28 กรกฎาคม 2564 นับเป็น วันมหามงคลของพสกนิกรชาวไทย วันเฉลิมพระชนมพรรษา 69 พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร พระมหากษัตริย์ ลำดับที่ 10 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ นับเป็นปีที่ 6 แห่งรัชสมัย ภายหลังจากที่ทรงตอบรับขึ้นทรงราชย์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9
พระองค์เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2495 ทรงมีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินี 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ทรงมีพระราชธิดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ และทรงมีพระราชโอรส 1 พระองค์ คือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ
เมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงได้รับการอภิบาลจาก “สมเด็จพระบรมชนกนาถ” และ “สมเด็จพระราชชนนี” อย่างใกล้ชิด ทรงศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนจิตรลดา และในประเทศอังกฤษด้วยทรงสนพระราชหฤทัยด้านการทหารตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และทรงพระวิริยะอุตสาหะในการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์อยู่เสมอ พระองค์ทรงเข้าศึกษาเตรียมทหาร ณ โรงเรียนคิงส์ ประเทศออสเตรเลีย
จากนั้นทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา หลักสูตรของวิทยาลัยการทหารแห่งนี้แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาควิชาการทหาร รับผิดชอบและดำเนินการโดย
กองทัพบกออสเตรเลีย ส่วนอีกภาคหนึ่งเป็นการศึกษาวิชาสามัญ ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ นักเรียนนายร้อยที่ผ่านหลักสูตรนี้จะได้รับปริญญาตรีตามสาขาวิชาที่เลือกศึกษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเลือกศึกษาในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ และทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2519 เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้วยังทรงศึกษาเพิ่มเติมในหลักสูตรการทหารของหน่วยงานต่างๆ อยู่เสมอในส่วนของหลักสูตรอากาศยานและการบินนั้น ทรงเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรการบินต่างๆ ทั้งหลักสูตรการบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป เฮลิคอปเตอร์แบบโจมตี หลักสูตรการฝึกบินเครื่องบินปีกติดลำตัว เครื่องบินขับไล่ กระทั่งหลักสูตรนักบินพาณิชย์ ทรงสอบได้ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก และทรงได้รับใบอนุญาตเป็นกัปตันเครื่องบินโบอิ้ง 737 โดยทรงเป็นเจ้าฟ้านักบินขับไล่ไอพ่น พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรีที่ทำการบินกับเครื่องบินกองทัพอากาศทุกรูปแบบ
สถาปนา’สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช’
เมื่อทรงมีพระชนมพรรษาครบ 20 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร” เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2515 โดยมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิติยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธ สยามมกุฎราชกุมาร”ตลอดระยะเวลาที่ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประเทศชาติและพสกนิกรชาวไทยโดยมิได้ย่อท้อ ทั้งที่ทรงปฏิบัติแทนพระองค์และทรงปฏิบัติส่วนพระองค์ ทั้งในด้านความมั่นคงของประเทศ ด้านสังคมสงเคราะห์ การศาสนา การศึกษาและวัฒนธรรม การแพทย์และสาธารณสุข การทหาร การบิน การต่างประเทศ ฯลฯ เพื่อความสุขความเจริญก้าวหน้าแก่บ้านเมืองและประชาชนคนไทยทั้งปวงดั่งพระราชดำรัสในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณในการพิธีถือน้ำพิพัฒน์
สัตยา ในการสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ความว่า
“ข้าพเจ้าผู้เป็นสยามมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ด้วยชีวิต จะจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชนจะปฏิบัติหน้าที่ทุกอย่าง โดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถและโดยความเสียสละเพื่อความเจริญสงบสุขและความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศไทย จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่”ทรงรับขึ้นทรงราชย์
วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2559 เวลา 19.16 น. ปวงชนชาวไทยทั้งผองต่างปลาบปลื้มเป็นล้นพ้น เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จออก ณ ห้อง UPPER MAIN CR.M (ห้อง วปร.) พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลอัญเชิญพระรัชทายาทเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นรัชกาลที่ 10 พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นทรงราชย์ ความว่า“ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาและกล่าวในนามของปวงชนชาวไทย เชิญข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ถ้าเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ข้าพเจ้าขอตอบรับเพื่อสนองพระราชปณิธานและเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง”ตลอดระยะเวลา 3 ปีแห่งรัชสมัยรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงราชย์สืบสนอง “สมเด็จพระบรมชนกนาถ” ด้วยพระราชประสงค์ที่จะทรงสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชบูรพการีในมหาจักรีบรมราชวงศ์ ดังพระราชดำรัสที่ทรงตอบรับขึ้นทรงราชย์พระองค์ทรงมีพระราชปรารถนาให้บ้านเมืองไทยเป็น “บ้านแสนสุข” ประชาชนชาวไทยมีความสุขความเจริญทั่วหน้า ทรงเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณในอันที่จะทรงชี้แนะพระราชทานแนวทางแห่งความสุข ดังวิธีการพระราชทานที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาซึ่งได้เชิญมาตีพิมพ์บนปกหนังสือสวดมนต์ 28 กรกฎาคม 2560 ว่า
“ความสุขในตัวเริ่มจากใจ และทัศนคติที่ดีต่อผู้อื่น ส่วนรวม และตนเอง
สุขในการบำเพ็ญประโยชน์ให้ผู้อื่นและส่วนรวมมีสุข
สุขในการเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น
สุขในการให้ ทั้งกำลังกาย กำลังใจ ให้ผู้อื่นและส่วนรวมมีสุข
สุขในการพัฒนาร่างกาย จิตใจ และปัญญา ในทางสร้างสรรค์ความเจริญให้ตนเองและผู้อื่น
การสวดมนต์และปฏิบัติธรรม ทำให้มีความสงบ มีสติ สมาธิ และปัญญา ตลอดจนเป็นกุศล สิริมงคลต่อทุกคน และจะนำมาสู่ความเจริญและความสุขที่กล่าวมานั้นแล…”
ตลอดระยะเวลา 6 ปีแห่งรัชสมัย พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่บำบัดทุกข์บำรุงสุขเพื่อให้พสกนิกรประสบความสุขความเจริญ
สมดั่งพระราชปณิธานที่ทรงมีพระราชประสงค์ สืบสาน รักษา ต่อยอด สมเด็จพระบรมชนกนาถ ในหลวง รัชกาลที่ 9