“บิ๊กตู่” นำ “ศักดิ์สยาม” เปิด “ท่าเรือปากเม็ง” กรุยทางสู่ กลุ่มจังหวัดอันดามัน

นายกรัฐมนตรี นำ “ศักดิ์สยาม” พร้อมด้วย มท.1 และ รมว.ท่องเที่ยวฯ ทำพิธีเปิด “ท่าเรือปากเม็ง เปิดประตูสู่อันดามัน” ขานรับ นโยบายเปิดประเทศ รองรับนักท่องเที่ยว สู่ 6 กลุ่มจังหวัดอันดามัน

วันที่ 16 พ.ย.2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิด “ท่าเรือปากเมง เปิดประตูสู่อันดามัน” โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รก.แทนอธิบดีกรมเจ้าท่า นายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผวจ.ตรัง ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม หน.ส่วนราชการ ภาคเอกชน ร่วมพิธี ณ ท่าเรือปากเมง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรังทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม (คค.) โดยกรมเจ้าท่า (จท.) ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเรือปากเมง จังหวัดตรัง เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย ในการสนับสนุนการท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน รวมทั้งต้อนรับฤดูกาลท่องเที่ยว ทางทะเลฝั่งอันดามัน และการกลับมาของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ตามนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนโยบายกระทรวงคมนาคม โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ซึ่งมีนโยบายพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั้งทางบก น้ำ ราง และอากาศ ให้มีความเชื่อมโยง สะดวก ปลอดภัย สร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล

โดยมอบหมายให้ กรมเจ้าท่า ที่มีภารกิจในการพัฒนาท่าเรือ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้งานทั้งด้านการค้า การขนส่ง การสัญจรทางน้ำ เชื่อมโยงกับระบบขนส่งอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำ พัฒนาให้ท่าเรือมีความสวยงาม ทันสมัย มีมาตรฐาน มั่นคง และปลอดภัย รวมทั้งเชื่อมโยงการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญ

ท่าเรือปากเมง จังหวัดตรัง เป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวและการเดินทางทางน้ำที่สำคัญในจังหวัดตรัง เรือส่วนใหญ่เป็นเรือรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางจากหาดปากเมงไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในหมู่เกาะทะเลตรัง อาทิ เกาะมุก เกาะรอก เกาะเชือก เกาะไหง เกาะกระดาน และเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล รวมทั้งยังสามารถเชื่อมต่อไปที่เกาะลันตา เกาะพีพี และหาดอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ ท่าเรือปากเมงมีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ทำให้มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้บริการ คค. จึงมอบหมายให้ กรมเจ้าท่า ศึกษาออกแบบเพื่อปรับปรุงท่าเรือปากเมงให้มีความมั่นคง แข็งแรง สวยงาม มีรูปแบบที่เหมาะสม มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียม และสอดคล้องกับการใช้งานสามารถรองรับเรือเข้าเทียบท่าได้อย่างปลอดภัย และเพิ่มพื้นที่การใช้สอยบริเวณด้านหลังท่าเรือให้มีความครบถ้วนตามความต้องการของนักท่องเที่ยว

โครงการการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือปากเมง ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือ ขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร ทุ่นเทียบเรือ ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 30 เมตร สะพานทางเชื่อมความยาว 145 เมตร แบ่งแยกการใช้งานระหว่างรถยนต์ ขนสัมภาระกับทางเดินเท้า ซุ้มประตูสู่อันดามัน จุดถ่ายภาพเช็คอินระหว่างทางเดินเท้า ไปยังปลายท่าเรือ อาคารบริการนักท่องเที่ยวมีพื้นที่ใช้สอยขนาด 1,147 ตารางเมตร แบ่งพื้นที่เป็นที่ทำการของเจ้าหน้าที่สำหรับดูแลความปลอดภัย จุดบริการนักท่องเที่ยว โถงที่พักคอย ห้องน้ำ ทางลาดและห้องน้ำสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ และพื้นที่จอดรถ โดยมีวงเงินก่อสร้าง 144,161,000 บาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2562 แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2564

ในปี 2562 ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ท่าเรือปากเมงมีปริมาณนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จำนวน 67,000 คนต่อปี และผลการศึกษาคาดการณ์ว่าหลังจากเปิดให้บริการท่าเรือปากเมงจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้นเป็น 90,000 คนต่อปี ซึ่งการเปิดท่าเรือปากเมงในวันนี้ เป็นการตอบรับนโยบายการเปิดประเทศ และส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดตรังเพื่อรองรับการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นของประชาชนในท้องถิ่นให้เข้าถึงระบบขนส่งอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม เชื่อมโยงการเดินทางในอนาคตด้วยการขึ้นเครื่องบิน ต่อรถ ลงเรือ ไปท่องเที่ยวตามหมู่เกาะต่าง ๆ ในจังหวัดตรัง ตามแผนโครงการเส้นทางเดินเรือ “วงแหวนอันดามัน” เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว ในอนาคต รวมทั้งสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ การท่องเที่ยว เรือ ร้านอาหาร โรงแรม ตลอดจนร้านค้าชุมชน คนในพื้นที่ ให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ กระจายรายได้กลับสู่ท้องถิ่น และขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับประเทศ

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมมีแผนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่ จังหวัดตรัง เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางและเพิ่มศักยภาพระบบคมนาคม ประกอบด้วย
– ทางหลวงหมายเลข 404 ตอน บ. นา – บ. สามแยก ขยายเป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 21 กิโลเมตร ซึ่งจะสามารถเปิดใช้งานในปี 2566
– ทางหลวงหมายเลข 419 ตอน บ. นาขา – บ. ควนปริง ขยายเป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 7 กิโลเมตร ซึ่งจะสามารถเปิดใช้งานในปี 2565
– แผนดำเนินงานขยายช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร ในปี 2566 – 2569 ได้แก่
1) ทางหลวงหมายเลข 4046 ตอน ตรัง – บ. โคกโตน ระยะทาง 21 กิโลเมตร
2) ทางหลวงหมายเลข 419 ตอน บ. ควนปริง – บ. ควน ระยะทาง 6 กิโลเมตร
3) ทางหลวงหมายเลข 419 ตอน บ. ควน – บ. โพธิ์ ระยะทาง 11 กิโลเมตร
4) ทางหลวงหมายเลข 4046 ตอน บ.โคกโตน – บ. ควนกุน ระยะทาง 23 กิโลเมตร
5) ทางหลวงหมายเลข 419 ตอน บ. โพธิ์ – ตอน บ. นาขา ระยะทาง 8 กิโลเมตร
– แผนงานโครงการพัฒนาถนนเลียบชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และความสะดวกปลอดภัยในการเดินทาง
– การพัฒนาท่าอากาศยานตรัง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารและจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้เพิ่มขึ้น โครงสร้างพื้นฐานด้านการบินที่ได้มาตรฐานสากล โดยมีการดำเนินงาน ดังนี้
1) การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เพิ่มความสามารถรองรับผู้โดยสารจาก 1.7 ล้านคนต่อปี เป็น 3.4 ล้านคนต่อปี โดยมีวงเงินลงทุน 1,070 ล้านบาท ปัจจุบันการดำเนินงานมีความก้าวหน้าร้อยละ 25.30 คาดว่าสามารถเปิดให้บริการภายในปี 2566
2) การก่อสร้างเสริมความแข็งแรงทางวิ่ง ทางขับและลานจอดอากาศยาน พร้อมระบบไฟฟ้าท่าอากาศยาน สามารถรองรับการจอดอากาศยานขนาด B737 เป็น 14 ลำ ในเวลาเดียวกัน วงเงินลงทุน 678.40 ล้านบาท ปัจจุบันการดำเนินงานมีความก้าวหน้าร้อยละ 91.61 คาดว่าสามารถเปิดให้บริการภายในปี 2566
3) การก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง เป็น 45 x 2,990 เมตร พร้อมระบบไฟฟ้าท่าอากาศยาน เพื่อความปลอดภัยของอากาศยาน วงเงินลงทุน 1,775.72 ล้านบาท ปัจจุบันลงนามในสัญญาแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2564 คาดว่าสามารถเปิดให้บริการภายในปี 2567