“เต้น”ฟันธง เลือกตั้งครั้งหน้า พท.เป็นต่อแน่ แต่นายกฯคนต่อไปคือ “บุรุษคนเดิม”

“ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ”อดีตแกนนำนปช. และ แกนนำเครือข่ายขับไล่ประยุทธ์ ฟันธงเลือกตั้งคราวหน้า ‘เพื่อไทย’ เป็นต่อเห็นๆ แต่เต็งหนึ่ง นั่งเก้าอี้ นายกฯ” คือ บุรุษคนเดิม ที่ มีเสียง 250 สว.หนุน

วันที่ 29 ธ.ค.2564  นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเครือข่ายไล่ประยุทธ์ กล่าวในรายการ “หัวใจไม่หยุดเต้น” EP.51 : 2565 เดินหน้าสู่เส้นชัยของประชาชน เผยแพร่ทางเพจเฟซบุ๊ก ช่วงหนึ่งระบุว่า “…แม้บรรยากาศการเลือกตั้งจะเริ่มต้นตั้งแต่ต้นปี แต่การเลือกตั้งใหญ่ผมเชื่อว่าไม่น่าจะมาถึงได้ง่ายๆ ในหัวใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและพวก ต้องการอยู่ 4 ปีเต็ม ครบวาระของรัฐบาลนี้

อุบัติเหตุทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งภายใน ผมไม่คิดว่าจะนำไปสู่เงื่อนไขการล้มรัฐบาลได้ เพราะคนพวกนี้สมประโยชน์ทางอำนาจกันมาโดยตลอด และถือเอาผลประโยชน์ของกลุ่มพวกเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการรักษาอำนาจ การกระทบกระทั่งระหองระแหงภายในจะมีให้เห็นไปตลอดทาง แต่ไม่น่าจะนำไปสู่การแตกหักได้

ปัญหาที่เกิดขึ้นในสภา ทั้งความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล การหักล้างกันระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล หรือกระทั่งสภาล่ม ที่เกิดให้เห็นบ่อยครั้งก่อนสิ้นปี ก็ไม่น่าจะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะผู้มีอำนาจเหล่านี้ไม่ได้โตขึ้นมาด้วยสำนึกทางการเมืองในระบบ คนพวกนี้ไม่เคยให้ค่ากับการเมืองในระบบรัฐสภา คนพวกนี้เชื่อมั่นเพียงการใช้กำลังยึดอำนาจและหน้าด้านใช้ทุกวิธีการเพื่อรักษาอำนาจเท่านั้น สภาล่มกี่ครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่รู้สึกรู้สาหรอกครับ เพราะความล้มเหลวของระบบรัฐสภาคือความแข็งแรงของอำนาจนอกระบบซึ่งเป็นที่มาของพวกเขา

ผมคิดว่าถ้าจะมีการยุบสภาก่อนครบวาระน่าจะอยู่ในสถานการณ์เดียว คือรัฐบาลประเมินแล้วว่าอยู่ในช่วงเวลาได้เปรียบที่จะเข้าสู่สนามเลือกตั้ง นั่นหมายถึงเราต้องเห็นสัญญาณการใช้งบประมาณโปรยแจกหว่านไปทั่วประเทศ ข้อสังเกตง่ายๆ เช่น โครงการคนละครึ่งของรัฐบาลจะเริ่มต้นรอบที่ 4 ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ดังนั้นหากจะมีการยุบสภาก่อนครบวาระ คงต้องมองกันที่ครึ่งหลังของปีหน้าเป็นอย่างเร็ว

หากมีการเลือกตั้งใหญ่ ถ้าถามว่าใครจะได้เป็นอันดับหนึ่ง “พรรคเพื่อไทย” เป็นต่อเห็นๆ แต่ถ้าถามว่าใครคือเต็งหนึ่งนายกรัฐมนตรี ชั่วโมงนี้ต้องบอกว่า 250 ส.ว. เขารอยกมือให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนเดิม การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการต่อสู้แข่งขันที่เข้มข้นและแหลมคม ทั้งระหว่างฝ่ายเผด็จการและฝ่ายประชาธิปไตย รวมถึงในแต่ละฝ่ายด้วยกันเอง น่าสนใจว่าประชาชนจะตัดสินใจอย่างไร…”