“ศรีสุวรรณ”ขยันทำงาน ร้องกกต.สอบ’ทักษิณ’ครอบงำ’เพื่อไทย’ทำตามสั่งไม่แก้112หรือไม่ ชี้ หลังจาก กลุ่มราษฎรออกมาเคลื่อนไหวที่แยกราชประสงค์ ทำให้พรรคพท.เปลี่ยนไป
วันที่ 8 พ.ย.2564 ที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อ กกต. เพื่อขอให้ไต่สวนและวินิจฉัยว่า การที่พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนทีท่าในการผลักดันการแก้ไข ปอ.มาตรา 112 หลังจากที่แนวร่วมกลุ่มราษฎรออกมาชุมนุมที่แยกราชประสงค์และนายเกษม นิติสิริ ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนเต็มที่ แต่พอนายทักษิณโพสต์เฟซบุ๊กชี้ว่า ม.112 ไม่ใช่ปัญหา ทำให้พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนทีท่าทันทีนั้น ถือเป็นการครอบงำหรือชี้นำหรือไม่
ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 31 ต.ค.64 กลุ่ม “ราษฎร” และแนวร่วมต่าง ๆ ได้ร่วมกันจัดชุมนุมใหญ่ที่แยกราชประสงค์ ชูข้อเรียกร้องสำคัญ 2 ประการ และหนึ่งในข้อเรียกร้องนั้นคือ ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา ม.112 เสีย และต่อมาในคืนวันดังกล่าว นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย โดยได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกประกาศจุดยืนของพรรคเพื่อไทยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ลงในสื่อออนไลน์ของพรรคเพื่อไทย ทั้งทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า “พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคที่มีเสียงสมาชิกมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรพร้อมนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา” ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากในสังคมไทยทำให้เมื่อวันที่ 2 พ.ย.64 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thaksin Shinawatra เกี่ยวกับประเด็น ม.112 ว่าไม่ใช่ปัญหาและวิจารณ์ผู้ที่ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิก ม.112 ว่าทำไป “ด้วยความโกรธ” หรือ “ต้องการจะยกเลิกโดยไม่มีเหตุผล” จึงทำให้มองได้ว่าจุดยืนของนายทักษิณไม่ตรงกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งต่อมาพลพรรคเพื่อไทยได้ออกมาพริ้วปฏิเสธกันพัลวัลว่ามิได้เป็นแกนในการผลักดันการแก้ไข ม.112 แต่ขอเป็นเพียงแค่เป็นตัวกลางอาสานำปัญหาเข้ากลไกสภาเท่านั้น เพื่อไม่ให้ขัดแย้งกับข้อชี้แนะของนายทักษิณหรือไม่
พฤติการณ์และหรือการกระทำดังกล่าวของนายทักษิณและพรรคเพื่อไทยอาจเข้าข่ายการฝ่าฝืน ม.28 และหรือ ม.29 ของ พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หรือไม่ เพราะกฎหมายดังกล่าวกำหนดว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทําการใดอันทําให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ สมาชิกกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้ พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม” และ “ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทําการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่า โดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม” ซึ่งหาก กกต.วินิจฉัยว่าเป็นการครอบงำหรือชี้นำ ก็อาจนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้ ตาม ม.92(3) ของ พรป.พรรคการเมือง 2560 นั่นเอง นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุดแล้ว