“ทิพานัน” ยกย่อง “ฮิมนาคาเฟ่ บึงกาฬ” เป็นโมเดล ต่อยอดทักษะสร้างอาชีพจากผลกระทบโควิด เผยรัฐบาลมีโครงการสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว “กู้ง่ายจ่ายเร็วดอกเบี้ยต่ำ” เพื่ออุดหนุนทุนเพิ่ม หวังช่วยส่งเสริมรายได้ชุมชน ดันเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ จนท.ประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ อดีตผู้สมัครส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี และ อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปี ที่ประเทศไทยประสบกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับภูมิลำเนาและการเปิดกิจการในต่างจังหวัดจำนวนมาก ทั้งนี้จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ “คุณนก” ปาลจิรา อดีตผู้ค้าอาหารในโรงงาน ที่กทม. ซึ่งผันตัวไปทำธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มกาแฟชื่อดัง “ฮิมนาคาเฟ่” ที่ ต.โพธิ์หมากแข้ง อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ เมื่อ2ปีก่อนทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพแบบเดิมได้ในกรุงเทพ จึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิดที่ จ.บึงกาฬ มองหาอาชีพใหม่ และต้นทุนในการทำมาหากิน ซึ่งพบว่ามีไร่นาอยู่ จึงผันตัวมาทำร้านอาหารและเปิดร้านกาแฟในที่ดินของตนเองจากประสบการณ์ “คุณนก” ยอมรับว่าแม้จะมีที่ดินไร่นาของตนเอง แต่ก็เริ่มต้นด้วยความลำบากในการหาทุน ต้องหยิบยืมจากผู้อื่นและนำเงินเก็บมาลงทุนเกือบหมด ซึ่งปัจจุบันธุรกิจกำลังไปได้สวยและต้องการขยายร้าน จึงได้ลองยื่นขอกู้เพื่อพัฒนาร้านให้ดีกว่าเดิมผ่านธนาคารของรัฐไปแล้ว ส่วนตัวมองว่าอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือแรงงานกลุ่ม ที่กลับภูมิลำเนาและต้องการเปิดกิจการของตนเอง โดยหาแหล่งเงินทุนเฉพาะ หรือ เปิดลงทะเบียนสำหรับขอรับเงินทุนโดยเฉพาะเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยชุมชนได้ ซึ่งจะช่วยเหลือคนตกงานได้จริงและยังนำรายได้คืนรัฐด้วยการเสียภาษีได้อีกด้วย โดยคุณนกยังให้กำลังใจรัฐบาลให้มีมาตรการที่ดีออกมาช่วยก็จะแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวคิดในการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแรงงานเคลื่อนย้ายถิ่นฐานกลับไปทำธุรกิจในภูมิลำเนาของตนเอง ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้จริง เบื้องต้นตนได้ให้ข้อมูลถึงมาตรการรัฐที่มีสำหรับผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในต่างจังหวัด เช่น โครงการสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ที่ยังมีงบประมาณเหลืออยู่ และยังมีโครงการอื่นๆ ที่เน้นการกู้ง่ายจ่ายเงินเร็วเพื่อทันสถานการณ์ และมีดอกเบี้ยต่ำเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งสามารถติดต่อมาตรการต่างๆได้ที่ธนาคารของรัฐได้ทุกสาขา และสามารถตรวจสอบสถาบันการเงินของรัฐได้ที่ https://gfa.or.th/memberอย่างไรก็ตามยังเห็นว่ายังควรมีโครงการเพิ่มแหล่งเงินทุนทำกิน สำหรับแรงงานที่ต้องการเป็นผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ที่คิดกลับบ้านจากผลกระทบโควิดโดยเฉพาะ เช่น “ทุนตั้งตัวได้ ไม่ทิ้งกัน” โดยให้สิทธิกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด และต้องการประกอบอาชีพจากทักษะที่ตนมีเป็นเจ้าของธุรกิจของตนเองเองแต่ขาดเงินทุนตั้งตัว หากทำได้จะสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในชุมชน ซึ่งเรื่องนี้ตนจะได้ผลักดันแนวคิดดังกล่าวกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชื่นชมพี่น้องแรงงานทุกคน ที่เป็นหนึ่งในกลไกที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ เป็นกองกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งในวิกฤตครั้งนี้มีพี่น้องประชาชนหลายท่านที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิดต้องกลับภูมิลำเนา แต่ด้วยทักษะที่ได้รับการพัฒนาจากงานที่เคยทำหรือฝึกฝนมาจนชำนาญ ย่อมเป็นโอกาสและเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำมาประกอบอาชีพในชุมชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งรัฐบาลเองก็เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อนำไปสู่การประกอบธุรกิจที่มั่นคง
“เชื่อว่าจะมีการสนับสนุนให้ธุรกิจในท้องถิ่นตั้งตัวได้และเติบโต เพราะจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว ตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ให้ความสำคัญไม่ทอดทิ้งแรงงาน ซึ่งรัฐบาลตั้งใจดูแลพี่น้องประชาชนในทุกภาคส่วนและออกมาตรการช่วยเหลือให้ถึงมือทุกกลุ่มอาชีพให้ดีที่สุด” น.ส.ทิพานัน กล่าว