตั้งแต่ประสานให้ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ผู้นำศาสนา ช่วยคุยเจรจาให้ออกมามอบตัว แต่ถ้าหากยังขัดขืนต่อสู้ และใช้ความรุนแรง เจ้าหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติทางเลือกสุดท้ายคือการใช้ความรุนแรงเข้าตอบโต้ส่วนที่มีการมองว่าในปี 2565 ผู้ก่อเหตุต้องการประกาศศักดาในการใช้ความรุนแรงนั้น กองทัพภาคที่ 4 ยังยึดมั่นตามนโยบาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่ประกาศในปี 70 จะนำภาคใต้สู่สันติสุข ตามที่ได้ชี้แจงยุทธศาสตร์ไว้ เพราะเจ้าหน้าที่คาดหวังจะไม่ใช้ความรุนแรง เพระทหารยังได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนที่ไม่ต้องการความรุนแรง ปฏิเสธความรุนแรงในพื้นที่มาเป็นแนวร่วม และทาง นายกรัฐมนตรี ก็เป็นห่วงสถานการณ์ รวมถึงได้ชี้แนะให้กำลังเจ้าหน้าที่และประชาชนในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

“กองทัพภาคที่ 4 ยังยืดมั่นเดินตามกลยุทธ์ โดยใช้วิธีการปฏิบัติหลัก 5 ประการ ตอบรับยุทธศาสตร์ การควบคุมพื้นที่และการบังคับใช้กฎหมาย, งานแก้ไขปัญหายาเสพติด, งานการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง, งานส่งเสริมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงและงานสร้างความเข้าใจ ยึดหลักสันติวิธี รวมกรอบนโยบาย ผบ.ทบ. ที่ให้ดำเนินการดูแลความปลอดภัยพี่น้องประชาชน บรรเทาทุกข์ จชต.ให้มีความสงบ”

จะเห็นได้ว่า แม้ทางการพยามจะชู นโยบาย ของ”บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ประกาศให ภายในปี 2570 หรือ อีก5ปีข้างหน้านับจากนี้ เพื่อนำความสงบและสันติสุขมาสู่ ดินแดนปลายด้ามขวาน แต่ เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วง ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ที่ผ่านมาหมาดๆ กลับทวีความรุนแรง สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

จึงเป็นโจทย์ใหญ่ ให้รัฐบาล โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง ต้องพึงตระหนัก อย่างยิ่ง !!