“…ชาวบ้านเขาต้องการพัฒนาเหมือนกัน แต่ต้องสมดุลกับพื้นที่ และถ้าการจัดทำ SEA เป็นไปตามหลักวิชาการแล้ว ไม่มีการเมืองเข้ามาแทรก เชื่อว่านิคมอุตสาหกรรมจะนะจะไม่ผ่าน และที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้เรียกร้องให้ยกเลิกโครงการฯ เพียงแต่ขอให้ทำ SEA …”
สั่งชะลอโครงการเป็นการ ‘ชั่วคราว’
สำหรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา เนื้อที่ประมาณ 16,700 ไร่ ภายใต้โครงการเมืองต้นแบบ ‘สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ สู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา (เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต) ซึ่งริเริ่มและผลักดัน โดย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
หลังจากเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ผู้เกี่ยวข้องไปจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) และแผนแม่บทต่างๆ โดยให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมฯ
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การผลักดัน ‘นิคมอุตสาหกรรมจะนะ’ มีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน 2 กลุ่ม โดยฝ่ายสนับสนุน มี ‘เครือข่ายประชาชนจะนะอาสาพัฒนาถิ่น’ เป็นแกนกลาง และฝ่ายคัดค้าน มี ‘เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น’ เป็นแกนกลาง
ทั้งนี้ นอกจากเรื่องการจัดทำ SEA ,การจัดทำ EIA และ EHIA แล้ว
หนึ่งในประเด็น ที่ฝ่ายคัดค้านฯ คือ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น หยิบยกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวคัดค้านฯในครั้งนี้คือ กรณีมีขบวนการ ‘กว้านซื้อที่ดิน’ ของชาวบ้านในบริเวณที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะ 3 ตำบล ได้แก่ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา โดยเครือข่ายนักการเมืองในพื้นที่
ก่อนนำไป ‘ขายต่อ’ ให้กับกลุ่มทุนใหญ่ คือ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) ซึ่งเป็น 1 ใน 2 กลุ่มทุนใหญ่ที่จะเข้าไปลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจะนะ ในราคาที่ ‘สูงกว่า’ ที่ซื้อมาจากชาวบ้านถึง 3-4 เท่าตัว
“ตอนนี้ยังมีอยู่ เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของกลุ่มที่จัดการเรื่องนี้ แต่ในสถานการณ์แบบนี้ ผมคิดว่า TPI (บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ หรือ TPIPP) คงจะคิดหนักขึ้นว่า จะซื้อที่ดินต่ออีกหรือไม่ และถ้าดูท่าทีแล้ว เขาอาจจะถอย เพราะเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้นว่าโครงการจะไปต่อไม่ได้ แต่เราคงจะพูดอะไรชัดๆไม่ได้
และเท่าที่เช็กจากนายหน้าในพื้นที่ เขา (TPIPP) น่าจะได้ที่ดินไปเกิน 1 หมื่นไร่แล้ว” สมบูรณ์ คำแหง แกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อถามว่าขบวนการกว้านซื้อที่ดินในบริเวณที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะของ ‘เครือข่ายนักการเมืองในพื้นที่’ ยังมีอยู่หรือไม่
เรียกร้อง ‘สุพัฒนพงษ์’ สอบกรณีกว้านซื้อที่ดิน ‘นิคมฯจะนะ’
ทั้งนี้ สมบูรณ์ เรียกร้องให้ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและรมว.พลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา ตั้งอนุกรรมการฯตรวจสอบกรณีการซื้อที่ดินในพื้นที่นิคมฯจะนะด้วย
“เรื่องนี้ เราเองก็พยายามคุยกับประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯคนปัจจุบัน (สุพัฒนพงษ์) ซึ่งผมได้ให้ข้อมูลเรื่องปัญหาที่ดินไป ท่านก็บอกว่าน่าสนใจ ผมจึงเสนอว่าให้ท่านตั้งอนุกรรมการฯลงไปตรวจสอบในเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาก็มีกลุ่มชาวบ้านไปยื่นหนังสือร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องที่ดิน” สมบูรณ์ กล่าวสมบูรณ์ ระบุด้วยว่า การที่เครือข่ายนักการเมืองกว้านซื้อที่ดินและนำมาขายต่อให้กลุ่มทุนนั้น แม้ว่า นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย บอกว่า ไม่ผิดกฎหมาย
แต่ต้องไปดูด้วยในช่วงที่ นิพนธ์ ดำรงตำแหน่ง รมช.คมนาคม ซึ่งกำกับดูแลกรมที่ดิน ออกนโยบาย ‘เดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน’ นั้น มีการเลือกปฏิบัติหรือไม่
อีกทั้งยังปรากฎข้อเท็จจริงว่า นโยบายของ รมช.มหาดไทย ที่ให้เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ‘เดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน’ นั้น ทำให้เกิดปัญหาการออกโฉนดที่ดินทับที่ดินของชาวบ้านในพื้นที่ 3 ตำบลใน อ.จะนะ และมีการฟ้องร้องกัน
“มีชาวบ้านอย่างน้อย 5 ราย ฟ้องศาลฯว่าเขาโดนโกง และก็พิสูจน์ได้ว่า คู่กรณีเป็นบริษัทที่มีลูกนักการเมืองคนหนึ่งเป็นเจ้าของ นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านหลายรายโดนแบบนี้ แต่เคลียร์ไปแล้ว โดยชาวบ้านยอมรับเงินไป เพราะไม่อยากเป็นคดีความ และคนที่เข้าก็เคลียร์ ชาวบ้านเขาบอกว่าเป็นลูกยก (ลูกเลี้ยง) ของนักการเมือง” สมบูรณ์ ระบุ
เมื่อถามว่าเมื่อที่ดินบริเวณที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะส่วนใหญ่ตกไปอยู่ในมือกลุ่มทุน จะมีผลต่อการจัดทำ SEA หรือไม่ สมบูรณ์ ให้ความเห็นว่า การเป็นเจ้าของที่ดิน และกระบวนการก่อสร้างโครงการฯเป็นคนละเรื่องกัน เพราะแม้ว่ากลุ่มทุนจะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่การเดินหน้าโครงการจะต้องคำนึงถึงสิทธิชุมชน และผลกระทบต่อชุมชนด้วย
แกนนำ ‘จะนะอาสาพัฒนาถิ่น’ ชี้มติครม. ทำชาวบ้านเสียโอกาส
ด้าน สักริยา อะยามา ตัวแทนเครือข่ายประชาชนจะนะอาสาพัฒนาถิ่น ซึ่งสนับสนุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า การที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ยกกรณีนักการเมืองกว้านซื้อที่ดินแล้วขายต่อให้นายทุน มาเป็นหนึ่งในประเด็นที่สร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหวฯนั้น ตนขอถามว่าคนที่ไปเคลื่อนไหว มีที่ดินใน อ.จะนะ หรือไม่
“เรื่องที่เขากล่าวหาออกสื่อ โดยเอาที่ว่าเรื่องนักการเมืองกว้านซื้อที่ดินแล้วเอาไปขายต่อให้นายทุน เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ผมขอถามกลับว่า ที่ดินที่ชาวบ้านขายไปนั้น เป็นที่ดินของคนที่ออกมาเคลื่อนไหวซักแปลงหรือไม่ และถ้ามี ให้เอาเอกสารโฉนดที่ดินมาโชว์ซัก 4-5 แปลงว่า มีที่หรือไม่
ส่วนคนที่เขาขายที่ดินในวันนี้ เขาเต็มใจที่จะขาย โดยไม่มีการใช้อำนาจข่มเหง ข่มขู่ แต่อย่างใด โดยการเจรจาระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เขาไปต่อรองกันเอง และเอาจริงๆเลยนะ แปลงที่มีการซื้อขายกันนั้น เป็นที่ดินเกษตร เช่น ปลูกแตง ปลูกปาล์ม แต่ส่วนใหญ่เป็นที่ว่างเปล่า
ซึ่งชาวบ้านที่เป็นเจ้าของที่ดินจริงๆเอง เขาอยากจะขายมานานแล้ว แต่ไม่มีคนซื้อ และเขาไม่อยากทำเกษตรแล้ว เขาอยากขาย เอาไปทำโครงสร้างพื้นฐาน เอาเงินไปทำบ้าน เอาไปซื้อรถ
ในขณะที่คนที่ออกมาเคลื่อนไหว เขาบอกว่าต้องอยู่แบบเดิมๆ ต้องหาหอยเสียบ ออกทะเลกัน แต่ถามจริงๆว่า เขาออกกันจริงๆหรือเปล่า เขาทำเกษตรหรือเปล่า เขาก็ไม่ได้ทำ แต่ใช้เรื่องเหล่านี้มา เพื่อให้อยู่แบบดักดาน แต่ว่าทุกคนก็อยากจะมีชีวิตสบายใช่ไหม” สักริยา กล่าว
สักริยา กล่าวต่อว่า กรณีที่ ครม.มีมติให้ชะลอโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และให้ไปจัดทำ SEA นั้น ส่วนตัวมองว่า มติ ครม.ดังกล่าว ทำให้ชาวบ้าน อ.จะนะ เสียประโยชน์และเสียโอกาส ซึ่งทางเราจะไปดูว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป และอยากเรียกร้องว่า หากภาครัฐเดินหน้าจัดทำ SEA ต้องให้กลุ่มที่สนับสนุนฯเข้าไปมีส่วนร่วม
“เหตุผลที่เราต้องการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม อ.จะนะ ก็เพื่อต่อยอดและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจในพื้นที่นี้ไม่ดีมานานแล้ว ถามว่าเราจะอยู่แบบเดิมๆอย่างนี้หรือ ถ้าเราไปดูเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ เขาไปถึงไหนแล้ว แต่เราไม่ได้พัฒนาอะไรเลย และไม่ว่าจะมีโครงการอะไรลงพื้นที่ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเขาค้านหมด” สักริยา กล่าว
ขณะที่ก่อนหน้านี้ เครือข่ายประชาชนจะนะอาสาพัฒนาถิ่น ยื่นหนังสือต่อ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ขอให้เดินหน้าโครงการเมืองต้นแบบและนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น รวมทั้งได้เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สนับสนุนโครงการฯเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมาด้วย
ย้อนปม ‘ก้าวไกล’ แฉ ‘นักการเมือง’ กว้านซื้อที่ดินขายกลุ่มทุน
ย้อนกลับในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2564 ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจกรณี นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย มีผลประโยชน์เบื้องหลังในการผลักดันนิคมอุตสาหกรรมจะนะว่า พร้อมระบุว่าโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะเป็นโครงการที่ ‘นายทุนคิด ทหารดัน นักการเมืองหาประโยชน์’
มีการระบุว่า ‘เครือข่ายเครือญาติใกล้ชิดของนายนิพนธ์’ เข้ามีส่วนได้ส่วนเสียกับการซื้อขายที่ดินในพื้นที่ ในลักษณะกว้านซื้อถูก เพื่อนำไปขายต่อในราคาแพง โดยมี 2 กลุ่มเกี่ยวข้อง คือ
กลุ่มแรก เครือข่ายครอบครัวคนใกล้ชิดนายนิพนธ์ เฉพาะเดือน ม.ค.2563 เดือนเดียวมีการซื้อขายทั้งหมด 23 ธุรกรรม พื้นที่ 464 ไร่ มูลค่า 110 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 236,166 บาทต่อไร่
กลุ่มที่สอง TPIPP เฉพาะเดือน ม.ค.2563 มีการกว้านซื้อที่ดิน 25 ธุรกรรม พื้นที่ 450 ไร่ มูลค่า 271 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 602,608 บาทต่อไร่
“ราคาซื้อขายต่างกันกว่าเท่าตัว มีส่วนต่าง 170 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อที่ดินจากกลุ่มคนใกล้ชิดนายนิพนธ์ ไม่ใช่ซื้อจากชาวบ้านในราคาสูง หากในอนาคตเกิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้นจริง มูลค่าที่ดินของบริษัทจะสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว” ประเสริฐพงษ์ อภิปรายเมื่อวันที่ 18 ก.พ.2564
ทั้งนี้ ในการอภิปรายฯดังกล่าว มีการระบุว่า สิรภพ เริงฤทธิ์ หรือ ‘ทนายอาร์’ เป็นทนายความคนสนิทของ รมช.นิพนธ์ และเคยเป็นพนักงานจ้างตำแหน่งผู้ช่วยนิติกร อบจ.สงขลา ในช่วงที่ รมช.นิพนธ์ เป็นนายก อบจ. สงขลา ว่า ได้เข้าไปซื้อที่ดิน 8 ธุรกรรม เนื้อที่ 52.33 ไร่ มูลค่า 12.64 ล้านบาท
นอกจากนี้ จากฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าปัจจุบัน สิรภพ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่ปรึกษากฎหมายและธุรกิจ เอส แอนด์ อาร์ กรุ๊ป จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2559 แจ้งประกอบธุรกิจ ประกอบกิจการทางกฎหมายและบัญชี ทุนจดทะเบียนล่าสุด 1.5 ล้านบาท
สิรภพ ยังเคยเป็นกรรมการ บริษัท สโมสรฟุตบอลสงขลา ยูไนเต็ด จำกัด เจ้าของสโมสรฟุตบอล ‘สโมสรฟุตบอลสงขลา ยูไนเต็ด’ ซึ่งจดปัจจุบันจดทะเบียน ‘เลิก’ เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2561 ในขณะที่ สโมสรฟุตบอลสงขลา ยูไนเต็ด แห่งนี้ เคยมีประธานสโมสรฯที่ชื่อ นิพนธ์ บุญญามณี
อีกทั้งก่อนจดทะเบียนเลิก บริษัท สโมสรฟุตบอลสงขลา ยูไนเต็ดฯ ปรากฏชื่อ นวพล บุญญามณี อดีตนายก อบจ.สงขลา ซึ่งเป็นน้องชายของ นิพนธ์ เป็นกรรมการ ก่อนที่ในเวลาต่อมา นวพล จะถูกศาลฯตัดสินจำคุกเป็นเวลา 7 ปี ในคดีจัดซื้อพันธุ์กุ้ง
และเมื่อไม่นานมานี้ สิรภพ ได้รับมอบอำนาจจาก บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง เจะเส็น ยีระมัน และชาวบ้านอีก 2 ราย เป็นจำเลย โดยขอให้ศาลจังหวัดนาทวีสั่งขับไล่จำเลยทั้ง 3 ออกจากที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 437 เลขที่ดิน 81 ต.บ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา เนื้อที่ 28 ไร่ 3 งาน 85.2 ตารางวา
เรียกร้อง ‘กรมที่ดิน’ เปิดเผยข้อมูลซื้อขายที่ดินจะนะ
ประเสริฐพงษ์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ว่า ในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อเดือน ก.พ.2564 นั้น TPIPP น่าจะมีที่ดินในบริเวณที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะในมือประมาณ 1 หมื่นไร่ แต่ตอนนี้ไม่ทราบว่า TPIPP ซื้อได้ครบทั้ง 1.67 หมื่นไร่หรือยัง และเพื่อคลี่คลายประเด็นที่สังคมแคลงใจว่า มีเครือข่ายนักการเมืองเข้าไปกว้านซื้อที่ดินหรือไม่ กรมที่ดินต้องเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อที่ดินในนิคมฯจะนะ“กรมที่ดินต้องเปิดเผย เช่น ซื้อเท่าไหร่ ขายเท่าไหร่ ชื่อบุคคลที่ซื้อขาย ซึ่งน่าจะตีแผ่ได้ เพราะแค่ 1 เดือน เราเจอขนาดนี้ แล้วก่อนหน้านั้นหรือหลังจากเดือน ก.พ.2564 ไปแล้ว มีอีกหรือไม่ แต่พอเราพยายามจะไปขอข้อมูลจากกรมที่ดิน กรมที่ดินจะอ้างว่าเป็นข้อมูลระหว่างเอกชน จึงไม่เปิดเผย เราอยากเรียกร้องให้มีการเปิดเผยตรงนี้” ประเสริฐพงษ์ กล่าว
ประเสริฐพงษ์ ยังระบุว่า ก่อนหน้านี้ ตนได้ยื่นเรื่องไปที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบนายนิพนธ์ เพราะการที่เครือข่ายนักการเมืองเข้าไปกว้านซื้อที่ดิน แล้วนำไปขายต่อเพื่อทำกำไรนั้น เป็นเรื่องคุณธรรม จริยธรรมนักการเมือง และล่าสุดนายนิพนธ์ ก็ยอมรับว่าการที่มีเครือญาติที่ไปซื้อที่ดิน เป็นเรื่องระหว่างเอกชนต่อเอกชน
“ที่เราตั้งคำถาม แต่เขาไม่เคยตอบเลย คือ ถ้าคุณรู้มติ ครม.ล่วงหน้า และมีสายสัมพันธ์กับบริษัทเอกชนในการซื้อขายปูน รู้จักกันมานาน และตอนแถลงนโยบายตอนเป็นนายก อบจ.สงขลา ว่า จะผลักดันนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งจะเห็นว่า มันเชื่อมกันมาเป็นระยะๆ จึงเป็นเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เพราะคุณรู้ข้อมูลล่วงหน้า” ประเสริฐพงษ์ กล่าว
ประเสริฐพงษ์ ตั้งข้อสังเกตว่า นโยบาย ‘เดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน’ อาจเป็นแรงกระตุ้นชาวบ้านจะนะบางส่วนเร่งขายที่ดินหรือไม่ เพราะมีตัวอย่างมาแล้วที่เกาะนุ้ย เกาะลันตา ที่มีการร้องเรียนว่า หากชาวบ้านติดต่อขอให้เดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน แล้วบอกว่าพร้อมจะขายที่ดิน เจ้าหน้าที่จะดำเนินให้ทันที แต่หากไม่ขาย การออกโฉนดก็จะใช้เวลานาน
ประเสริฐพงษ์ ยอมรับว่า หลังจากการอภิปรายเรื่องนิคมอุตสาหกรรมจะนะในเดือน ก.พ.2564 แล้ว ไม่ได้ลงไปติดตามข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินนิคมฯจะนะเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพราะตนเองเป็นเพียงนักการเมืองเล็กๆคนหนึ่ง
“ความเป็นผู้กว้างขวางคุณนิพนธ์ เป็นสิ่งที่สร้างความน่าเกรงขามให้กับผม เพราะเขาเป็นนักการเมืองนานาน เป็น ส.ส.มานาน ผมก็ต้องขอว่าเอาแค่ข้อมูลที่ผมอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จบ ถ้าจะให้ไปตามต่อ เพราะผมนักการเมืองเล็กๆ ไม่มีผู้ติดตาม ผมไม่ได้ร่ำรวย ไม่มีรถขับในกรุงเทพ ไปไหนมาไหน ผมยังอาศัยรถเพื่อน ส.ส.อยู่เลย” ประเสริฐพงษ์ กล่าว
เชื่อหลังทำ SEA นิคมอุตฯจะนะไม่เกิด แต่เปลี่ยนรูปเป็นนิคมฯขนาดเล็ก
ขณะที่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ซึ่งทำงานกับชาวบ้านและชุมชนในพื้นที่จะนะมากว่า 20 ปี กล่าวว่า แม้ว่า TPIPP จะซื้อดินจำนวนมากในพื้นที่บริเวณที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แต่ TPIPP ยังไม่สามารถนำที่ดินไปสร้างนิคมฯหรือโรงงานได้ เพราะผังเมืองยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนสีจาก ‘สีเขียว’ เป็น ‘สีม่วง’
“เขาซื้อไปแล้วเท่าไหร่ อันนี้เดายาก เข้าใจน่าจะเป็นหมื่นไร่ แต่ยังไม่ครบ 1.67 หมื่นไร่ เพราะชาวบ้านบางส่วนยังไม่ได้ขาย ส่วนการเปลี่ยนสีผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วงนั้น ยังมีขั้นตอนที่ต้องทำ ซึ่งตอนนี้ขั้นตอนหลักที่ยังติดขัดอยู่ คือ การรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” นพ.สุภัทร กล่าว
นพ.สุภัทร ระบุว่า หากภาครัฐมีการเปลี่ยนแปลงผังเมืองเพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ตามร่างฯที่มีจัดทำก่อนก่อนนี้ จะมีผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ 3 ตำบลใน อ.จะนะ เนื่องจากพื้นที่ใน ต.ตลิ่งชัน จะหายไป 50% พื้นที่ใน ต.นาทับ และต.สะกอม จะหายไปตำบลละ 30% ที่สำคัญหากมีการเปลี่ยนสีผังเมืองสำเร็จ ก็จะทำให้มีโรงงานเข้ามาตั้งอยู่ใกล้ๆ ชุมชน โรงเรียน มัสยิด และสุสาน
อย่างไรก็ดี นพ.สุภัทร เชื่อว่า หลังจาก ครม. มีมติให้ผู้เกี่ยวข้องไปจัดทำ SEA นิคมอุตสาหกรรมจะนะ มีความเป็นไปได้ที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะจะถูกล้มไป แล้วเปลี่ยนเป็นนิคมฯเกษตร หรือ ประมงขนาดเล็ก เพราะพื้นที่ อ.จะนะ มีฐานทรัพยากรสมบูรณ์ ซึ่งไม่เหมาะกับการสร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
“โครงการไม่ล้ม แต่จะเปลี่ยนรูปเป็นนิคมขนาดเล็ก ส่วนที่ดินที่ TPIPP ซื้อไปนั้น ชาวบ้านก็เชียร์ให้เขาปลูกป่าสน และขายไม้สนแทน เพราะถ้ามองยาวๆ ไม่ได้มองกำไรระยะสั้น ก็คุ้มนะ เพราะถ้าลงทุนนิคมฯต้องใช้เงิน 6 แสนล้านบาท ซึ่งเขาต้องไปกู้ แต่ถ้าปลูกสน แทบจะไม่มีต้นทุนแล้วรอเก็บเกี่ยว รายได้ระยะยาวอาจไม่ต่างกันมากก็ได้” นพ.สุภัทร ระบุ
นพ.สุภัทร เสนอว่า เพื่อให้ TPIPP อยู่ร่วมกับชาวบ้านโดยไม่มีความขัดแย้ง อยากให้ TPIPP ยุติการฟ้องร้องชาวบ้านที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินอยู่แล้ว แต่มีการออกโฉนดที่ดินซ้อนทับกัน รวมทั้งขอให้คืนที่ดินให้กับชาวบ้านเหล่านั้นไป
“ชาวบ้านเขาต้องการพัฒนาเหมือนกัน แต่ต้องสมดุลกับพื้นที่ และถ้าการจัดทำ SEA เป็นไปตามหลักวิชาการแล้ว ไม่มีการเมืองเข้ามาแทรก เชื่อว่านิคมอุตสาหกรรมจะนะจะไม่ผ่าน และที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้เรียกร้องให้ยกเลิกโครงการฯ เพียงแต่ขอให้ทำ SEA ซึ่งถือว่าแฟร์มาก” นพ.สุภัทรย้ำ
จากนี้ต้องติดตามกันต่อไปว่า การจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) จะได้ข้อสรุปอย่างไร และสุดท้ายแล้ว ‘นิคมอุตสาหกรรมจะนะ’ จะแจ้งเกิดได้หรือไม่ ???