นักวิทยาศาสตร์ในแอฟริกาใต้ ระบุ ผลการศึกษาเบื้องต้น ชี้โอไมครอนลดแอนติบอดีในคนฉีดไฟเซอร์ 41 เท่า เมื่อเทียบกับไวรัสโควิดดั้งเดิม ทำให้เชื่อว่าโอไมครอนสามารถหลบหลีกการป้องกันได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ในแอฟริกาใต้ออกมาระบุ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า ไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอน สามารถลดแอนติบอดีของผู้ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดีผู้ที่อยู่ในช่วงฟื้นตัวจากไวรัส และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น จะมีประสิทธิภาพด้านการคุ้มกันที่มากกว่าในการป้องกันอาการเจ็บป่วยร้ายแรง
อเล็กซ์ ซิกัล จากสถาบันวิจัยสาธารณสุขแอฟริกาและทีมนักวิทยาศาสตร์ ตรวจสอบตัวอย่างเลือดของผู้ที่รับวัคซีนไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค จำนวน 12 คน โดยพุ่งเป้าไปที่การรับมือของแอนติบอดีในร่างกายของผู้รับวัคซีนว่า จะสามารถยับยั้งไม่ให้ไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอนติดเชื้อในเซลล์ร่างกายของมนุษย์ได้แค่ไหนอย่างไร
ทีมวิจัยพบว่า ประสิทธิภาพในการสกัดกั้นไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอนของแอนติบอดีลดลงถึง 41 เท่า เมื่อเทียบกับไวรัสโควิดดั้งเดิม และยังลดลงเมื่อเทียบกับไวรัสกลายพันธุ์อื่นๆ อย่างไรก็ดี รายงานดังกล่าวเป็นผลการศึกษาเบื้องต้น ที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการประเมินคุณภาพของงานวิจัยทางวิชาการก่อนการตีพิมพ์เผยแพร่ (peer review) แต่อย่างใด
ผลการวิจัยครั้งนี้ยังระบุด้วยว่า วัคซีนไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค ลดประสิทธิภาพในการรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์เบต้า ซึ่งแพร่ระบาดไปทั่วแอฟริกาใต้ก่อนหน้านี้ลง 3 เท่าเมื่อเทียบกับไวรัสดั้งเดิม จึงทำให้เชื่อว่าไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอนจะมีความสามารถมากขึ้นในการหลบหลีกการป้องกัน
ผลการศึกษาที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ดังกล่าวได้ทดสอบตัวอย่างพลาสม่าของผู้ที่ได้รับวัคซีน 12 คน และผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน 6 คน โดยนักวิทยาศาสตร์เปิดให้ผู้คนสามารถเข้าถึงผลวิจัยชิ้นนี้ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการประเมินคุณภาพของงานวิจัยทางวิชาการ เนื่องจากความเร่งด่วนของการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอน
ด้านซีอีโอของไฟเซอร์ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า เขาคิดว่าการป้องกันที่ได้จากการรับวัคซีนไฟเซอร์ 2 โดสน่าจะช่วยลดความเสี่ยงของผู้ที่ติดเชื้อโอไมครอนลงได้ แต่บริษัทสามารถพัฒนาวัคซีน ที่พุ่งเป้าเฉพาะไปยังการรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอน ได้ภายในเดือนมีนาคมปีหน้าหากจำเป็น เนื่องจากต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า วัคซีนที่มีอยู่ปัจจุบันมีความสามารถเพียงพอที่จะป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าวหรือไม่