“วิษณุ”เปิดไทม์ไลน์ ศึกการเลือกตั้งปี65 “ผู้ว่าฯกทม.-นายกพัทยา-เลือกตั้งใหญ่”

“วิษณุ เคืองาม” เปิดไทม์ไลน์ปี 65 เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-นายกเมืองพัทยา และเลือกตั้งใหญ่ เผย พรรคร่วม ฝ่ายค้าน สำนักงบฯ เป็นที่รู้กัน ชี้ การประชุม เอเปก เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น ผู้นำไทยควรต้องอยู่สถานะรัฐบาลเต็มตัว

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี มีการพิจารณางบประมาณจัดการเลือกตั้งทั่วไป วงเงิน 5,600 ล้านบาท ว่า เนื่องจากทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้แจ้งมาในวันที่เสนอพระราชบัญญัติกฎหมายลูก ซึ่ง กกต. ไม่ได้สนใจในเรื่องของการใช้งบประมาณปีไหน แต่เขาได้ระบุตัวเลข ที่จะต้องใช้ มีจำนวนเท่านี้ ส่วนจะใช้งบไหนอยู่ที่ว่าจะเกิดการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ซึ่งก็ตอบไม่ได้ว่าปีไหน ถ้าเลือกตั้งปีนี้ จะต้องใช้งบปีนี้ ถ้าเป็นปีหน้าก็ต้องใช้งบประมาณปีหน้า โดยใช้งบกลาง

นายวิษณุ กล่าวถึงไทม์ไลน์ทางการเมืองในปี 65 ที่จะต้องขับเคลื่อนการเลือกตั้ง ว่า จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เลือกนายกเมืองพัทยา และการเลือกตั้งใหญ่ อันนี้ถือเป็นเรื่องธรรมดา เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว สำนักงบประมาณ รัฐบาล และฝ่ายค้าน ก็รู้ พรรคร่วมรัฐบาล ก็รู้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การขับเคลื่อนงานของรัฐบาล จะอยู่สถานะไหน จะยังเป็นรัฐบาลเต็มรูปแบบ หรือ รัฐบาลรักษาการ นายวิษณุ กล่าวว่า ตราบใดที่ยังไม่มีการยุบสภาฯ รัฐบาลปัจจุบัน ก็ถือว่าเป็นรัฐบาลที่เต็มรูปแบบ และยิ่งต้องทำงานหนักขึ้นด้วยซ้ำไป เหตุที่ต้องทำงานหนักขึ้น เพราะว่าเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาล

ซึ่งในแง่ฝ่ายการเมือง เขาก็อยากทำผลงาน ในแง่ของรัฐบาลก็อยากจะขับเคลื่อนนโยบายที่ยังค้าง ไม่เช่นนั้น เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า จากไปโดยที่ยังไม่ได้ทำ ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีวงรอบละ 5 ปี ซึ่งเริ่มจากปี 2560 และจะครบ ในปี 2565 การปฏิรูปก็จะครบในปี 2565 เดือนเมษายน เช่นเดียวกับยุทธศาสตร์ชาติก็จะครบปี 2565

ส่วนการประชุมเอเปกที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2565 จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะต้องอยู่แบบรักษาการ หรือเป็นรัฐบาลเต็มจะดีกว่า นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดว่าจะต้องอยู่ แต่โดยสภาพความเป็นไป ทุกคนก็รู้ว่าเมื่อจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก ต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 และตั้งแผนไว้แล้วว่าจะเป็นการประชุมแบบทุกคนมาปรากฏตัว ไม่ใช่ประชุมแบบออนไลน์ จึงต้องมีความคาดหมายในบรรดาประเทศทั้งหลาย ที่ควรได้เจรจากับผู้นำ อาจจะมีการเจรจาแบบทวิภาคี จับคู่กันเหมือนกับการประชุมนานาชาติทั่วไป

ซึ่งเขาก็คาดหมายว่า เขาควรจะต้องประชุมกับผู้ที่เป็นรัฐบาลอยู่ แต่หากรัฐบาลนั้นต่อไปจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้น ไม่แปลก แต่ขณะเจรจาให้รู้แน่ว่าคือรัฐบาลก็แล้วกัน ไม่ใช่ว่าเป็นตัวรักษาการ แต่หลังเจรจารัฐบาลนั้นจะอยู่หรือไป เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เพราะโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้กับทุกประเทศ ผู้นำประเทศมาคุยกันพอ กลับไปป่วยบ้าง ลาออกบ้าง ตายบ้าง ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจบ้าง พ้นไปมันก็ช่วยไม่ได้ แต่ขณะเจรจา จะเจรจา โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นหรือไม่เป็นรัฐบาลคงไม่ได้

ในอดีตเราเคยมีเมื่อครั้งประธานาธิบดี คลินตัน มาเยือนประเทศไทย จังหวะเดียวกับที่เปลี่ยนรัฐบาลจากคุณบรรหาร ศิลปอาชา มาเป็น พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ จึงทำให้เกิดการอิหลักอิเหลื่อ กันพอสมควร กลายเป็นว่า นายบรรหาร ไปต้อนรับที่สนามบินดอนเมือง มีการเช็กแฮนด์กันแล้ว แต่ในขณะที่ประธานาธิบดี คลินตัน ก้าวลงมาจากเครื่องบิน รู้อยู่แล้วว่า นายบรรหาร พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะทำให้การเจรจาลำบาก และรู้แล้วด้วยซ้ำว่า พลเอก ชวลิต จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป เนื่องจากได้เสียงข้างมาก

วันรุ่งขึ้นเขาจึงต้องไปขอพบกับ พลเอก ชวลิต เป็นการส่วนตัว ครั้งนั้นเป็นเรื่องการหารือแบบทวิภาคีไทยกับอเมริกา แต่ถ้าเป็นพหุภาคีมาทีเดียว 20 ประเทศ มันจะต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่น เพราะนี่คือเกียรติภูมิ และความอยู่รอดของประเทศ มันไม่ใช่ เรื่องชื่อเสียงเกียรติยศหน้าตาของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เหมือนกับในอดีตที่มีรัฐบาลเดินทางไปต่างประเทศ ไปเจรจาซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้ว และจังหวะนั้นก็มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในประเทศไทย อย่างนี้มันทำให้อิหลักอิเหลื่อ “ฉะนั้น เลี่ยงกันได้ก็ควรจะเลี่ยง จะเอาเสียก่อนให้มันเสร็จๆ ไปก็ไม่ว่ากัน จะได้รู้แล้วรู้รอดไป ซึ่งต้องคำนึงผลประโยชน์ประเทศชาติ หากจะมีการยุบสภาฯ ในช่วงไหน” นายวิษณุ กล่าว