นายกฯ แนะ ปรับโครงการ “คนละครึ่ง-ยิ่งใช้ยิ่งได้-ช้อปดีมีคืน” ให้เข้ากับปัจจุบัน

นายกรัฐมนตรี สั่ง ปรับปรุงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย “คนละครึ่ง” “ยิ่งใช้ยิ่งได้” นำ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาใช้ใหม่ เร่งให้ใช้ ATK ตรวจหาเชื้อ ย้ำต้องไม่มีภาพประชาชนที่ถูกทอดทิ้ง

วันที่ 23 ก.ค. 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เน้นการทำงานร่วมกันในการตัดสินใจกำหนดแนวทางและมาตรการตามที่คณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ที่ได้เสนอเข้ามาซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง และเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ที่ทุกกระทรวงต้องดำเนินตามมาตรการอย่างทั่วถึง

ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการใน 2 ส่วนพร้อมๆ กัน คือทั้งการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยมีความจำเป็น ที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. และ ศบศ. จะต้องมีข้อมูลเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เน้นการสื่อสารที่เข้าใจง่าย รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานโครงการภูเก็ตโมเดล และ สมุยพลัสโมเดล ซึ่งเป็นการเดินหน้าตามเป้าหมาย 120 วันของรัฐบาลในการเปิดประเทศ ภายใต้ความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งในระยะต่อไปจะมีการขยายโครงการต่อไปในพื้นที่ที่มีศักยภาพ รวมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาการติดเชื้อไวรัสในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ด้วย

นายกรัฐมนตรี เสนอในที่ประชุม ศบศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาปรับปรุงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายทั้งโครงการ “คนละครึ่ง” โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” หรือพิจารณานำ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาใช้ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เร่งให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายของโครงการ รวมทั้งยังอยากเห็นการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับมาตรการของรัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั้งการลงทะเบียนออนไลน์เพื่อร่วมโครงการ ชี้แจงข้อสงสัย รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้าใจในมาตรการรัฐในระดับพื้นที่ด้วย

ขณะเดียวกันก็ขอให้ ศบศ. นำผลการหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนในการประชุม 40 ซีอีโอพลัส มาขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ร่วมฟื้นฟูประเทศร่วมกับภาคเอกชน ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจใหม่ๆ เช่น การดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าประเทศไทย ผู้มีกำลังซื้อสูง ผู้เชี่ยวชาญ ผู้สูงอายุ เพื่อสนับสนุนกำลังซื้อภายในประเทศอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ได้สั่งการในที่ประชุมครม. ให้เร่งพิจารณาแผนงานของทุกกระทรวง ที่อยู่ภายใต้งบประมาณฯ ปี 2564 และ 2565 ที่เบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมาย หากโครงการใดที่ติดขัดเพราะสถานการณ์โควิด-19 ก็สามารถชะลอได้ และพิจารณาการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 นายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการจัดตั้งสถานพยาบาลขนาดเล็ก ให้กระจายไปในทุกพื้นที่ ทุกเขต เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อรายวัน ลดการแพร่เชื้อในครอบครัวและชุมชน โดยให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ที่จำเป็นโดยมุ่งจำกัดพื้นที่การแพร่ระบาด โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้มเพื่อลดความสูญเสีย รักษาระบบสาธารณสุข นายกรัฐมนตรียังยืนยันแผนการจัดหาและกระจายวัคซีนตามเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านโดสในปีนี้

และขณะนี้ได้มีการอนุมัติการใช้ Antigen Test Kit ที่ได้รับการอนุญาตให้ประชาชนได้ใช้แล้วเพื่อเร่งตรวจหาเชื้อ การจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) รวมถึงสมุนไพรไทย เช่น ฟ้าทะลายโจร ให้กระจายไปทุกจังหวัดตามลำดับความรุนแรง ปรับระดับเตียงเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วย รวมทั้งการจัดรถรับส่งผู้ป่วยให้เข้าถึงสถานพยาบาลในระดับต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลสนามและศูนย์คัดกรองแรกรับอย่างเร่งด่วนด้วย โดยให้เป็นความรับผิดชอบของทุกหน่วยงานที่ต้องออกมาช่วยเหลือประชาชน และจะต้องไม่มีภาพประชาชนที่ถูกทอดทิ้ง

สำหรับที่ประชุมศบศ. ได้มีการรับทราบการดำเนินการมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่นำร่อง ในโครงการ Phuket Sandbox และ Samui Plus Model รวมทั้งยังได้มีการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทยด้วย