กมธ.การกระจายอำนาจฯ – กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ รับหนังสือเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ตรวจสอบกระบวนการมีส่วนร่วมโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ หลังเดินหน้าโครงการ ทั้งที่กระบวนการการตรวจสอบยังไม่แล้วเสร็จ
วันที่ 3 ธ.ค. 2564 นายซูการ์โน มะทา ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ และ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล เลขานุการ กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนสภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจาก นางสาวไครียะห์ ระหมันยะ ตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จังหวัดสงขลา เพื่อขอให้ตรวจสอบกระบวนการมีส่วนร่วมในโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หรือ โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ หลังคณะกรรมการตรวจสอบโครงการฯ ที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้นได้มีการทำบันทึกข้อตกลงกับเครือข่าย เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2563 ว่าจะตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) และจัดให้มีการศึกษาในเชิงยุทธศาสตร์หรือ (SEA) แบบมีส่วนร่วมโดยจะต้องออกแบบคณะศึกษาให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยระหว่างนี้ให้ยุติการดำเนินการทุกอย่างในโครงการนี้เอาไว้ก่อนจนกว่ากระบวนการตรวจสอบดังกล่าวจะแล้วเสร็จแต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ดำเนินการตามรายละเอียดตามที่ได้ตกลงกันไว้ แต่ยังปล่อยให้ ศอ.บต. ดำเนินการเปลี่ยนสีผังเมือง และบริษัท ทีพีไอ โพลีน พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้เป็นเจ้าของโครงการนี้ เร่งดำเนินโครงการอย่างไม่สนใจต่อข้อตกลงเบื้องต้น โดยเดินหน้าศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ระหว่างวันที่ 13 – 23 ธ.ค. 2564 จึงขอให้ กมธ.ตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบโครงการดังกล่าว และกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ว่าเป็นไปอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม หรือไม่ เนื่องจากโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้ที่ดินจำนวนมากเกือบ 2 หมื่นไร่ และจะมีโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ เข้ามาตั้งอยู่ใกล้กับชุมชนในพื้นที่ 3 ตำบลของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงตั้งแต่เริ่มต้น ไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะกลายเป็นความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นายซูการ์โน และนางอมรัตน์ กล่าวว่า จะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา โดยจะเชิญ ศอ.บต. ประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อพิจารณาทางออกร่วมกันต่อไป
ด้าน พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง กล่าวว่า ปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชนจะต้องศึกษาตั้งแต่กระบวนการเชิงยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะพื้นที่อุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ร่วมกันของพหุวัฒนธรรม จะต้องให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด