รมว.สาธารณสุข เตรียม ยกร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิด สำหรับบุคลากร ทางการแพทย์ คุ้มครองคนทำงาน รองรับสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรง เพื่อให้ แพทย์-พยาบาล ทำงานรักษาผู้ติดเชื้อด้วยความสบายใจ โดยมี แพทยสภา-ภาคเอกชน เข้าร่วมพิจารณายกร่าง
วันที่ 9 ส.ค.2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณี การวิพากษ์วิจารณ์ การเตรียมออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิด สำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ให้คณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาและบริหารวัคซีนโควิด-19 ว่า ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดโควิด-19 มีความรุนแรงทั่วโลก ส่งผลต่อการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ในการดูแลผู้ป่วย ภายใต้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ทั้งคน งบประมาณ ยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงการบริหารจัดการ การจัดซื้อจัดหายา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ และวัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งสภาพความเป็นจริงมีข้อจำกัด และเงื่อนไขต่างๆ ส่งผลให้ไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า กฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้รับผิดชอบ เรื่องการบริหารจัดการ การจัดบริการทางแพทย์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานโควิด-19 ทั้งหมด ได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ในภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยไม่ต้องกังวลกับความรับผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยเจตนาดีของผู้ปฏิบัติงาน หากเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือ การเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
“ร่างกฎหมายนี้เป็นการให้ความมั่นใจกับผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโรคโควิด 19 ให้คลายความกังวล เช่นการวินิจฉัยโรคและรักษาพยาบาล ก็ต้องทำความมั่นใจว่า เขาจะได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องของการฟ้องร้อง หากทำโดยเจตนาสุจริต ศาลก็ไม่เคยลงโทษ เราไม่ต้องการให้บรรดาแพทย์ พยาบาล มีความวิตกกังวลหากถูกฟ้องร้อง แม้จะมั่นใจว่าชนะก็ยังมีความวิตกกังวลระดับหนึ่ง เราต้องการให้แพทย์ พยาบาล มีขวัญกำลังใจเต็มที่ จะได้ทุ่มเทในการรักษาพยาบาล วัคซีนก็ต้องจัดหาเข็มสาม เพื่อความปลอดภัยในการไปรักษาคนไข้ มีความกังวลให้น้อยที่สุด สุดท้ายประชาชน คนไข้ก็ได้ประโยชน์” นายอนุทิน กล่าวด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า (ร่าง)พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีความเป็นมาจากโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉิน ถือ เป็นภัยพิบัติต่อสาธารณะที่เกิดความเสียหาย ประชาชนเจ็บป่วยจำนวนมาก การระดมกำลังภาครัฐ เอกชน องค์กร อาสาสมัครเข้ามาดูแลเป็นเรื่องที่สำคัญ โควิด-19 เป็นโรคใหม่ แนวทางการรักษา หรือ ยาที่ใช้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อเชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์ทำให้เกิดการระบาดจำนวนมากขึ้น อุปกรณ์ เตียงไม่พอ ทำให้มีการเปิด รพ.สนาม ฮอสพิเทลต่างๆ
ดังนั้น ข้อจำกัดเป็นปัจจัยสำคัญเพราะในภาวะฉุกเฉินอาจมีเรื่องที่ดูแลได้ไม่ทั่วถึง จึงจำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกันให้บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขที่ดูแลประชาชนให้ได้รับความปลอดภัย จึงเป็นเรื่องสำคัญ เบื้องต้น สธ.ตั้งคณะทำงานยก (ร่าง) พ.ร.ก.ดังกล่าว มอบหมายให้ สบส. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ภาควิชาชีพ ภาคกฎหมายมาช่วยกันดูกลไกลคุ้มครองผู้ทำงานในช่วงระบาดที่เป็นภัยพิบัตินี้ ให้ทำงานอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถไม่ต้องกังวล จึงเกิดเป็นตัวกฎหมายขึ้น“ดังนั้นภูมิต้านทานที่ป้องกันการถูกฟ้องร้องทำให้บุคลากรมีขวัญกำลังใจทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในภาวะเช่นนี้ รวมถึงมีข้อเสนอจากองค์กรวิชาชีพ สภาวิชาชีพต่างๆ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน เสนอให้มีกฎหมายลักษณะนี้” นพ.ธเรศ กล่าว และย้ำว่า
กฎหมายคุ้มครองตามหลักสำคัญคือ จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น บุคลากรที่ได้รับคุ้มครองได้แก่ 1. บุคลากรสาธารณสุข ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบโรคศิลปะแขนงต่างๆ อาสาสมัครสาธารณสุขและอื่นๆ ที่มาช่วยงาน บุคคลที่มีส่วนในการจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงยา วัคซีน เพราะเรามองถึงกระบวนตั้งแต่จัดหาเครื่องมือ เตรียมสถานที่ เตรียมบุคลากร ไปจนถึงการรักษาด้วยยาและการบำบัด 2.สถานที่คุ้มครอง คือสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน การปฎิบัติงานนอกสถานที่ อาทิ รถฉุกเฉิน รพ.สนาม การดูแลผู้ป่วยในพื้นที่เฉพาะ 3.การดูแลการคุ้มครอง โดยบุคลากรสาธารณสุขและสถานที่กล่าวอ้าวถึง ต้องทำในสถานพยาบาลหรือนอกสถานพยาบาลตามกำหนด ต้องดูแลเพื่อประโยชน์สาธารณะภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน
ต่อข้อถามว่ากรณีบุคลากรที่ไม่ต้องรับผิดตามร่างกฎหมายนี้ มีตัวอย่างบุคลากรกลุ่มใด หรือทำงานแบบใด นพ.ธเรศ กล่าวว่า อย่างการปฏิบัติงานใน รพ.สนาม เป็นสิ่งแวดล้อมที่เราจัดขึ้น เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนมาก บางครั้งเครื่องมืออาจมีข้อจำกัด เรื่องสถานที่ ที่ไม่เหมือน รพ. 100% เรื่องทิศทางต่างๆ ทั้งแนวทางการรักษาที่เป็นเรื่องใหม่ เช่น ช่วงแรกเราพูดถึงยาชนิดหนึ่งไม่มีผล แต่ระยะหลังกลับมีผล โรคใหม่มีการเปลี่ยนไปตลอด บางช่วงการรักษาก็ต่างไปตามพิสัย
“เรื่ององค์ความรู้ เช่นวัคซีน ที่เรารู้ว่าต้องฉีด 2 เข็มต่อมาพบว่าเราสามารถไขว้ชนิดได้ ดังนั้น ความรู้ก็ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา จึงมีความจำเป็นมาก ในการมีกฎหมายนี้มาเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากร ร่าง จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นเจตนารมณ์ที่มุ่งให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ แต่เราก็ยินดีรับฟังความคิดเห็นต่างๆ เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมที่สุด ซึ่งยืนยันว่า บุคลากรทั้งรัฐ เอกชน และที่มาเป็นอาสาสมัครต่างยึดมั่นดูแลประชาชนอย่างเต็มที่” นพ.ธเรศ กล่าว
ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธิพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า การมีกฎหมายมาคุ้มครองให้ผู้ปฏิบัติงานปลอดภัย และทำงานได้เต็มที่ เพื่อดูแลประชาชนได้มากที่สุด ก็จะทำให้การทำงานสะดวกขึ้น ไม่ติดขัด และยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งทุกวิชาชีพเห็นด้วยกับเรื่องนี้ ในเรื่องการรักษาพยาบาล ซึ่งทุกอย่างเป็นความรู้ใหม่ ก็เรียนรู้ไปด้วยกัน หลายอย่างมีการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันข้อจำกัดของบุคคล ของสถานที่ รวมทั้งบุคลากรก็มี และแตกต่างกัน แต่แม้ร่างกฎหมายจะบอกว่า ไม่ต้องรับผิด แต่ความเป็นจริงบุคลากรทุกคนรับผิดชอบทุกคน