“กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ” สส.เมืองนราฯ พรรคประชาราช ดีใจ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย เข้าสู่การพิจารณาของ สภาฯ ชี้ 17 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านชายแดนใต้ถูกซ้อมทรมานจำนวนมาก ทั้งคลุมถุงดำ แก้ผ้าแช่เย็น ทำให้สภาพจิตหลอนและย่ำแย่
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายชวน หลีกภัย เป็นประธาน เมื่อวันพุธที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส. นราธิวาส เขต 4 พรรคประชาชาติ (ปช.) ได้อภิปรายสนับสนุน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. … ซึ่ง ส.ส.พรรคปช. เป็นผู้เสนอร่างตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2563 และมีร่างจากพรรคอื่นๆตามมาในภายหลัง ระบุว่า “หลักการของกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย ให้เหตุผลว่าการทรมานเป็นการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือ ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการบังคับให้บุคคลสูญหายที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ไม่อาจยกเว้นให้กระทำได้ไม่ว่าสถานการณ์ใดๆ อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้รัฐมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคล จากการถูกค้นตัว จับกุม คุมขัง หรือถูกกระทำการใดอันกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย หรือสมควรแก่ที่กฎหมายกำหนด”
“ยิ่งไปกว่านั้น การทรมานทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีโหดร้ายไร้มนุษยธรรมนั้นจะกระทำมิได้ ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน หรือการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และได้ลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย จึงต้องมีบทบัญญัติที่กำหนดฐานความผิดเป็นการเฉพาะ ตลอดจนมีมาตรการป้องกันปราบปรามและเยียวยาผู้เสียหาย และมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยให้เทียบเท่าสากล และสอดรับกับหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องยื่นตราพระราชบัญญัตินี้ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาต่อไป”
“โดยร่างกฎหมายของพรรคประชาชาติมี 4 หมวด 51 มาตรา หลักการและเหตุผลไม่แตกต่างกับร่างของคณะรัฐมนตรี แต่อาจมีรายละเอียดต่างกัน เช่น คำนิยามการทรมาน และคณะกรรมการ อีกทั้งร่างของพรรคประชาชาติกำหนดให้มีการช่วยเหลือเยียวยาด้วย แต่ร่างของคณะรัฐมนตรีเสนอนั้นให้คณะกรรมการเป็นผู้พิจารณา”
“รู้สึกดีใจมากที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ ขอบคุณประธานสภาผู้แทนราษฎรที่รีบนำเข้ามาพิจารณา เพราะหากมีการยุบสภาก่อนอาจจะมิได้พิจารณากฎหมายฉบับนี้ ในนามของพรรคประชาชาติ ในฐานะที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการซ้อมทรมาน มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ตลอดระยะเวลา 17 ปี ในฐานะที่เป็นทนายความ 17 ปีที่ผ่านมาคาดหวังว่าจะมีกฎหมายรองรับป้องกันการซ้อมทรมาน เพราะในรัฐธรรมนูญปี 2560 ในมาตรา 3 วรรค 2 ได้บัญญัติไว้ว่า ‘คณะรัฐมนตรี รัฐสภา รวมถึงหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายและหลักนิติธรรม’ ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานของรัฐเองยังละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามกฏหมายอีกมาก ซึ่งกฎหมายปกติไม่คุ้มครองปัญหาเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย”
“ในฐานะที่เป็นทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษจำนวนมาก เช่น ถูกควบคุมตัวจากกฎอัยการศึก 7 วัน, ถูกควบคุมตัวจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพิ่มอีก 30 วัน รวม 37 วัน มีประชาชนกว่าร้อยรายที่เปิดเผยข้อมูลจากการถูกควบคุมตัว ซึ่งกฎหมายปกติไม่คุ้มครองปัญหาดังกล่าว สิ่งเหล่านี้ทำลายระบบนิติธรรม มีการอ้างว่าหากมี พ.ร.บ.คุ้มครองการซ้อมทรมานแล้วเจ้าหน้าที่จะทำงานลำบาก นั่นแปลว่าไม่ได้มองถึงหลักนิติธรรมในการทำงาน”
“ต้องขอบคุณผู้ที่นำคลิปวิดีโอตำรวจนครสวรรค์คลุมถุงดำไปเผยแพร่ จนทำให้คณะรัฐมนตรีต้องรีบนำกฎหมายฉบับนี้พิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.พรรคประชาชาติได้เรียกร้องให้พิจารณากฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้มานานแล้ว แต่เสียงยังไม่ดังพอ กระทั่งมีเหตุตำรวจนครสวรรค์คลุมถุงดำ จึงเร่งนำกฎหมายเข้ามาพิจารณา”
“เมื่อประมาณเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้ตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลสุวารี อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีวิวัฒนาการการซ้อมทรมาน การซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้มีเพียงแค่การคุมถุงดำเท่านั้น แต่มีวิวัฒนาการการซ้อมทรมานเป็นการทำให้จิตหลอน จิตประสาท และยังมีการใช้ถุงเปียกด้วย บังคับให้แก้ผ้าแช่ในห้องเย็น เป็นรูปแบบหนึ่งของการซ้อมทรมาณที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านทั้งสามวาระแล้ว จะสามารถป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน และจะทำให้หลักนิติธรรมที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญจะเป็นรูปธรรมและเป็นจริงในทางปฏิบัติ”
“ในฐานะที่เป็นมุสลิมต้องขอกล่าว อัลฮัมดุลิลลาห์และชูโกรต่ออัลลอฮ ซุบฮานาฮูวาตะอาลา หรือขอบคุณพระเจ้า ที่วันนี้กฎหมายการป้องกันการซ้อมทรมานหรือการ Zolim (การกระทำที่โหดร้ายทารุณ) ได้เข้ามาพิจารณาในสภาและจะได้บังคับใช้ทั่วประเทศ ขอขอบพระคุณ”