เจาะ อภิขุมทรัพย์ กลุ่มตอลีบัน เปิดรายได้ มหาศาล มาจากไหน “ปลูกฝิ่น-เงินบริจาค”

เชื่อกันว่าตอลีบันเป็นหนึ่งในกลุ่มติดอาวุธที่ร่ำรวยที่สุดในโลก โดยหลังจากทำสงครามกับกองทัพสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรมานาน 2 ทศวรรษ ในที่สุดตอลีบันก็เข้ายึดอัฟกานิสถานได้สำเร็จ แล้วกลุ่มติดอาวุธนี้มีแหล่งรายได้มาใช้ในการทำสงครามจากที่ใดบ้าง

ดาวูด อาซามิ ผู้สื่อข่าวบีบีซี รายงานว่า กลุ่มตอลีบันเคยปกครองอัฟกานิสถานในปี ค.ศ. 1996 จนถึงช่วงปลายปี 2001 เนื่องจากถูกกองทัพสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรขับลงจากอำนาจ หลังเกิดเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน ปี 2001 ซึ่งตอลีบัน ถูกกล่าวหาว่าให้ที่พักพิงแก่ผู้ต้องสงสัยคนสำคัญอย่างนายโอซามา บิน ลาเดน ผู้ก่อตั้งกลุ่มอัลไคดา และพรรคพวกแม้จะถูกกองทัพชาติตะวันตกปราบปรามมา 20 ปี และทำให้สูญเสียนักรบไปหลายหมื่นคน ทว่าตอลีบันกลับแผ่ขยายเขตอิทธิพลได้มากขึ้น และมีความแข็งแกร่งทางการทหารเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทางการสหรัฐฯ ประเมินว่า จนถึงช่วงกลางปี 2021 ตอลีบันมีนักรบในสังกัดราว 70,000 – 100,000 คน มากกว่าเมื่อ 10 ปีก่อนที่มีอยู่ราว 30,000 คน ซึ่งการจะบริหารจัดการกองกำลังในระดับนี้ต้องใช้เงินทุนมหาศาลทั้งจากภายในและภายนอกอัฟกานิสถาน

องค์การสหประชาชาติ ประเมินว่า ตอลีบันมีรายได้ต่อปีตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา อยู่ที่ราว 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 12,800 ล้านบาท) หลังจากนั้น จนถึงช่วงปลายปี 2018 รายได้ดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นอย่างมากถึงปีละ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (48,000 ล้านบาท) การตรวจสอบของบีบีซีทั้งในอัฟกานิสถานและต่างประเทศพบหลักฐานบ่งชี้ว่ากลุ่มตอลีบันมีเครือข่ายการเงินและระบบการเรียกเก็บส่วยที่ซับซ้อน นอกจากนี้ยังหาแหล่งรายได้อื่น ๆ อีกหลายช่องทาง ดังนี้1. เงินบริจาคจากต่างชาติ เจ้าหน้าที่รัฐบาลอัฟกานิสถานและสหรัฐฯ มีข้อกล่าวหามาเป็นเวลานานว่าบางประเทศ อาทิ ปากีสถาน อิหร่าน และรัสเซีย ได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ตอลีบัน แต่ประเทศเหล่านี้ได้ปฏิเสธเสมอมา อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า พลเมืองจากปากีสถาน และหลายชาติในตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์ คือผู้ที่ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่ที่สุด แม้จะยากที่จะคำนวณตัวเลขที่แน่ชัดได้ แต่เชื่อกันว่าเงินที่ได้จากกลุ่มผู้ให้การสนับสนุนด้านการเงินเหล่านี้อาจมีสัดส่วนสูงถึงปีละ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 16,000 ล้านบาท) ความเชื่อมโยงเหล่านี้มีมายาวนาน โดยรายงานลับด้านข่าวกรองของสหรัฐฯ ประเมินว่า ในปี 2008 ตอลีบันได้รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากชาติในตะวันออกกลางถึง 106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,392 ล้านบาท)

2. การค้ายาเสพติด เชื่อกันว่าตอลีบันใช้ระบบเรียกเก็บส่วยเพื่อนำเงินมาใช้ในการสู้รบ ซึ่งรวมถึงการเรียกเก็บส่วยจากการค้ายาเสพติดผิดกฎหมาย อัฟกานิสถานถือเป็นประเทศผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งฝิ่นเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเฮโรอีน และประเมินว่ามูลค่าการส่งออกฝิ่นของประเทศนี้อยู่ที่ปีละ 1,500 – 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 48,000 – 96,000 ล้านบาท) ยูเอ็นระบุว่า การเก็บเกี่ยวฝิ่นเมื่อปี 2019 สร้างงานเกือบ 120,000 ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่รัฐบาลอัฟกานิสถาน ชี้ด้วยว่า ส่วยที่ตอลีบันเรียกเก็บจากเกษตรกรผู้ปลูกฝิ่นอยู่ที่ 10% นอกจากนี้ ตอลีบันยังเรียกเก็บส่วยจากโรงงานที่แปรรูปฝิ่นให้เป็นเฮโรอีน รวมถึงผู้ลักลอบค้ายาเสพติดอีกด้วย ประเมินว่าตอลีบันมีรายได้จากธุรกิจเหล่านี้ปีละประมาณ 100 – 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,200 – 12,800 ล้านบาท)พลเอกจอห์น นิโคลสัน ผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯ ระบุในรายงานเมื่อปี 2018 ว่า เงินจากการค้ายาเสพติดมีสัดส่วนราว 60% ของรายได้ต่อปีของกลุ่มตอลีบัน แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นการประเมินที่สูงเกินจริง ที่ผ่านมา ตาลีบันได้ปฏิเสธว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาเสพติด พร้อมกับประกาศอย่างภาคภูมิใจว่าได้ห้ามการปลูกฝิ่นขณะที่กลุ่มอยู่ในอำนาจเมื่อปี 2000

3. การแผ่ขยายเขตอิทธิพล นอกจากการเรียกเก็บส่วยจากการค้ายาเสพติดแล้ว ตอลีบันยังแผ่ขยายเขตอิทธิพลและเรียกเก็บส่วยจากประชาชนทั่วไปด้วย ในจดหมายเปิดผนึกเมื่อปี 2018 ตอลีบันได้เตือนให้พ่อค้าชาวอัฟกัน จ่ายส่วยสินค้าต่าง ๆ อาทิ น้ำมัน และวัสดุก่อสร้าง เมื่อเดินทางผ่านเขตที่ตาลีบันควบคุมอยู่ หลังจากขับไล่รัฐบาลอัฟกานิสถานออกไป ตอนนี้ตอลีบันได้เข้าควบคุมเส้นทางการค้าสายหลักทั้งหมดในประเทศ รวมถึงจุดผ่านแดน ซึ่งจะช่วยสร้างแหล่งรายได้จากการนำเข้าและการส่งออกให้กลุ่มได้มากขึ้น

ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เงินจากชาติตะวันตกยังตกไปอยู่ในมือของตอลีบันโดยไม่ได้ตั้งใจด้วย ประการแรก เนื่องจากตอลีบันเรียกเก็บส่วยจากโครงการพัฒนาและการสร้างระบบสาธารณูปโภค เช่น การก่อสร้างถนน โรงเรียน และคลินิก ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับเงินสนับสนุนจากชาติตะวันตก ประการที่สอง เชื่อกันว่าตอลีบันยังทำเงินหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐจากการเก็บส่วยคนขับรถบรรทุก ที่ขับรถขนเสบียงให้กองกำลังนานาชาติที่ประจำการอยู่ในหลายพื้นที่ของอัฟกานิสถานผู้บริหารบริษัทไฟฟ้าของอัฟกานิสถาน เผยกับบีบีซีเมื่อปี 2018 ว่า ตอลีบันมีรายได้ปีละกว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 64 ล้านบาท) จากการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ไฟฟ้าในหลายพื้นที่ของประเทศ นอกจากนี้ ตอลีบันยังมีรายได้โดยตรงจากการสู้รบ โดยแต่ละครั้งที่กลุ่มเข้ายึดด่านทหาร หรือย่านใจกลางเมืองต่าง ๆ พวกเขาก็จะยึดทรัพย์สิน อาวุธ รถยนต์ และยานยนต์หุ้มเกราะต่าง ๆ

4. การทำเหมืองแร่ อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและอัญมณี เชื่อกันว่ายังมีทรัพยากรเหล่านี้อีกมากที่ยังไม่ได้รับการขุดค้นขึ้นมา เนื่องจากปัญหาความไม่สงบอันยาวนานในประเทศ แลพิสแลซูลี เป็นอัญมณีที่ค่อนข้างหายาก ซึ่งอัฟกานิสถานเป็นแหล่งในการทำเหมืองแร่ชนิดนี้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลอัฟกานิสถานคาดว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศมีมูลค่าสูงถึงปีละ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 32,000 ล้านบาท) แต่ส่วนใหญ่เป็นการทำในขนาดเล็ก และจำนวนไม่น้อยเป็นการลักลอบทำโดยผิดกฎหมาย

มีข้อมูลว่า ตอลีบันได้เข้ายึดเหมืองแร่หลายแห่ง รวมทั้งรีดไถเงินจากการทำเหมืองทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย รายงานของยูเอ็นเมื่อปี 2014 ระบุว่า ตอลีบันทำเงินได้ปีละกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 320 ล้านบาท) จากเหมืองแร่ผิดกฎหมาย 25-30 แห่งในจังหวัดเฮลมันด์ ทางภาคใต้ของประเทศ