“ไอติม”เสนอ!! ตั้ง “พลเรือน” เป็นผู้ตรวจการกองทัพ ป้องทหารสอบกันเอง

ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ เสนอตั้งผู้ตรวจการกองทัพ เป็นพลเรือนเหมือนหลายประเทศทั่วโลก เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กองทัพ  หลังมีประเด็น บก.ทท. ถูกกองทัพ ตั้ง กก.สอบปมเอกสารขอ วัคซีน โมเดอร์นาฉีดกำลังพลและครอบครัว

วันที่ 25 ก.ค.2564 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม หลานชายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหน.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ อดีนายกรัฐมนตจรี ได้โพสต์เฟซบุ๊กในเพจพริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu เรียกร้องให้ตั้งผู้ตรวจการกองทัพ หลังเกิดกรณีมีการทำหนังสือราชการเพื่อ “ขอรับการสนับสนุนวัคซีน” จากกรมสารบรรณทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) เพื่อขอรับการสนับสนุนวัคซีนโมเดอร์นา ให้กับกำลังพลและครอบครัว จนทางกองทัพตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมา

ทั้งนี้นายพริษฐ์เสนอว่า เหตุการณ์นี้สะท้อน 2 ปัญหา อย่างแรกคือ ปัญหาทหารไม่ได้อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน และ ความเป็นแดนสนธยาของกองทัพ ที่เลือกใช้วิธีตรวจสอบกันเอง ปิดกั้นการตรวจสอบจากภายนอก ซึ่งก็มีปัญหาหลายอย่างในกองทัพที่ทำแบบนี้ ทั้งกรณีทหารเกณฑ์เสียชีวิต เหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา กรณีคลัสเตอร์สนามมวยลุมพินี ทางออกหนึ่งจึงเสนอจัดตั้ง “คณะผู้ตรวจการกองทัพ” ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเสนอในการร่างรัฐธรรมของกลุ่ม Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่ที่มีประชาชนจำนวน 150,921 คนร่วมกันเสนอชื่อต่อรัฐสภา

นายพริษฐ์อธิบายว่า ผู้ตรวจการกองทัพ (Military Ombudsman) คือตัวแทนพลเรือน ที่เป็นอิสระจากกองทัพ และทำหน้าที่ตรวจสอบกองทัพแทนรัฐสภา หรือ ประชาชน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินงานของกองทัพ จะเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และ รับประกันว่าทหารจะได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเหมือนประชาชน แต่ไม่ถืออภิสิทธิ์เหนือประชาชน โดยการตรวจสอบอาจครอบคลุมไปถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม หรือ การกระทำที่ขัดหลักกองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน การตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพ รายได้ของกองทัพ และ โครงการจัดซื้อจัดจ้างและการพิจารณาและสืบสวนข้อร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหาร ซึ่งมีหลายประเทศในโลกทำกัน

“ผมไม่เห็นเหตุผลใดที่กองทัพจะต้องปฏิเสธข้อเสนอ “ผู้ตรวจการกองทัพ” เพราะข้อเสนอนี้ จะเป็นเพียงการทำให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน และ พร้อมถูกตรวจสอบจากภายนอก อย่างที่ปกติควรจะเป็นในประเทศที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย แถมจะทำให้กองทัพในฐานะหน่วยงาน หรือทหารในฐานะอาชีพหนึ่ง ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชนมากขึ้น และเป็นโอกาสเติมศักยภาพการทำงานเพื่อ “ความมั่นคง” ที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน”