ดร.อรุณี กาสยานนท์ โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม ระบุว่า ถ้ายิ่งลักษณ์ยังอยู่ ตู่คงไม่ต้องสวดมนต์ไล่พายุ พร้อมย้อนการจัดทำแผนโครงการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงินรวม 324,606 ล้านบาท สมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์
วันที่ 27 ก.ย.2564 ดร.อรุณี กาสยานนท์ (ดร.หญิง) โฆษกพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ก อรุณี กาสยานนท์ เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม ระบุว่า ถ้ายิ่งลักษณ์ยังอยู่ ตู่คงไม่ต้องสวดมนต์ไล่พายุ
ก่อนอื่นหญิงขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องประชาชนทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อน จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด และหญิงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งมือช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และเร่งเตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด น้ำท่วมทุกครั้ง หญิงก็ต้องนึกถึงโครงการเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำ ปี 2555 ในสมัยอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ทุกครั้ง นี่เป็นอีกครั้งที่ประเทศมีโอกาสที่จะดีกว่านี้ได้ แต่ถูกมือที่ทุกคนมองเห็นปัดตกไป วันนี้หญิงจะมาเตือนความจำทุกคนเองค่ะหลังจากรัฐบาล นายกฯยิ่งลักษณ์รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงแค่ไม่ถึงปี ก็เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ขึ้นในปี 2554 ณ เวลานั้น นายกฯยิ่งลักษณ์ เดินหน้าแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนโดยไม่โทษใคร ทุกอย่างทำไปก็เพื่อเร่งบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนให้ได้เร็วที่สุด หลังเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 ต่อมาในปี 2555 รัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์จึงจัดทำแผนโครงการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงินรวม 324,606 ล้านบาท มีแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งหมด 8 แผนงาน
1. การฟื้นฟู และอนุรักษ์ป่าและดิน 2. การบริหารจัดการน้ำและอ่างเก็บน้ำหลัก และการสร้างอ่างกักเก็บน้ำอย่างเหมาะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก 3. การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อม พื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลักของแต่ละจังหวัดและของประเทศ 4. การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานพิษณุโลก (เหนือนครสวรรค์) และโครงการเจ้าพระยาใหญ่ (เหนืออยุธยา) ให้เป็นแก้มลิงแม่น้ำเพื่อเก็บกักน้ำชั่วคราวในฤดูน้ำหลาก
5. การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และคันริมแม่น้ำของแม่น้ำสายหลัก คือ ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก ท่าจีน ฯลฯ 6. การจัดหาทางน้ำหลาก (flood way) และหรือทางผันน้ำ (flood diversion channel) เพื่อรับอัตราการไหลน้ำหลากส่วนเกินจากแม่น้าเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก ไปทางฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือฝั่งใดฝั่งหนึ่ง รวมทั้งจัดทำทางหลวง (ระดับประเทศ) ไปพร้อม ๆ กัน
7. การปรับปรุงระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์ และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ ทั้งหลากและแห้ง 8. การปรับปรุงองค์กร (ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำสั่งการ กำกับ ดูแล ติดตาม พร้อมทั้งปรับปรุง/เพิ่มเติมกฎหมาย และกำหนดวิธีการเยียวยาที่เหมาะสม) การมีส่วนร่วมและการประชาสัมพันธ์.โครงการที่สังคมจับจ้องในตอนนั้นคือโครงการสร้างฟลัดเวย์ถาวร ป้องกันน้ำท่วม หญิงต้องบอกก่อนค่ะหลายคนอาจเข้าใจผิดว่าฟลัดเวย์คือทางสำหรับควบคุมกระแสน้ำท่วม แต่จริงๆ แล้วฟลัดเวย์คือเส้นทางสัญจรในยามปกติ เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์ต่างๆแล้วคิดว่าน้ำกำลังมากเกินขีดความสามารถของเขื่อนระบายน้ำได้ทัน จึงจะใช้ฟลัดเวย์ค่ะตามแผนแล้วการสร้างฟลัดเวย์แบบถาวรจะช่วยป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งจะผันน้ำตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ลงสู่อ่าวไทยโดยตรง โดยฟลัดเวย์จะมี 2 เส้นทาง คือ 1. แนวฟลัดเวย์ฝั่งเจ้าพระยาตะวันตก (ท่าจีน-เจ้าพระยา) ความยาว 314 กิโลเมตร 2. แนวฟลัดเวย์ฝั่งเจ้าพระยาตะวันออก (ป่าสัก-เจ้าพระยา) ความยาว 322 กิโลเมตร
ฟลัดเวย์ทั้ง 2 เส้นทาง จะช่วยลดทอนปริมาณน้ำจากจังหวัดนครสวรรค์ได้ประมาณ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยน้ำหลากในปี 2554 อยู่ที่ประมาณ 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะผันน้ำให้ลงสู่อ่าวไทยโดยตรง ซึ่งช่วยแบ่งเบากระแสน้ำที่ไหลมาจากตอนบนของลุ่มน้ำได้ และเป็นการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจภาคกลางได้อย่างถาวร
ฟลัดเวย์นอกจากจะทำหน้าที่เป็นเส้นทางคมนาคมในยามปกติ เป็นเส้นทางระบายน้ำหลากในภาวะน้ไท่วม ยังมีประโยชน์อีกอย่างหนึ่งคือยังเป็นการเพิ่มพื้นที่คลองชลประทานเพิ่มเติมให้กับเกษตรกรอีกด้วยค่ะ เพราะการสร้างฟลัดเวย์จะทำควบคู่การขุดทางระบายน้ำและการก่อสร้างถนนสายใหม่ขนานกัน ทางระบายน้ำด้านข้างจะมีคลองชลประทานเรียบถนนตลอดระยะทาง เพื่อใช้เป็นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรและอุปโภค ช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคกลางสามารถวางแผนปลูกข้าว หรือทำการเกษตรเพิ่มเติมได้
การทำฟลัดเวย์นี้ยังไม่จำเป็นต้องเวนคืนพื้นที่จากพี่น้องประชาชน เพราะแนวฟลัดเวย์ไม่ได้ตัดผ่านเขตพื้นที่อุตสาหกรรมหรือพื้นที่ชุมชน แต่เป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมประจำ หรือพื้นที่การเกษตร หากมีความจำเป็นในบางจุดเท่านั้นค่ะ หญิงบอกหลายครั้งแล้วใช่ไหมคะ ว่าถ้าพลเอกประยุทธ์คิดเองไม่เป็น ก็ลอกการบ้านนายกฯยิ่งลักษณ์ก็ได้ค่ะ เขาคิดไว้หมดแล้ว ไม่ต้องกลัวเสียหน้าหรอกค่ะ เราไม่หวง แผนบริหารจัดการน้ำยิ่งลักษณ์ vs การรับมือน้ำท่วมในญี่ปุ่น เรื่องน้ำท่วมมันเป็นภัยธรรมชาติที่ใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น ประเทศส่วนใหญ่ก็เจอปัญหาน้ำท่วมกันทั้งนั้น แต่อยู่ที่ว่าเราจะรับมือกับมันอย่างไร เราจะเรียนรู้อะไรจากน้ำท่วมได้บ้าง
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่ในอดีตประสบกับปัญหาน้ำท่วมค่อนข้างบ่อย ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะ เจอพายุ เจอไต้ฝุ่น แต่ญี่ปุ่นก็เรียนรู้ค่ะ เขาเจ็บแล้วจำ เอาเงินมาป้องกันก่อนเกิดเหตุเหมือนที่รัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์คิดจะทำแต่ถูกสกัด ญี่ปุ่นจึงสร้างเขื่อนใต้ดินขนาดใหญ่ ใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 17 ปี เป็นระบบระบายน้ำใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ช่วยให้กรุงโตเกียวและพื้นที่โดยรอบไม่ถูกน้ำท่วมอีกนับแต่นั้นเป็นต้นมา
หรืออย่างในประเทศเยอรมนี ที่เมื่อเดือนกรกฎาคมเกิดเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มีผู้ได้รับผลกระทบนับแสนและเสียชีวิตกว่า 200 คน แต่สิ่งที่รัฐบาลเยอรมันทำได้ คือ ความไวของการช่วยเหลือจากภาครัฐ ทั้งทีมกู้ภัย สิ่งของและเงินช่วยเหลือ ที่สำคัญคือการอนุมัติเงินช่วยเหลือเยียวมามากกว่า 15,000 ล้านบาท ที่อนุมัติภายในระยะเวลาเพียง 9 วัน เท่านั้น ครอบคลุมทั้งเงินสนับสนุนฉุกเฉิน เงินสนับสนุนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในกำหนดระยะเวลาคืนที่นานพอ
อีกอย่างคือบทบาทของผู้นำประเทศอย่าง Angela Merkel ที่ลงไปดูหน้างานทั้ง ๆ ที่ใกล้จะอำลาตำแหน่ง พร้อมที่จะตัดสินใจถ้าหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นในทันที และไม่มีคำพูดประเภทว่า “อดทนนะ สวดมนต์นะ ย้ายบ้านนะ” แต่เธอมาพร้อมคำพูดว่า “เราจะไม่ลืมพวกคุณ” พี่น้องประชาชนคิดว่าประโยคไหนจะสร้างกำลังใจให้คนที่กำลังเดือดร้อนอยู่มากกว่ากันคะ การแก้ปัญหาน้ำท่วม คือ การเรียนรู้บทเรียนและวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบ เห็นทุกข์ร้อนของประชาชนเป็นที่ตั้ง เร่งทำ เร่งช่วย เร่งแก้ปัญหา แล้วป้องกัน เพื่อไม่ให้ประเทศต้องเจอปัญหาซ้ำเดิมเหมือนพายเรือวนในอ่างแบบนี้ โควิดก็ยังไม่จบยังต้องมาพบกับน้ำท่วมอีก สุดท้ายประชาชนคือคนที่รับกรรม